พยาบาลผู้ประสานงาน เบื้องหลัง“บริจาค”อวัยวะ
ในประเทศไทยแม้ว่าจะมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะกว่าปีละ 50,000 ราย แต่ส่วนใหญ่การเสียชีวิต มิใช่เกิดจากสมองตาย หรือ มีข้อห้ามของการบริจาคอวัยวะ เช่น เสียชีวิตหัวใจหยุดเต้น
KEY
POINTS
- การบริจาคอวัยวะไม่ทำให้เราตาย แต่ความตายทำให้เกิดการบริจาคอวัยวะ ได้ถือเป็นการให้ชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยได้กลับคืนสู่สังคมมีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป
- “พยาบาลผู้ประสานงานบริจาคอวัยวะ” ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ปิดทองหลังพระ เจรจาให้กับญาติให้ยินยอมทำงานร่วมกับแพทย์จนกว่าจะจบขั้นตอนการบริจาค
- ถ้าหากมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะไว้ในหลักสูตร จะทำให้เยาวชนไทยเข้าใจได้มากขึ้น และยังสามารถสื่อสารกับญาติไว้ได้อีกด้วย
ในประเทศไทยแม้ว่าจะมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะกว่าปีละ 50,000 ราย แต่ส่วนใหญ่การเสียชีวิต มิใช่เกิดจากสมองตาย หรือ มีข้อห้ามของการบริจาคอวัยวะ เช่น เสียชีวิตหัวใจหยุดเต้น หรือ มีการติดเชื้อ อวัยวะได้รับบาดเจ็บ ทำให้ไม่สามารถนำอวัยวะไปใช้ปลูกถ่ายได้ รวมทั้งปัญหาอวัยวะที่นำไปปลูกถ่ายหรือทำงานได้ไม่ดี เข้ากันไม่ได้กับร่างกายของผู้รับ เนื่องจากอายุของผู้บริจาค, ขนาดของอวัยวะ, การทำงานของอวัยวะ, ระยะเวลาขาดเลือดของอวัยว ะและความแตกต่างของเนื้อเยื่อ เป็นต้น
ทำให้มีผู้ป่วยที่รอการบริจาคอวัยวะ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 มากถึง 7,133 ราย โดย 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ป่วยที่รอ “ไต” ถึง 6,619 ราย ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ขาดแคลนที่สุด รองลงมา คือ ตับ หัวใจ ปอด และตับอ่อน มีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว 465 ราย และทุกๆสัปดาห์จะมีผู้เสียชีวิต 2 รายจากการรอปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งมีแนวโน้มจำนวนผู้รอรับอวัยวะเพิ่มขึ้นปีละ 2,000 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยโรคไตประมาณ 100,000 -200,000 รายที่ไม่ได้อยู่ในระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดขั้นตอน! บริจาคอวัยวะ -ร่างกาย 'เป็นอาจารย์ใหญ่' ต้องทำอะไรบ้าง?
ยอดผู้ป่วยรอปลูกถ่ายอวัยวะ สูงถึง 7 พันราย 'โรคไต' ครองแชมป์รออวัยวะสูงสุด
บริจาคอวัยวะไม่ได้ทำให้ทุกคนตาย
ขณะนี้สภากาชาดไทย กำลัง“ร่าง พรบ.การบริจาคอวัยวะ” จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ กรณีที่แสดงความจำนงไปแล้วเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากภาวะก้านสมองตาย สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากญาติ จากปัจจุบันต้องให้ญาติยินยอม ถ้าได้รับการคัดค้านก็ไม่สามารถเอาอวัยวะได้ แม้ว่าจะขัดต่อวัตถุประสงค์ของคนแสดงความจำนงก็ตาม
“รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์” รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่าจึงพยายามสื่อสารกับสังคมว่าการบริจาคอวัยวะไม่ทำให้เราตาย แต่ความตายทำให้เกิดการบริจาคอวัยวะ ได้ถือเป็นการสร้างประโยชน์และความสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการให้ชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยได้กลับคืนสู่สังคมด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป
ขณะเดียวกันผู้บริจาคอวัยวะ โดยเฉพาะผู้ที่อายุยังน้อย ต้องสื่อสารกับญาติไว้ด้วยว่า กรณีที่แพทย์วินิจัยว่าผู้บริจาคอวัยวะมีภาวะก้านสมองตายแล้ว แพทย์สามารถดำเนินการต่างๆตามเจตจำนงได้ ก็จะทำให้การดำเนินการต่างๆง่ายขึ้น โดยหลังจากที่แพทย์ลงความเห็นแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่ต่อไปในการเจรจากับญาติเพื่อดำเนินการขั้นตอนไปก็คือ “พยาบาลผู้ประสานงานบริจาคอวัยวะ” ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ปิดทองหลังพระ เจรจาให้กับญาติให้ยินยอมทำงานร่วมกับแพทย์จนกว่าจะจบขั้นตอนการบริจาค
บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะไว้ในหลักสูตร
"ยุวดี อรรถจารุสิทธิ์" ที่ปรึกษาศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อดีตหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ เล่าว่าในการบริจาคอวัยวะนั้น ถึงแม้ผู้บริจาคจะมีความจำนงและมีบัตรแสดงตนว่ามีการบริจาคอวัยวะ แต่ขั้นตอนนั้นเมื่อเสียชีวิตแล้วส่วนมากต้องพูดคุยกับญาติและต้องขอให้ญาติเซ็นยินยอมก่อนตามกฎหมายถึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ถ้าญาติไม่ยินยอมก็ไม่สามารถเอาได้ ที่สำคัญยังมีความเชื่อหลังจากเสียชีวิตอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถทำตามความจำนงของผู้บริจาค
โดยหลังจากที่ญาติยินยอมแล้ว แพทย์ และพยาบาลจะต้องดูแลรักษา ร่างกายผู้ที่บริจาคอวัยวะให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดก่อนที่ให้นำอวัยวะไปใช้ต่อได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยม่ียอดการบริจาคอวัยวะประมาณ 2.2 %ของจำนวนประชาชนเท่านั้น
ขณะที่อังกฤษ มีสัดส่วนผู้บริจาคถึง 40 % ของจำนวนประชากร เพราะหลายคนยังคงเชื่อว่าถ้าบริจาคอวัยวะแล้วชาติหน้าจะเกิดมามีอวัยวะไม่ครบ ขณะที่การบริจาคอวัยวะโดยผู้บริจาคเพียงหนึ่งราย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถึง 8-9 คน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ที่เป็นเจ้าของอวัยวะที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดมาร่วมแสดงความจำนง“บริจาคอวัยวะ”เป็นการประกาศว่าอวัยวะจะถูกไปใช้ต่ออย่างเหมาะสม
"การสื่อสารให้สังคมไทยรับรู้และเข้าใจว่าการบริจาคอวัยวะสามารถทำได้อย่างไร ถ้าหากมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะไว้ในหลักสูตร จะทำให้เยาวชนไทยเข้าใจได้มากขึ้น และยังสามารถสื่อสารกับญาติไว้ได้อีกด้วย หากถึงเวลาที่ต้องดำเนินการตามเจตจำนง ทำให้แพทย์ และพยาบาลในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการบริจาคอวัยวะทำงานได้ตามเจตจำนงมากขึ้น"
World Organ Donation Day
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ร่วมกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ของค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน World Transplant Month 2024 ในวันที่ 30 สิงหาคม ภายใต้แคมเปญ “Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” ตั้งแต่เวลา 14.00 -18.00 น. ณ โซน Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
เชิญชวนผู้ที่สนใจสามารถแสดงความจำนงบริจาคได้ทั้ง 2 ประเภท คือ
1.บริจาคอวัยวะและดวงตาเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย
2.บริจาคอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา รวมทั้งให้ความรู้เรื่องการบริจาคอวัยวะ แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้จำนวนมากตามเป้าหมายจำนวน 5,000 รายภายใน 1 เดือน ส่วนการบริจาคร่างกาย สามารถแสดงความจำนงได้ที่https://anatomydonate.kcmh.or.th/