ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ แก้ด้วยใจ-วัฒนธรรมองค์กร

ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ แก้ด้วยใจ-วัฒนธรรมองค์กร

ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดอคติทางสังคม ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาและการสนับสนุนทางจิตใจ โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าต้องปรึกษานักจิตวิทยา หรือปรึกษาจิตแพทย์ จึงเป็นเรื่องจำเป็น

KEY

POINTS

  • สติแอพ ต้องการสร้างพื้นที่ ปลอดภัย ทั้งในชุมชน ทั้งในครอบครัว และที่ทำงาน ให้ทุกคนได้สามารถพูดคุยได้มากขึ้นและรับฟังได้มากขึ้น
  • สุขภาพจิตควรจะเข้าไปเป็นวัฒนธรรมองค์กร ถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพ การแก้ปัญหาเหมือนแค่การแปะพลาสเตอร์กับแผลยังไม่ได้ต้องการเปลี่ยนหรือส่งเสริมมองถึงรากฐานของปัญหา
  • วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเครียดมากขึ้น และพบว่าความเครียดในวัยรุ่นสูงกว่ากลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า พ่อแม่ต้องเข้าใจลูก จุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่น อย่างแรก คือ การสอนให้เด็กๆ ใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ และแบ่งเวลาทำกิจกรรมในชีวิตจริง

ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดอคติทางสังคม ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาและการสนับสนุนทางจิตใจ โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าต้องปรึกษานักจิตวิทยา หรือปรึกษาจิตแพทย์ จึงเป็นเรื่องจำเป็น

เพราะหลายๆ ครั้งที่เจอปัญหาสุขภาพจิต มักจะมาจากที่ไม่สามารถพูดคุยเรื่องความเครียดกับคนรอบข้างได้ สติแอพ จึงเทรนอาสาให้เป็นผู้รับฟังที่ดีขึ้น และสร้างพื้นที่ ปลอดภัย ทั้งในชุมชน ทั้งในครอบครัว และที่ทำงาน ให้ทุกคนได้สามารถพูดคุยได้มากขึ้นและรับฟังได้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"วัยทำงาน"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

'ใจป่วย' เรื่องปกติที่รักษาได้ รู้เท่าทัน 'สุขภาพจิต' ในวันที่โลกเปลี่ยน

สุขภาพจิตสำคัญทุกคนควรใส่ใจ

พริมา พิสุทธิศรัณย์ Operations Advisor Sati App ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ ประเทศไทยมีคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต บริการสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ก็มีเจ้าหน้าที่ไม่มาก ขณะที่คนกำลังประสบปัญหาต้องการคนที่รับฟังแพลตฟอร์ม สติ แอพ จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็น ผู้ที่รับฟัง” ทำหน้าที่เสมือนระบบคัดกรอง ก่อนจะเข้าไปสู่กระบวนการรักษา

นอกจากนี้ ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดอคติทางสังคม ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาและการสนับสนุนทางจิตใจ อยากสร้างพื้นที่ให้ทุกคนสามารถพูดคุยปลดปล่อยความรู้สึกได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าต้องปรึกษานักจิตวิทยา หรือปรึกษาจิตแพทย์ อยากให้คนมองว่าเรื่องสุขภาพจิตเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับเหมือนเรื่องออกกำลังกาย

อยากให้คนหันมามาใส่ใจสุขภาพจิตของตัวเองเรื่อยๆ หนึ่งในการดูแลก็คือการคุยปลดปล่อย หลายๆครั้งที่เจอปัญหาสุขภาพจิต มัก จะมาจากที่ไม่สามารถพูดคุยเรื่องความเครียดของเรากับคนรอบข้างได้ สติแอพ ต้องการสร้างพื้นที่ ปลอดภัย ทั้งในชุมชน ทั้งในครอบครัว และที่ทำงาน ให้ทุกคนได้สามารถพูดคุยได้มากขึ้นและรับฟังได้มากขึ้น

ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ แก้ด้วยใจ-วัฒนธรรมองค์กร

อาสาสติแอพผู้รับฟังที่ดี

หัวใจของเราคือ การสอนให้เป็นผู้รับฟังที่ดีขึ้น มีการทำงานร่วมกับ โรงเรียน องค์กร เพื่อเสริมสร้างพื้นที่ มีการเทรน และอบรมอาสา หลากหลาย มีทั้งหมอที่เกษียณแล้ว มีพระที่ลาสิกขาแล้ว มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาจิตวิทยา คนทั่วไปก็สามารถเป็นอาสาได้ โดยต้องผ่านโปรแกรม อบรมหลักสูตรปฐมจิตใจเบื้องต้น 30 ชม.ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และต้องผ่านการทดสอบ

ทุกคนสามารถเป็นอาสาได้ ไม่ได้จำกัดอายุ การศึกษา เพราะต้องการอบรมให้คนทุกระดับ มีการฝึกผู้พิการทางสายตาด้วย โดยทำร่วมกับ ธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างอาชีพ ฝึกผู้พิการให้มาเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้รับฟังได้ ไม่มีข้อจำกัดอะไร แต่ต้องเพียงผ่านการอบรม ผ่านการสอบข้อเขียน แต่ละปีต้องเก็บชั่วโมงผู้ฟังถ้าสามารถเก็บชม.ผู้ฟังได้ครบก็สามารถเป็นอาสาต่อไปเรื่อยๆ ได้

การทำงานของอาสาสติแอพ จะสามารถ ดูได้ว่า จะรู้ว่าเป็น เคสเขียว เหลือง หรือแดงสกรีนได้ว่าผู้ที่โทรมามีความคิดจะจบชีวิตตัวเองหรือไม่ มีความเครียดระดับไหนถ้าแดงจะส่งต่อให้ไป ฮอตไลน์ 1323 หรือถ้ามองเป็นเคสที่รุนแรงจริง ๆ จะส่งต่อไปยังรพ.

สติแอพ เป็นแอพในเครือข่ายกรมสุขภาพจิต ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมสุขภาพจิต เมย์เบลลีน มูลนิธิบอร์นดิสเวย์มูลนิธิเพื่อคนไทย และธนาคารออมสิน ปัจจุบันมีอาสา 700 คน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ถึงปัจจุบันมีคนใช้บริการ 30,000 คน

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่ต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ถ้าดูสถิติจะเห็นว่า 1 ใน 7 เยาวชนไทยจะมีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวล และ ทุก 1 ชม.จะมีคนจบชีวิตตัวเองเฉลี่ยประมาณ 20,000-30,000 คนต่อปี ถือว่ารุนแรง

อคติปัญหาหาหลักของสังคม

ถึงแม้ว่าสังคมโดยรวมเริ่มเห็นแล้วว่า สุขภาพจิตสำคัญ แต่หลายๆ ครอบครัวที่เจอว่าลูกน่าจะเป็นแบบนี้ แต่ไม่กล้าพาไปหาหมอ อาย หรืออาจจะคิดว่า เดี่ยวก็หายไปหาทำไม เรื่องนิดเดียวเอง จะมีความคิดและอคติตรงนี้อยู่ มองว่าเป็นปัญหาหลักของสังคมเลย

ขณะเดียวกันยังต้องการเสริมสร้าง สนับสนุนด้านนโยบายต่างๆจากภาครัฐอีกมาก จากการที่ทำงานกับกรมสุขภาพจิต จะเห็นว่า เงินทุนที่เข้ามาสนับสนุนด้านสุขภาพจิตก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนคนที่มาใช้บริการ ฮอตไลน์ 1323 ทรัพยากรยังน้อยอยู่ คนฟังก็ยังน้อยอยู่ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ในเมืองไทย สัดส่วน 1:100,000 คน การที่จะไปพบแพทย์ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่ โดยเฉพาะพบแพทย์รพ.รัฐ แม้แต่รพ.เอกชนก็ยังมีจิตแพทย์ไม่เกิน 3-5 คนเท่านั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสาขาอื่น ต้องส่งเสริมให้บุคลากรด้านนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนหรือสนับสนุนให้คนมาเรียนด้านนี้

รวมทั้งการเสริมสร้างนโยบายให้คนยอมรับเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นในองค์กร ซึ่งภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ เช่นในต่างประเทศมีการให้ปรึกษาทางด้านสุขภาพจิต หรือ สามารถมีวันลาป่วยทางด้านสุขภาพจิตได้ เป็นแนวทางที่เสริมสร้างให้คนยอมรับมากขึ้นว่าการที่มีปัญหาทางจิตก็ไม่ได้ต่างจากการมีปัญหาทางกาย ขาหักไปรพ.ได้ ถ้ามีปัญหาทางจิตก็สามารถให้ลาป่วยได้ มาตรการเหล่านี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้คนยอมรับได้ ว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องจริงและเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ

สุขภาพจิตควรเป็นวัฒนธรรมองค์กร

จากการพูดคุยกับหลายๆองค์กร พบว่าหลายๆ ครั้งบริษัทก็อาจจะยังมองไม่เห็นว่าการเสริมสร้างด้านสุขภาพจิตมีผลประโยชน์อย่างไร จะเห็นหลายๆครั้งอาจจะเป็นการลงทุน ซีเอสอาร์ หรือจัด Mental Health Day หนึ่งวันในหนึ่งปี น้อยมาก หรือ อบรม 1 ครั้งต่อปี

จริงๆ แล้วเรื่องสุขภาพจิตควรจะเข้าไปเป็นวัฒนธรรมองค์กร ถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพ การแก้ปัญหาเหมือนแค่การแปะพลาสเตอร์กับแผลยังไม่ได้ต้องการเปลี่ยนหรือส่งเสริมมองถึงรากฐานของปัญหาเลย คิดว่าหลายๆองค์กรยังสามารถทำได้มากกว่านี้ในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหลายๆ อย่างหรืออบรมให้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น

ที่ผ่านมาสติแอพ กับกรมสุขภาพ ทำงานร่วมกับบริษัทฟู้ดแพชชั่น เจ้าของร้านอาหารบาร์บีคิวพล่าซ่า อบรมให้พนักงานรวมทั้ง สร้างแคมเปญหลายอย่างให้พนักงานรับฟังมากขึ้น บนพื้นฐานวงจรแห่งความสุขไม่ใช่แค่ กินดี อยู่ดี แต่ต้องดีทั้ง จิตใจ กาย คือแบ่งปันความรู้ จิตดี ครอบครัวดี มีเงินใช้ และให้สังคม เป็นโรลโมเดล ให้กับบริษัทอื่นๆ ได้

ฟังด้วยใจไม่ใช่ฟังหูอย่างเดียว

เรื่องสุขภาพจิต มีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องร่างกาย จิตใจ สังคมสภาพแวดล้อมสังคม การเงิน การงาน เป็นปัจจัยที่กระทบจิตใจได้หมด สติ แอพ เข้ามาช่วยส่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทำให้สภาพแวดล้อมรอบข้างให้ดีขึ้น สามารถสร้างผู้คน สร้างผู้ฟัง สร้างคนที่เข้าใจ การฟังด้วยใจไม่ใช่ฟังด้วยหูอย่างเดียว ถ้าสามารถเสริมสร้างพื้นที่ และคน ที่สามารถเปิดรับฟังด้วยใจมากขึ้น ก็จะทำให้คนเครียดน้อยลง วิตกกังวลน้อยลง เพราะหลายๆ ครั้งปัญหาต่างๆ ก็มาจากความเหงาความกลัวที่ไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวไม่เป็นที่รัก ของคน กลัวอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นการสร้างชุมชน และสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการดูแลสุขภาพจิต”

ในอนาคต สติแอพ จะร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กรุงเทพมหานครทำโครงการ ม้านั่งมีหู” เป็นโมเดลที่มีทำมาแล้วที่ซิมบับเว จะปรับมาใช้ที่เมืองไทย สร้างพื้นที่สาธารณะในกทม.ด้วยการเอาม้านั่งไปวางที่สวนเบญจกิตติ สวนลุมพินี เปิดพื้นที่ให้คนสามารถมานั่งมาพูดคุยกับอาสาสติแอพได้ เช่นที่ทำในออสเตรเลีย อังกฤษ เป็นพื้นที่โซเซียลเวิร์ก สร้างพื้นที่ชุมชนคอมมูนิตี้ให้คนมาพูดคุย ระบายได้ มีคนฟังอยู่ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะพูดคุยมากขึ้น โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องรอคิว เมืองของเราถ้าจะให้น่าอยู่จริงๆต้องมีพื้นที่ชุมชนเหล่านี้ที่สามารถให้คนพูดคุยและรับฟัง คาดว่าจะโครงการได้ต้นปีหน้า

พ่อแม่ต้องเป็นเซฟโซนให้ลูก

ในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ววัยรุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน ทั้งการเรียน ความคาดหวังจากครอบครัว และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ จนเกิดความเครียดสะสม แต่บ่อยครั้งปัญหานี้กลับถูกมองข้ามจากครอบครัว ด้วยความคิดที่ว่าความเครียดของเด็กเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ไม่รุนแรงเหมือนความเครียดของผู้ใหญ่ ทำให้แทนที่เด็ก ๆ จะมีที่พึ่ง กลับยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและเครียดมากกว่าเดิมจนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ

โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในปี 2565 ชี้ว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเครียดมากขึ้น และพบว่าความเครียดในวัยรุ่นสูงกว่ากลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล

พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ รพ.วิมุต กล่าวว่าความเครียดของวัยรุ่นก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างกับผู้ใหญ่ ซึ่งครอบครัวสามารถสนับสนุนวัยรุ่นให้มีสุขภาพจิตที่ดี ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

ความเครียด ปัญหาวัยรุ่นไม่หายง่ายๆ

หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นคือความเครียด ภาวะอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด และไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

บ่อยครั้งเวลาเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต ก็เป็นเรื่องปกติที่ทำให้เรารู้สึกเครียด ซึ่งหลายคนพอเห็นว่าเด็ก ๆ เครียด ก็มักแนะนำให้ไปฟังเพลง เล่นเกม หรือคุยกับเพื่อนก็น่าจะหายเครียดแล้ว แต่จริง ๆ ความเครียดของวัยรุ่นไม่ได้แก้ไขง่ายขนาดนั้น เพราะการจัดการกับความเครียดบางครั้งก็ต้องการคนคอยแนะนำและอยู่เคียงข้าง”

ปัจจัยและสัญญาณที่ครอบครัวต้องใส่ใจ

วัยรุ่นในปัจจุบันต้องเผชิญกับหลายปัจจัยที่ทำให้เครียด ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากการเรียน ความคาดหวังจากครอบครัว หรือแม้แต่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในโลกออนไลน์และยังเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่ทำให้มีอารมณ์แปรปรวนได้ง่ายขึ้น ซึ่งความเครียดเหล่านี้หากสะสมไว้นานอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว หรือภาวะสมาธิสั้น

สัญญาณของความเครียดว่า ปกติเด็กไม่ค่อยแสดงออกว่าตัวเองเครียดผู้ปกครองจึงควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ได้เกรดน้อยลง ชอบอยู่คนเดียวมากกว่าอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว หรือหงุดหงิดง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเด็ก ๆ มีอาการแบบนี้ก็อาจเกิดจากความเครียด ควรหันมาใส่ใจและพูดคุยหาสาเหตุร่วมกันทันที”

ครอบครัวต้องเป็นเซฟโซนให้เด็ก

คนที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างครอบครัว คือจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่นในยุคที่โลกโซเชียลมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นสิ่งสำคัญอย่างแรกคือการสอนให้เด็กๆ ใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ และแบ่งเวลาทำกิจกรรมในชีวิตจริง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือใช้เวลากับครอบครัว เพื่อลดความกดดันจากโลกออนไลน์

นอกจากนี้ การสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเข้าใจและการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวก็เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดสะสม ลดโอกาสที่วัยรุ่นจะหันไปหาสารเสพติดหรือทางออกที่ผิด ครอบครัวควรจะเป็นเซฟโซนที่วัยรุ่นสามารถเล่าปัญหาหรือระบายความรู้สึกโดยไม่ถูกตัดสินหรือมองว่าเป็นภาระ ผู้ปกครองควรพูดคุยกับเด็ก ๆ อย่างเปิดใจ ไม่ละเลยหรือด้อยค่าความเครียด วิธีนี้จะช่วยให้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางจิตใจ ทำให้ผู้ปกครองสามารถพูดคุยและช่วยจัดการความเครียดของลูก ๆ ได้อย่างเหมาะสม และหากจำเป็นก็ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ไม่ต้องรู้สึกอาย

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องเข้าใจว่าความเครียดของวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ในฐานะคนในครอบครัวก็อยากให้ช่วยกันแก้ไขปัญหา รับฟังและพูดคุยกับพวกเขาอย่างไม่ตัดสิน ทำให้ครอบครัวเป็นเซฟโซนที่เด็ก ๆ สามารถพึ่งพาได้ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่า ไม่ว่าจะพบเจอกับความเครียดขนาดไหนก็จะสามารถผ่านไปได้เสมอ” พญ.เพ็ญชาญา กล่าวทิ้งท้าย