CAR-T Cell ทางเลือกผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
15 กันยายนของทุกปี ตรงกับ “วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก” ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปีละกว่า 6,000 ราย หรือ 16 รายต่อวัน
KEY
POINTS
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่มีโอกาสหายขาดได้ โดยหากพบในระยะที่ 1 โอกาสหายขาดประมาณ 70-90% กรณีพบในระยะที่ 2-4 โอกาสหายขาดอยู่ที่ 60%
- เช็ก 10 สัญญาณเตือนโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่สามารถสังเกตอาการของตนเองในระยะเริ่มแรก ซึ่งโรคดังกล่าว เมื่อคลำเจอก้อนเนื้อตามร่างกาย ขอให้ไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจจะเป็นมะเร็ง หรือไม่ก็ได้
- 3 โรงเรียนแพทย์ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (CAR-T Cell) เพื่อทำให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้มีโอกาสในการรักษามากขึ้น
15 กันยายนของทุกปี ตรงกับ “วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก” ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปีละกว่า 6,000 ราย หรือ 16 รายต่อวัน ซึ่งอุบัติการณ์โดยทั่วโลก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้เป็นอันดับ 1 ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างชัดเจน ระยะเริ่มแรกจึงไม่แสดงอาการจนกระทั่งคลำพบก้อนเนื้อในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อย แต่ส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีความผิดปกติอื่นๆ อาทิ คลำเจอก้อนเนื้อในร่างกาย อย่าง บริเวณเต้านม เจอก้อนเนื้อ พอมาตรวจอาจจะไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เช่นเดียวกับบริเวณสมอง กระเพาะอาหาร เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิธีสังเกตตนเอง“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” พบบ่อยในคนไทย
"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" รู้เร็วรักษาหาย เช็กสัญญาณเตือน อาการที่ควรรีบหาหมอ
ระยะที่ 1 โอกาสหายขาด70-90%
“ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย” ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่มีโอกาสหายขาดได้ โดยหากพบในระยะที่ 1 โอกาสหายขาดประมาณ 70-90% กรณีพบในระยะที่ 2-4 โอกาสหายขาดอยู่ที่ 60%
“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้จะเป็นในระยะที่สาม หรือสี่ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ และยังมีการเข้าถึงการรักษาอย่างจำกัด เพราะปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ประมาณ 98% ไม่ทราบสาเหตุ และไม่ใช่เรื่องของกรรมพันธุ์ แต่เกิดจากความผิดปกติของยีน ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ ร่างกายของคนเรามีการแบ่งเซลล์ตลอดเวลาอยู่แล้ว ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีการแบ่งเซลล์มากขึ้น จึงทำให้กลุ่มผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว
“รศ.นพ.กฤษฎา วุฒิการณ์” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย เพราะไม่สามารถทราบสาเหตุได้อย่างชัดเจน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ย 60 ปี ขึ้นไป ซึ่งการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นการรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัด ร่วมกับยาแอนติบอดี้พุ่งเป้า จะไม่มีการผ่าตัด เพราะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคทางโลหิตวิทยา
แม้สามารถรักษาให้หายขาดได้นั้น แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อย่าง กลุ่มผู้ป่วยสูงวัย จะมีความซับซ้อนในการเลือกแนวทางในการรักษา ต้องให้เหมาะสม เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเปราะบางอาจจะไม่ได้แข็งแรง หรือฟื้นตัวเร็วเท่ากับผู้ป่วยอายุน้อย ดังนั้น การรักษาโรคจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของตัวโรคและของผู้ป่วยเอง
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ปัจจุบันมีการรักษาที่หลากหลาย โดยการรักษามาตรฐานสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ และเป็นชนิด Aggressive คือ การให้ chemotherapy ร่วมกับ Targeted therapy กลุ่ม monoclonal antibody โดยพบว่าประมาณ60% ของผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา
ปัจจุบันมียา antibody-drug conjugate ซึ่งเป็น targeted therapy กลุ่มใหม่ ที่ให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้นกว่าการรักษามาตรฐาน โดยมีอัตราการอยู่รอดโดยโรคสงบ (Progression-free survival) สูงขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลปัจจุบันที่ 3 ปียังไม่มีความแตกต่างของอัตราการรอดชีวิต
ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาขนานแรก แนวทางการรักษามาตรฐานขั้นถัดไป คือ การทำ stem cell transplantation อย่างไรก็ตามการรักษาวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายมีความพร้อม และอายุไม่เกินกว่า 65 ปี เนื่องจากมีการใช้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงสาเหตุการเกิดโรคหรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษาจึงมีบทบาทสำคัญในการพบโรคในระยะเริ่มต้น และผลลัพธ์การรักษา
รักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด
ทางเลือกของนวัตกรรมการรักษาที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยการทำ stem cell transplantation ได้แก่ การรักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (CAR-T Cell) หรือ Targeted therapy กลุ่ม Bi-specific antibody หรือ กลุ่ม Antibody-drug conjugate ร่วมกับ Chemotherapy ซึ่งให้ผลการรักษาดีในระดับที่น่าพอใจ
รศ.นพ.กฤษฎา กล่าวว่าขณะนี้ 3 โรงเรียนแพทย์ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (CAR-T Cell) เพื่อทำให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้มีโอกาสในการรักษามากขึ้น ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
โดยในส่วนของรพ.จุฬาลงกรณ์ มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 15 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผู้ป่วยที่รักษาอย่างต่อเนื่องมา 2 ปี สามารถหยุดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ แต่ยังคงต้องศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้ผลการรักษาที่ชัดเจน หากสามารถศึกษาวิจัยและสามารถนำมารักษาผู้ป่วยได้ จะทำให้การรักษาพยาบาลมีราคาที่ต่ำลง เหลือเพียงประมาณ 2-3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการไปรักษาในต่างประเทศ ราคาประมาณ 15-20 ล้านบาท
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัย นวัตกรรม CAR-T cell จะใช้ในกลุ่มคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น หรือในกลุ่มของคนไข้ที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำ และไม่สามารถรักษาแบบอื่นได้ผลแล้ว และต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบประคับประคอง ก็จะเป็นผู้ที่มารับการรักษาด้วย CAR-T cell โดยพบว่ากลุ่มนี้เมื่อได้รับ CAR T cell แล้วจะพบว่ามีโอกาสหาย 50-70% และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ Non-Hodgkin Lymphoma (NHL) เเละ Hodgkin Lymphoma (HL) ในคนไทย NHL เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย คือ ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) และ ชนิดรุนแรง (Aggressive) โดยชนิดที่พบมากที่สุด คือ Diffuse Large B – Cell Lymphoma (DLBCL) คิดเป็นสัดส่วน 58% ของมะเร็งต่อมเหลืองในประเทศไทย
สัญญาณเตือนโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ควรสังเกตอาการของตนเองในระยะเริ่มแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 10 สัญญานเตือน ดังนี้
1. พบก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ หรือเต้านม โดยที่ก้อนเหล่านั้นมักจะไม่มีอาการเจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักจะมีอาการเจ็บที่ก้อน
2. มีไข้ หนาวสั่น
3. เหงื่อออกมากเวลากลางคืน
4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
5. อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
6. ไอเรื้อรัง
7. หายใจไม่สะดวก
8. ต่อมทอนซิลโต
9. มีอาการคันทั่วร่างกาย
10. ปวดศีรษะ (มักพบในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท)
“สัญญาณเตือนข้างต้นเป็นเพียงจุดสังเกตง่าย ๆ ที่สามารถเช็คร่างกายได้ด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ดี การคลำได้ก้อนในร่างกายอาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป โดยอาจเป็นเรื่องของการอักเสบจากการติดเชื้อ หรือเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย สามารถผ่าตัดให้หายได้ หรือในกรณีที่ก้อนนั้นเป็นเซลล์มะเร็งก็ตามที การตรวจพบสัญญาณของโรคในระยะเริ่มต้นก็มีโอกาสรักษาให้หายได้เช่นกัน”ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น เป็นได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะเมื่อไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคแน่ชัด ทำให้ทุกคนสามารถเป็นโรคดังกล่าวได้ รวมถึงกลุ่มคนที่เป็นโรค HIV กลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้รังสี หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับเคมีบำบัด มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ หรือทำงานในโรงงานที่มีสารเคมี
ทั้งนี้ ในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ตรงกับ "วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก" ในปีนี้ "ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย" จัดงานเสวนา "ปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข : Miracle is all around X" ครั้งที่ 10 ในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 12.00 – 16.00 น. ณ ชั้น 3 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
โดยภายในงานดังกล่าวมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกถึงนวัตกรรมใหม่การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถาม-ตอบ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน มาจุดพลังใจไปกับอดีตผู้ป่วย “The X Fighters : คนสู้โรค” ที่หายจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด “The X Team” โดย ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย Miracle X Art Toys จากศิลปินชื่อดัง พร้อมกับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ Miracle X Encourage โดย วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร พร้อมกิจกรรม X Auction สุดพิเศษ!!