16 ตุลาคม 'วันอาหารโลก' เด็กไทยมีภาวะผอม 10% ผู้หญิงวัยทำงานกินแป้งลดลง
'วันอาหารโลก' 16 ตุลาคม FAO อยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความอดอยากหิวโหยที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปีนี้เน้นรณรงค์การเข้าถึงระบบอาหารยั่งยืน ส่วนในไทยพบเด็กมีภาวะผอมถึง 10% ขณะที่ผู้หญิงวัยทำงานกินแป้งลดลง เข้าถึงอาหารสุขภาพมากที่สุด
วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอาหารโลก World Food Day” จัดตั้งขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) หรือ FAO เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญอาหาร การเกษตรทั่วโลก รวมถึงปัญหาความอดอยากหิวโหยอันเกิดจากระบบการจัดการและการกระจายอาหารที่ยังไม่ดีพอ ทำให้ผู้คนในหลายภูมิภาคของโลกเข้าไม่ถึงแหล่งอาหาร ขาดแคลนอาหาร นำไปสู่ปัญหาทุพโภชนาการ ชีวิตและสุขภาพย่ำแย่ลง
แต่ละปี FAO จะเลือกหัวข้อหลักในการรณรงค์ที่แตกต่างกัน เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาในปีนั้น สำหรับปี 2567 เน้นรณรงค์ในหัวข้อ “สิทธิในอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อการเข้าถึงอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน : Right to foods for a better life and a better future. Leave no one behind”
ผู้หญิงวัยทำงานกินแป้งน้อยลง เป็นกลุ่มที่เข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสุขภาวะมากที่สุด
รศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลสำรวจข้อมูลประชากร 14,000 ราย พบว่า คนไทยกินอาหารไม่ได้ตามเกณฑ์ของหลักโภชนาการใน 6 กลุ่มประเภทอาหาร ได้แก่
กลุ่มข้าวแป้ง : 62% ของเพศหญิงวัยทำงาน ที่อาศัยในเขตเทศบาล กินอาหารกลุ่มนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุด
กลุ่มผัก : 72% ของเพศหญิง เด็กเล็ก อาศัยในเขตเทศบาล กินอาหารกลุ่มนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุด
กลุ่มผลไม้ : 65.2% ของเพศชาย เด็กเล็ก อาศัยในเขตและนอกเขตเทศบาล กินอาหารกลุ่มนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุด
กลุ่มเนื้อสัตว์ : 12.6% เพศชาย เด็กเล็ก อาศัยนอกเขตเทศบาล กินอาหารกลุ่มนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุด
กลุ่มนมจืดนมพร่องมันเนย : 96% ทุกลักษณะทางประชากร เด็กเล็กต่ำกว่าเกณฑ์ กินอาหารกลุ่มนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุด
กลุ่มน้ำเปล่า : 58% เพศหญิง อาศัยนอกเขตเทศบาล กินอาหารกลุ่มนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุด
ตามข้อมูลผลสำรวจพบด้วยว่า คนที่มีความรอบรู้ด้านอาหารมากขึ้น ก็จะมีแนวโน้มกินผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และน้ำดื่มได้ตามเกณฑ์มากขึ้น มีแนวโน้มกินข้าว แป้ง ได้ตามเกณฑ์ที่ลดลง มีแนวโน้มกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เครื่องดื่มรสหวาน อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมถุงรสเค็ม ลดลง อย่างไรก็ตาม การสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเป็นมากกว่าการกินและโภชนาการ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรม สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านอาหารกับการกินอาหารของคนไทย
ทั้งนี้สถาบันวิจจัยประชากรและสังคม ให้คำแนะนำว่า มาตรการส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารต้องไปไกลกว่าการให้ความรู้ คือต้องทำคู่ไปกับมาตรการสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหาร พร้อมติดตามระดับความรอบรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของคนไทย และที่สำคัญควรเพิ่มกลุ่มเป้าหมายสำรวจความรอบรู้ด้านอาหารกลุ่มเด็กต่ำกว่า 15 ปี
ระบบอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นย่อมสัมพันธ์กับระบบอาหารที่ยั่งยืน นี่คือโจทย์ที่ทุกภาคส่วนจะต้องหันมาจับมือกันขับเคลื่อน เพื่อให้คนไทยบริโภคอาหารที่ดีเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีต่อไป
อาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาจไม่ดีต่อสุขภาวะ เกือบ 282 ล้านคนทั่วโลก เผชิญความหิวโหย เข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า มนุษย์เราผูกพันกับอาหาร สิ่งที่เรารับเข้ามามีผลต่อชีวิตต่อสุขภาวะ กินน้อยก็ผอม กินมากก็อ้วน กินไม่ถูกก็เกิดผลเสีย พฤติกรรมการกินของเราจะถูกปลูกฝังติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กชอบกินอะไร โตมาก็จะกินแบบนั้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น ผู้จัดการกองทุน สสส. เชื่อว่า วันนี้สังคมทำให้สมองเราสั่งการว่าเราควรจะกินอะไร ไม่ให้กินอาหารอะไรที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาวะ นี่คือปัญหาของ ทุนนิยมเป็นตัวกำหนดสุขภาวะของคนทั่วโลก
ข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 โดย FAO พบประชากรเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศทั่วโลก เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งหิวโหยเฉียบพลัน และเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย
สำหรับเด็กไทยมีภาวะผอม 5 - 10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่กลับสะท้อนว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย สสส. และภาคีเครือข่าย มองว่าต้องช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้คนว่า ควรกินอย่างไรให้มีสุขภาพดี และควรเร่งจัดการระบบอาหารไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ ทุกคนต้องเข้าถึงอาหารได้เท่าเทียมกันโดยไม่ต้องจ่ายแพงเกินไป
ทั้งนี้ สสส. มุ่งเป้าหมายขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 มาตรการเพื่อส่งเสริมให้ทุคนเข้าถึงอาหารไ้เท่าเทียม ได้แก่
1. ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัย
2. สร้างระบบอาหารปลอดภัยและการกระจายอาหารที่เป็นธรรม
3. สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย โดยเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต
เปิดวิธีการกินตามหลักสุขภาวะ ลดความเสี่ยงเกิดโรค NCDs
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. ที่ให้ความรู้ในอีกมุมว่า คนไทยต้องรู้จักวิธีการกินอาหารอย่างสมดุล หรือ “Healthy Balance Diet” หากไม่ปรับวิธีกินอาหารให้สมดุลก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ซึ่งพบว่าคนจนในเมืองขาดแคลนอาหารมากกว่าคนชนบท เพราะมีพื้นที่น้อย บริบทสังคมเมืองก็ผันผวนสูง
ทั้งนี้มีข้อมูลจาก WHO ชี้ว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาวหาน มะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง และสุขภาพจิต เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 74% หรือคิดเป็น 4 แสนรายต่อปี มูลค่าความสูญเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 9.7% ของ GDP โดยเป็นค่ารักษาพยาบาล 139,300 ล้านบาท
ปัจจุบันพบว่าคนไทยเกิดโรคกลุ่ม NCDs มากขึ้น นั่นแปลว่าการป้องกันและการให้ความรู้เรื่องอาหารการกินของไทยอาจจะหละหลวม จากเดิมการป้องกัน NCDs ไทยเคยอยู่อันดับ 3 ของโลก แต่พอทำไปทำมาอันดับกลับร่วงลงไป ดร.นพ.ไพโรจน์ จึงเน้นย้ำว่า ไทยต้องเน้นย้ำให้ความรู้การกินอาหารถูกหลักโภชนาการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นหลักการกินอาหาร 5 หมู่ ตามรหัสลดพุง คือ "2 1 1 แบ่งจานข้าว 4 ส่วน ข้าว 1 เนื้อสัตว์ 1 ผักผลไม้ 2" รวมถึงการรณรงค์กินผัก 400 กรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs ได้ ทั้งนี้ผักต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี สสส. ได้สั่งแบนสารเคมีไป 3 ชนิด แต่ก็ต้องเฝ้าระวังตัวอื่น ๆ หรือการลดการปนเปื้อนด้วยการล้างผักให้สะอาดช่วยลดสารเคมี 80-90%
นอกจากนี้ ยังอยากรณรงค์เรื่อง "ลดหวานลดโรค" ให้ความรู้สร้างค่านิยมกินหวานแต่พอดีที่ 4 กรัมต่อวัน โชคดีที่ทุกวันนี้มีเครื่องดื่มหวานน้อยออกสู่ตลาดมากขึ้น 35% มีฉลากทางเลือกสุขภาพ และต่อไป สสส. จะเน้นรณรงค์เรื่องการลดเค็มในอาหารต่อไป
(WHO เร่งแก้ปัญหา อาหารที่ดีต่อสุขภาพ เข้าถึงยาก ราคาแพง
ดร.สุชีรา บรรลือสิรธุ์ เจ้าหน้าที่วิชาการด้านโรคไม่ติดต่อองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO) ย้ำถึงข้อมูลข้างต้นว่า เนื่องจากโรค NCDs เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 74% ซึ่งสร้างความสูญเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมูลค่าถึง 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นการเร่งแก้ปัญหาเรื่องอาหารการกินจึงยิ่งสำคัญ
ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงของระบบอาหารในปัจจุบันส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาวะโภชนาการ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนยากจน จะเห็นว่าในปัจจุบันคนที่มีรายได้ต่ำ มักจะกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง โซเดียมสูง เพราะเข้าถึงง่ายกว่า ในทางกลับกัน อาหารที่ดีต่อสุขภาพเข้าถึงยาก เพราะมีราคาแพง จึงส่งผลให้ผู้คนหันไปเลือกกินอาหารแปรรูปเพิ่มมากขึ้น (เพราะราคาถูกกว่า) ด้านนายทุนก็เน้นทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค
ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพและโภชนาการเหมาะสมเข้าถึงทุกคนได้อย่างทั่วถึง ด้วยการทำให้ระบบอาหารและโครงสร้างการผลิตมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปฏิรูปภาคการผลิตให้เพิ่มการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน นโยบายทางการเกษตรและการค้าต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อการผลิตอาหารที่มีความหลากหลายและโภชนาการเหมาะสม โดยใช้แนวปฏิบัติที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ผ่านนโยบายด้านภาษี การให้เงินอุดหนุน การกำหนดเพดานสารอาหาร และการให้ความรู้ เป็นต้น
ผู้แทน WHO กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกเสนอทางเลือกมาตรการสำหรับภาคการผลิตอาหารเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ดีและส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดังนี้
1. Restriction of maleting: ควบคุมการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก
2. Food lableling: ทำฉลากโภชนาการที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
3. Reformnution : ปรับสูตรอาหารและเครื่องดื่ม
4. Procurement policy: จัดซื้อจัดหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพในหน่วยงานรัฐและเอกชน
5. Tax and subsidies: ภาษี และการให้เงินสนับสนุน เพื่อการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
“เพราะอาหารที่ไม่มทีโภชนาการเหมาะสม ภาวะทุพโภชนาการ และภาวะ NCDs ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับระบบการผลิตอาหาร ขายอาหาร การทำการตลาดอาหาร และการบริโภคอาหาร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิรูประบบอาหาร เพื่อเพิ่มการผลิต เพิ่มการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง