แอลกอฮอล์ จะเอาอย่างเขา ดูเราก่อนมั้ย?!

Sake Viva! แคมเปญเมาช่วยชาติ จัดโดยสำนักงานภาษีแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นในปี 2022 เป็นการประกวดแนวคิด เพื่อจูงใจให้คนหนุ่มสาวสนใจการดื่ม

แนวคิดหารายได้เข้ารัฐด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่น ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย 

ประเทศญี่ปุ่นมีจุดเด่นเกี่ยวกับการดื่มที่น่าสนใจหลายประการ อ้างอิงข้อมูลเผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปี 2000 มีการดื่มที่ 7.7 ลิตรต่อคนต่อปีและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 6.4 ลิตร การดื่มที่ลดลงเป็นผลจากความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับอันตรายและผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในมิติต่อตนเองและสังคมเศรษฐกิจ 

ผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ในปี 2019 ยังพบว่า ร้อยละ 29.4 ของคนอายุ 20 ปี ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลย ในขณะที่ร้อยละ 26.5 บอกว่า แทบจะไม่ดื่มเลย ดังนั้น ในระยะหลัง แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับไปดื่ม

นโยบายที่ผ่อนคลายดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดปัญหามากเท่าใดนัก อาทิ ข้อมูลในตารางชี้ชัดว่า ญี่ปุ่นมีประชากรมากถึง 124 ล้านคน แต่มีการเสียชีวิตบนท้องถนนจากการเมาในปี 2021 ประมาณ 179 ราย เท่านั้น

สำหรับประเทศไทยมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระดับที่สูงกว่าญี่ปุ่นมาโดยตลอด โดยข้อมูลปี 2020 พบว่า อยู่ที่ 8 ลิตรต่อคนต่อปี สูงกว่าประเทศญี่ปุ่นถึง 1.6 ลิตร ปัจจุบันประเทศไทยมีการดื่มที่สูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นเพียงประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 8 ลิตรเท่ากัน 

เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดจากการเมาของประเทศไทย พบว่าอยู่ในระดับวิกฤติ ข้อมูลในตารางชี้ให้เห็นว่า ปี 2021 ไทยมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน แต่มีการตายบนท้องถนนจากแอลกอฮอล์สูงถึง 2,390 ราย คิดเป็น 3.40 รายต่อประชากร 100,000 คน

ขณะที่นอร์เวย์และสิงคโปร์ มีการเสียชีวิตบนท้องถนนจากการเมาเพียงแค่ 11 และ 7 ราย คิดเป็น 0.20 และ 0.12 รายต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ ทั้งสองประเทศนี้นอกจากเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สูงมาก ยังควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด อาทิ นอร์เวย์ไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในวันอาทิตย์และวันหยุดสำคัญทางศาสนา 

สิงคโปร์ แม้จะมีปริมาณการดื่มที่ต่ำมาก เพียง 1.8 ลิตรต่อคนต่อปี แต่รัฐบาลก็ยังคงความเคร่งครัด โดยอนุญาตให้ดื่มในผับบาร์ไม่เกินเวลา 23.59 น. ส่วนร้านค้าทั่วไปต้องหยุดขาย ณ เวลา 22.30 น.

แอลกอฮอล์ จะเอาอย่างเขา ดูเราก่อนมั้ย?!

สำหรับเยอรมนี ประเทศที่มีประชากรมากกว่าไทยถึง 11 ล้านคน และมีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างผ่อนคลาย พบว่า ในปี 2020 มีปริมาณการดื่มที่สูงถึง 11.8 ลิตรต่อคนต่อปี แต่กลับมีการเสียชีวิตบนท้องถนนจากการเมา 179 ราย 

แสดงให้เห็นว่า การดื่มที่มากในประเทศเยอรมนี ไม่ก่อให้เกิดปัญหามากเท่าใดนักเมื่อเทียบกับประเทศไทย เนื่องจากกระบวนการหล่อหลอมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่รัฐให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างยาวนาน ทำให้คนเยอรมันมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็มีกลไกในการดูแลคุ้มครองชีวิตประชาชนจากปัญหาคนเมา รวมถึงมีการทุจริตคอร์รัปชันในระดับต่ำ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ

กรณีสหรัฐ ข้อมูลในตารางชี้ชัดว่า มีการตายบนท้องถนนจากการเมาในระดับวิกฤติ ที่ประมาณ 12,000 ราย คิดเป็น 3.70 รายต่อประชากร 100,000 คน ทั้งๆ ที่การดื่มอยู่ในระดับต่ำกว่าเยอรมนี แม้ในภาพรวมสหรัฐเป็นประเทศที่ประชากรมีคุณภาพ และมีการบังคับใช้กฎหมายที่ดี

โดยเมื่อพิจารณาคะแนนการบังคับใช้กฎหมาย เผยแพร่โดยสถาบันการศึกษาความมั่นคงภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป พบว่า ในปี 2023 มีคะแนนอยู่ที่ 8 ในขณะที่ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ 5.5

อย่างไรก็ดี สหรัฐเป็นประเทศที่รัฐธรรมนูญ (the 21st Amendment) บัญญัติให้อำนาจแต่ละรัฐ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นเอกเทศ

ดังนั้น ในขณะที่ผู้บริโภคสามารถซื้อสุราที่ใดก็ได้ในรัฐนิวยอร์ก แต่ไม่สามารถทำเช่นนั้นในรัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งมีเขตแดนติดกัน หรือการที่กฎหมายรัฐเท็กซัสไม่อนุญาตให้จำหน่ายสุราในวันอาทิตย์ แต่รัฐใกล้เคียงกันสามารถทำได้ เป็นต้น 

การที่แต่ละรัฐมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอิสระ ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องและความยากลำบากในการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้การควบคุมปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากแอลกอฮอล์ ของสหรัฐทำได้ยาก

ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีแนวคิดปรับกฎเกณฑ์การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการแต่ละจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณาและศึกษาอย่างรอบคอบ 

เนื่องจากเป็นกรณีการกระจายอำนาจในเรื่องการควบคุมสินค้า ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง มีผลทำให้งบประมาณภาครัฐด้านสาธารณสุข และการบังคับใช้กฎหมายในภาพรวมของประเทศสูงขึ้น

กฎเกณฑ์ที่หละหลวมของบางจังหวัด จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนในจังหวัดอื่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และจะมีความรุนแรงกว่าในกรณีสหรัฐ

เนื่องจาก 1.ประเทศไทยมีพื้นที่เพียง 513,120 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่สหรัฐมีพื้นที่เกือบ 10 ล้านตารางกิโลเมตร 2.จากปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐไทยที่อ่อนแอเป็นทุนเดิม การให้อิสระแต่ละจังหวัดบริหารและควบคุม จะทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายยิ่งขึ้น 

3.สหรัฐเป็นประเทศที่ภาคประชาชน องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมถึงนักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มทุน มีความเข้มแข็ง และแสดงพลังต่อต้านนโยบายสาธารณะ ที่มีกลุ่มทุนหนุนหลังอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อพิจารณาบริบท ณ ปัจจุบันของประเทศไทย ที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในระดับสูง การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ จนเกิดปัญหาสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการดื่มในระดับวิกฤติ การที่จะแก้กฎหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภค รวมถึงกระจายอำนาจการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แต่ละจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง!