'I Love Mom' 7 วิธีดูแลสุขภาพ 'คุณแม่' ต้อนรับวันแม่
ต้อนรับเดือนสิงหาคมด้วยเดือนแห่งความรักแม่ ซึ่งเมื่อคุณแม่อายุมากขึ้น เป็นวัยที่ร่างกายเริ่มถดถอยอ่อนแอไปตามกาลเวลา โดยคุณแม่แต่ละท่าน จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจที่แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยเสี่ยง
KEY
POINTS
- เมื่อคุณแม่อายุมากขึ้นจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งการกิน การนอนที่ไม่ปกติ รวมถึง ปัญหาด้านสุขภาพตา และการได้ยินที่ลดลง กระดูกพรุนและสูญเสียการทรงตัว
- 'I Love Mom' เป็น 7 ขั้นตอนในการดูแลสุขภาพของคุณแม่ เมื่อท่านอายุมากขึ้น ของขวัญที่ลูกๆ สามารถมอบให้คุณแม่ได้ทุกวัน
- การป้องกันดูแลสุขภาพคุณแม่ เริ่มได้ง่ายๆ จากการควบคุมโภชนาการ เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิต และตรวจสุขภาพประจำปี
ต้อนรับเดือนสิงหาคมด้วยเดือนแห่งความรักแม่ 'วันแม่แห่งชาติ' ซึ่งเมื่อคุณแม่อายุมากขึ้น เป็นวัยที่ร่างกายเริ่มถดถอยอ่อนแอไปตามกาลเวลา โดยคุณแม่แต่ละท่าน จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจที่แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยเสี่ยง และสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิต ทำให้ระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายเสื่อมสภาพ และไม่สามารถทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
แต่ก่อนจะไปสู่เคล็ดลับดีๆ ที่เหล่าลูกๆ สามารถนำไปดูแลคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้านที่อายุมากขึ้น ได้นั้น ลองมาเช็กก่อนว่าอาการที่พบบ่อยเมื่อเข้าสู่สูงวัยมีอะไรบ้าน
เริ่มจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานได้น้อยลง หรือเบื่ออาหาร จนร่างกายเริ่มซูบผอม หรือ การนอนที่ผิดปกติ จะหลับยากขึ้น ตื่นบ่อย หลับไม่ลึก และตื่นมารู้สึกไม่สดใส เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีสาเหตุมาจากภาวะซึมเศร้า เครียด และมีอาการวิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิม
รวมถึง ปัญหาด้านสุขภาพตา และการได้ยิน ที่ลดลง ส่งผลให้เกิดโรคต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทเสื่อม ภาวะกระดูกพรุน จะเกิดได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือเข้าสู่ช่วงวัยทอง เพราะเป็นช่วงวัยที่ร่างกายสูญเสียฮอร์โมน และรับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อการสร้างกระดูก อีกทั้ง การรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
และสูญเสียการทรงตัว โดยระบบประสาทสัมผัสเสื่อม ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง พฤติกรรมการเคลื่อนไหวบางท่าทางในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการทรงตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ความแก่ไม่ใช่อุปสรรค“ชีวิต-ทำงาน” บาริสต้าวัยเก๋า “คณิตย์ พันธ์ทา”
'I Love Mom'เคล็ดลับการดูแลคุณแม่
พญ.พัฒนศรี เชื้อพูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช เปิดเผยว่าใกล้ถึงวันแม่แล้ว เชื่อว่าลูกๆ ทุกคนกำลังมองหาของขวัญวันแม่ มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้แม่ของพวกเรามีสุขภาพดีจากภายในและภายนอก
เคล็ดลับนั้นชื่อว่า “I Love Mom” ซึ่งมี 7 วิธีด้วยกันคือ
- I = Inside Prevention
หันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายจากภายใน เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมได้ในอนาคต เพราะปัจจุบัน มีศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยมากมาย ที่มีโปรแกรมดูแลสุขภาพเชิงลึกตั้งแต่ระดับดีเอ็นเอ อีกทั้งยังมีการตรวจหา วิตามิน สารอาหาร ฮอร์โมน ระดับอนุมูลอิสระสะสม ความเครียดสะสม ค่าบ่งชี้โรคมะเร็ง ความฟิตของกระดูกและกล้ามเนื้อ ความสมบูรณ์ของอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย เพื่อออกแบบไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับเราแบบเฉพาะบุคคล
- L = Live Strong & Sleep Well
อยู่อย่างแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายและนอนหลับให้เพียงพอ เพราะสองสิ่งสำคัญนี้ ทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวและทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติไปได้นาน
การออกกำลังกายควรเลือกให้เหมาะสมกับอายุและระดับฮอร์โมนของเรา เราสามารถเช็คระดับฮอร์โมนและสามารถเลือกชนิดการออกกำลังกายที่เหมาะกับสภาพร่างกายของเราได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับคำแนะนำโดยทั่วๆ ไปนั้นผู้สูงอายุอาจจะใช้วิธีเดินเร็ว ส่วนช่วงอายุอื่นๆ ก็เล่นกีฬาตามความชอบ โดยควรออก 3-4 วันต่อสัปดาห์ และไม่ควรหักโหมจนเกินไป
การนอนหลับก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะเป็นช่วงที่ร่างกายฟื้นฟูพลังงานที่ใช้ไปทั้งวัน โกร๊ทฮอร์โมนจะถูกหลั่งออกมาเพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมร่างกาย นอกจากนี้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายจะเข้ามาดูแลความเสียหายและปรับสมดุล ถ้าเราได้นอนอย่างเพียงพอและไม่ดึกจนเกินไป
7 ขั้นตอนการดูแลสุขภาพเมื่อคุณแม่อายุมากขึ้น
- O = Outside Nourishing
การบำรุงผิวหน้าและผิวกาย ด้วยเครื่องสำอางบำรุงผิว จะมีประโยชน์ในผู้ที่รักการดูแลผิวพรรณ
โดยส่วนตัวหมอเองจะเน้นเลือกเครื่องสำอางจากธรรมชาติและกลุ่มออร์แกนิค ร่วมกับสารสกัดทางการแพทย์ เช่น กลุ่มอะมิโนเปปไทด์ วิตามินซี ฯลฯ ที่ส่งผลในการบำรุงผิว ชะลอวัย และลดเลือนริ้วรอย โดยสิ่งที่สำคัญคือต้องมาจากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัยจากสารเคมีหรือสารอันตรายต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของเราในระยะยาว โดยเลือกให้เหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละคน
การใช้ครีมกันแดดสม่ำเสมอจะช่วยลดริ้วรอยก่อนวัย การเลือก SPF 30-50 PA มากกว่า 3+ จะมีประโยชน์ในการปกป้องแสงแดดอย่างมีประสิทธิภาพ
- V = Vitalize the Telomere
เทโลเมียร์ คือ ดีเอ็นเอที่อยู่ส่วนปลายสุดของโครโมโซมทั้ง 32 คู่ ทำหน้าที่กำหนดอายุขัยของเซลล์ และปกป้องดีเอ็นเอ ไม่ให้ถูกทำลาย วิธียืดอายุเทโลเมียร์ที่นิยมทำกันคือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทานอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อลดความเสื่อมในระดับเซลล์
- E = Eat Healthy Food
นอกจากผักและผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว การเลือกทานโปรตีนที่ดีจากปลา คาร์โบไฮเดรตที่ดีจากธัญพืช และไขมันที่ดีจากน้ำมันมะกอก อะโวคาโด น้ำมันปลา จะช่วยให้ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่แบบมีคุณภาพ
- M = Maintain Organ Function
สมอง หัวใจ ตับ ปอด ไต และลำไส้ เป็นอวัยวะที่ทำงานให้เรามาทั้งชีวิต นอกจากการทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายแล้ว การตรวจเช็คความเสื่อมของอวัยวะสำคัญเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเมื่อเราอายุมากขึ้น เพราะหากเสื่อมลงไปมาก การแก้ไขอาจไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
- O = Overcome Stress
เมื่อร่างกายมีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนสำคัญ 2 ตัว คือ “คอร์ติซอล ( Cortisol )” และ “แอดรีนาลีน ( Adrenaline )” เราเรียกรวมว่า “ฮอร์โมนความเครียด” ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต มีประโยชน์ช่วยให้เรารับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าหลั่งมากจนเกินไปจะส่งผลเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันไตรกลีเซอไรด์ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกายในอนาคตนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันในเลือดสูงและโรคหัวใจ
ในระยะยาวถ้าความเครียดยังส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลในทางตรงกันข้ามคือ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของต่อมหมวกไตลดลง การผลิตฮอร์โมนความเครียดลดลงจากภาวะต่อมหมวกไตอ่อนล้า (Adrenal fatigue) ส่งผลให้อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ความสามารถในการต่อสู้ความเครียดลดลง ร่างกายอักเสบ ภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันลดลง ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย
วิธีในการคงประสิทธิภาพในการทำงานของต่อมหมวกไตที่ดีและสมดุลที่เราสามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ วาดภาพ นั่งสมาธิ ที่สำคัญคือต้องหมั่นปล่อยวางได้ด้วยตัวเอง
- M = Meditate On Breath
ปัจจุบันมีการฝึกสติจดจ่อกับลมหายใจหรือปัจจุบันขณะ ในหลายสำนัก หากเราชอบวิธีในสำนักไหน ก็ยึดตามจริตของเรา เพราะประโยชน์ที่เราจะได้รับก็คือ
- ส่งผลให้จิตใจผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ สงบ คลายเครียด จึงช่วยให้หลับสบาย
- มีความจำดีขึ้น มีสติในการพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ รอบคอบมากขึ้น ทำให้เกิดปัญญาในการทำสิ่งใด ๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพ
- สุขภาพดีขึ้นแบบองค์รวม โดยเฉพาะหากปฏิบัติร่วมกับการออกกำลังกาย เพราะผู้ที่มีจิตเป็นสมาธินั้นจะมีความดัน อัตราการหายใจลดลง หัวใจเต้นช้าลง คลื่นสมองช้าและเป็นระเบียบขึ้น ความสมดุลของฮอร์โมนและกระบวนการซ่อมแซมร่างกายจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การป้องกันดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง สามารถเริ่มได้จากการควบคุมโภชนาการ เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด และเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ,ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลมได้ ออกกำลังกาย เป็นประจำ และดูแลสุขภาพจิตใจให้สดใส เพราะหากปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว อาจทำให้เขาเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้ และที่สำคัญ ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาเมื่อมีอายุมากขึ้น
นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และหลีกเลี่ยงไม่ให้หกล้ม เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกรับแรงกระแทก และการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับช่วงวัย
อ้างอิง: โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลเปาโล