เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน

เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม  ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน

โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่พบมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โรคนี้สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ผู้ป่วย ส่งผลต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างสูง และเป็นภาระของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันไทยมีอัตราการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียมค่อนข้างต่ำสาเหตุเนื่องมาจากแพทย์และโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการการผ่าตัดได้อย่างดีนั้นยังมีไม่เพียงพอ
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมแก่ประชาชนผู้ยากไร้ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ
  • ปีนี้ทาง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยเปิดรับสมัครจำนวน 150 ข้อ ประมาณเดือน พ.ย. 2567 นี้

โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่พบมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โรคนี้สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ผู้ป่วย ส่งผลต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างสูง และเป็นภาระของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยหายเจ็บปวด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว

แต่การผ่าตัดมีความซับซ้อน ต้องอาศัยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเป็นการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพสูงได้อย่างทั่วถึง และมีระยะเวลารอคิวผ่าตัดยาวนาน

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้แก่ผู้ยากไร้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วย 5 ปี จำนวน 750 ข้อ ตั้งแต่ปี 2562 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมานี้ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ไปทั้งสิ้น 200 ข้อ

เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม  ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดแผนอัปเกรด ‘รพ.ธรรมศาสตร์ฯ’ บริการสุขภาพขั้นสูงไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่องความสำเร็จ ทีม BBA ธรรมศาสตร์ แชมป์โลกวางแผนธุรกิจ ที่แคนาดา

ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

โดยวานนี้ (20ส.ค.)มีการจัดกิจกรรม“ก้าวสู่ปีที่ 3 ศูนย์ข้อฯ ธรรมศาสตร์ เพื่อประชาชน”หลังเปิดศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์ครบ 2 ปีให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมแก่ประชาชนผู้ยากไร้ฟรี-ไม่มีค่าใช้จ่าย ครบ 750 แล้วตามเป้าหมายใน 5 ปี และขยายเพิ่มอีก 150 ข้อ ในวาระครบรอบ90 ปี โดยจะเปิดรับสมัครในเดือนพ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ 

รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่าโครงการฯนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี และลดภาระของครอบครัวที่ต้องคอยดูแล จะได้ช่วยผู้ป่วยที่ยากไร้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้มีจิตศรัทธาและผู้ที่มีทุนทรัพย์ได้ร่วมกันบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่มีความยากลำบาก

ทั้งนี้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ โครงการนี้เป็นการผ่าตัดนอกเหนือจากการผ่าตัดปกติ โดยมาทำเพิ่มเติมนอกเวลาราชการ เพื่อส่งเสริมการมีจิตอาสาของเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และได้รับการสนับสนุนส่วนที่เหลือจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค โดยมุ่งเน้นให้กับผู้ป่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้

เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม  ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมาตรฐานสากล

ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมธรรมศาสตร์ เปิดดำเนินการมาแล้วครบ 2 ปี ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการผ่าตัดประมาณ 1,500 ข้อ/ปี และในปีนี้ได้รับการรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Disease Specific Certification for knee arthroplasty) ซึ่งแสดงถึงมาตรฐานบริการที่ได้มาตรฐานเป็นสากล 

"เชื่อว่าในอนาคตศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมธรรมศาสตร์จะเป็นศูนย์ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้ป่วย และมีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากขึ้นเรื่อย ๆ  โครงการนี้ยังช่วยให้มหาวิทยาลัยมีคะแนนการขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สูงขึ้น สะท้อนถึงการสร้างประโยชน์ต่อสังคมในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย"

เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม  ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน

พ.ย.ตั้งเป้าผ่าตัดเปลี่ยนอีก 150 ข้อ

ศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และประธานคณะกรรมการโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่าแม้ว่าจะดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมไปแล้วถึง 750 ข้อ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่รอคอยการผ่าตัดอยู่ ดังนั้นในปีนี้ทาง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยเปิดรับสมัครจำนวน 150 ข้อ ประมาณเดือน พ.ย. 2567 นี้

ปัจจุบันไทยมีอัตราการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียมค่อนข้างต่ำ สาเหตุเนื่องมาจากแพทย์และโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการการผ่าตัดได้อย่างดีนั้นยังมีไม่เพียงพอ  แม้ว่าสถานการณ์การกระจายตัวของแพทย์ผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพกจะครอบคลุมอยู่ในหลายจังหวัด

แต่ในบางแห่งพบว่าแพทย์ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะจัดการรับมือกับความซับซ้อนของโรคหรือยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ ทำให้ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ในบางพื้นที่มีระยะเวลารอคอยนาน หรือ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการผ่าตัดแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือยังมีความเจ็บปวดอยู่ นั่นยิ่งทำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ในพื้นที่นั้นขาดความเชื่อมั่น และเลือกที่จะทนต่อความเจ็บปวดทุพลภาพ และไม่เข้ารับบริการ

เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม  ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน

ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์ มีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจำนวน 5 คน มีการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ จนได้รับการรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จากสถาบันรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล อันเป็นการแสดงถึงมาตรฐานการให้บริการแก่ผู้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

มีนวัตกรรมการลดความเจ็บปวดและผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องประสบกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่มากเกินไป และสามารถฟื้นตัวได้ไว ทำให้สามารถให้กลับบ้านได้ในวันเดียวสำหรับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน และภายใน 24 ชั่วโมงในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนอนโรงพยาบาล

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมแบบเฉพาะบุคคลโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้ได้ตำแหน่งข้อเทียมที่มีลักษณะจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละราย วางตำแหน่งได้ถูกต้องตามแผนที่วางไว้ และมีการปรับสมดุลเนื้อเยื่อโดยรอบอย่างละเอียด ทำให้ได้ข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมที่ใช้งานได้ดี เหมือนธรรมชาติมากขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น อาทิ การนั่งพื้น การขึ้นลงบันได 

ใช้แขนกลหุ่นยนต์ผ่าตัด 500 ข้อ

ปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ไปแล้วประมาณ 500 ข้อ ให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพก ไม่ว่าจะเข้าผ่าตัดด้านหน้า หรือด้านหลัง โดย แขนหุ่นยนต์ทำหน้าที่ควบคุมทิศทางและตำแหน่งของของ

อุปกรณ์ ​ ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำขึ้น เป็นเครื่องชี้นำทิศทางการวางเป้าและล๊อคตำแหน่งการเหลาเบ้าสะโพก โอกาสผิดพลาดน้อมาก และมีความแม่นยำสูงหากเกินกว่าที่วางแผนไว้ 1 mm จะเตือนสีแดงหากเกินกว่าที่วางแผนไว้2.3 mm เครื่องจะหยุดทำงาน

 นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รับแก้ไขความล้มเหลวจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้อเทียมหลวม ข้อเทียมติดเชื้อ ผ่าตัดแล้วไม่หายปวด กระดูกหักรอบข้อเทียม เป็นต้นโดยเฉลี่ยในแต่ละปีได้รับผู้ป่วยส่งต่อมาเพื่อแก้ไขความล้มเหลวของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมประมาณ 100 ราย

โดยตัวอย่างกรณีศึกษาของ “ประทิน ศรีอรุณ”  ซึ่งได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมาแล้ว 7ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายไปแล้วหลายล้านบาท แต่ยังมีอาการปวดเข่าไม่หาย เข่าติดงอไม่ได้และเหยียดออกไม่สุด จนสุดท้ายได้มาทำการผ่าตัดแก้ไขที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นครั้งที่ 8 จนใช้งานได้ตามปกติ และเป็นผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินให้โครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ยากไร้นี้ด้วย

"ความสำเร็จของโครงการฯเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของแพทย์และเจ้าหน้าที่จิตอาสาที่มาให้บริการผู้ป่วยนอกเวลาราชการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับประชาชน มีเพียงค่าบริการที่ทาง สปสช. เป็นกลไกในการสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการช่วยหนุนเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น”

เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม  ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน