อาหารที่ 'ผู้ป่วยจิตเภท'ต้องหลีกเลี่ยง!!

อาหารที่ 'ผู้ป่วยจิตเภท'ต้องหลีกเลี่ยง!!

'โรคจิตเภท (Schizophrenia)' คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

KEY

POINTS

  • ผู้ป่วยโรคจิตเภท มีแนวโน้มที่จะน้ำหนักเกินจากการมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันอิ่มตัวสูง และขาดการออกกำลังกาย 
  • 4  อาหารที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่มีน้ำตาลสูง คาเฟอีน ผงชูรส Monosodium glutamate (MSG)  และกลูเตน 
  • อาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยา อาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักที่มีวิตามินเคสูง  อาหารที่มีสารไทรามีนสูง  น้ำผลไม้บางชนิด และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

'โรคจิตเภท (Schizophrenia)' คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคม ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 14-16 ปี หรือช่วงปลายวัยรุ่น โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร

ส่วน 'โรคจิตเวช' คือ กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือบางคนรู้แต่ไม่มาพบแพทย์ ทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต

โดยโรคจิตเวชที่พบบ่อยการสังเกตอาการคนรอบข้างรวมถึงตัวเองเกี่ยวกับโรคจิตเวชเป็นเรื่องสำคัญ หากพบความผิดปกติหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาก่อนอาการรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘ซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’

‘Self-care’รากฐานระบบสุขภาพ ตระหนักรู้-ดูแลตนเองแข็งแรงอายุยืนยาว

'โรคจิตเภท' เกิดจากอะไร? เช็กอาการเบื้องต้น

พญ.วรลักษณา ธีราโมกข์ ผู้อำนวยการฝ่ายคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่าโรคจิตเภท มีสาเหตุมาจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนี้

  • ด้านร่างกาย

ทางพันธุกรรม ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยมากยิ่งมีโอกาสสูง จากความผิดปกติของสมอง โดยสารเคมีในสมองมีความผิดปกติและจากโครงสร้างของสมองบางส่วนที่มีความผิดปกติเล็กน้อย

  • ด้านจิตใจ

จากความเครียดในชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย การใช้อารมณ์กับผู้ป่วย การตำหนิ มีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรหรือจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากไปก็มีผลต่อการกำเริบของโรคได้

  • อาการเริ่มต้นของโรคจิตเภท

อาจเกิดในแบบเฉียบพลันทันที หรือเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ในกรณีที่อาการเริ่มต้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมีอาการเริ่มต้นอย่างช้าๆ อาจมีอาการสับสน มีความรู้สึกแปลกๆ ไม่อยู่ในความเป็นจริง อาการจะค่อยๆ มากขึ้น ทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากบุคลิกภาพเดิม เช่น แยกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใครมีอาการระแวงคนอื่น มีปัญหาการนอนหลับ ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงาน การเรียน ได้เหมือนปกติ ค่อยๆ หมดความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนตัว อาการเหล่านี้ เป็นอาการเริ่มต้นที่ช่วยเตือนว่า อาจจะมีการเริ่มต้นของโรคจิตเภทแล้ว

อาหารที่ \'ผู้ป่วยจิตเภท\'ต้องหลีกเลี่ยง!!

ควรไปปรึกษาแพทย์ เมื่อบำบัดเมื่อไหร่

สิ่งที่สำคัญที่ควรทำ คือ การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่าการปล่อยไว้นานจนเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยลักษณะอาการแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มอาการที่เพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่

  • อาการหลงเชื่อผิด

เป็นความเชื่อของผู้ป่วยที่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ระแวงว่าตนจะถูกวางยาพิษ คิดว่าตนส่งกระแสจิตได้

  • ความคิดผิดปกติ

ผู้ป่วยคิดแบบมีเหตุผลอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ทำให้คุยกับคนอื่นไม่เข้าใจ ผู้ป่วยมักพูดไม่เป็นเรื่องราว พูดไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนเรื่องพูดโดยไม่มีเหตุผล
ประสาทหลอน

โดยผู้ป่วยคิดว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น หูแว่วได้ยินเสียงคนมาพูดด้วยทั้งๆ ที่ไม่มีใครพูดด้วย เห็นภาพหลอน มองเห็นวิญญาณ
มีพฤติกรรมผิดปกติ

โดยมักเกี่ยวข้องกับความคิดและความเชื่อที่ผิดปกติ เช่น ทำร้ายคนอื่น อยู่ในท่าแปลกๆ ซ้ำๆ หัวเราะหรือร้องไห้สลับกันเป็นพักๆ

2. กลุ่มอาการที่ขาดหรือบกพร่องไปจากคนปกติทั่วไป ได้แก่

  • เก็บตัว ซึม ไม่อยากพบปะผู้คน แยกตัวเอง
  • ไม่ดูแลตัวเอง ไม่สนใจเรื่องการแต่งกาย กลางคืนไม่นอน
  • ไม่มีความคิดริเริ่ม เฉื่อยชาลง ไม่ทำงาน นั่งเฉยๆ ได้ทั้งวัน ผลการเรียนหรือการทำงานตกต่ำ
  • พูดน้อย ใช้เวลานานกว่าจะตอบ พูดจาไม่รู้เรื่อง เนื้อความไม่ปะติดปะต่อกัน
  • การแสดงออกทางอารมณ์ลดลงมาก ไร้อารมณ์ มักมีสีหน้าเฉยเมย ไม่มีอาการยินดียินร้าย

ในระยะอาการกำเริบ อาการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการที่เพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ส่วนกลุ่มอาการที่ขาดหรือบกพร่องไป จากคนปกติทั่วไป มักพบในระยะหลังโรค หากท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา

7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย 

1.โรคซึมเศร้า (Depression)

 ผู้ป่วยจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าหรือเป็นภาระของผู้อื่น สมาธิแย่ลง หลงลืมง่าย เหม่อลอย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดหัว บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัวและไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ

2.โรคแพนิก (Panic Disorder) 

เป็นโรคตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อสิ่งกระตุ้น จนเกิดอาการหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ จุกแน่น คล้ายจะเป็นลมหรือเหมือนกับจะถึงชีวิต ซึ่งการเกิดครั้งแรกมักจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องกดดันหรือถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว และจะมีอาการอีกเรื่อย ๆ เมื่อเจอกับสถานการณ์เดิม ๆ โดยแต่ละครั้งจะมีอาการประมาณ 10 – 20 นาที และหายเป็นปกติ

แต่หากมีอาการแพนิกเกิดขึ้นแล้วมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการแพนิกเกิดขึ้นอีก คุมตัวเองไม่ได้ หมกมุ่น พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างชัดเจน ไม่กล้าไปไหนคนเดียว แนะนำควรรีบพบจิตแพทย์

3.โรคจิตเภท (Schizophrenia) 

ผู้ป่วยจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน โดยจะแสดงออกด้วยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว หลงผิดหรือหวาดระแวง หากมีอาการนานเกิน 6 เดือนแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้การรักษายากขึ้นและผลการรักษาไม่ดี เนื่องจากจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังยิ่งมารักษาช้าอาการจะยิ่งมากและรักษายากขึ้นเรื่อยๆ

4.โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) 

ซึ่งเป็นผลมาจากที่ผู้ป่วยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวและกลัวว่าจะเกิดขึ้นซ้ำ จนมีอาการระแวง หวาดกลัว หรือตกใจง่าย ดังนั้น ควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

5.โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างซึมเศร้าและอารมณ์ดีเกินปกติหรือแมเนีย โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวังเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นแทบทุกวันและเป็นส่วนใหญ่ของวัน

รวมถึงอาการจะคงอยู่นานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอารมณ์ดีเกินปกติ เช่น อารมณ์คึกคัก กระฉับกระเฉง อยากทำหลายอย่าง พลังงานเยอะ นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่น อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที หากมีคนขัดใจจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

6.โรคสมองเสื่อม (Dementia) 

ภาวะการทำงานของสมองแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยจะไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หลงลืมง่าย หรือเล่าเรื่องในอดีตได้แต่ไม่สามารถจำกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ พบมากในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีทั้งแบบรักษาหายและไม่หายขาด

โดยกลุ่มที่รักษาหายขาดได้ เช่น น้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องอก เลือดออกในสมอง โรคของต่อมไทรอยด์ ขาดวิตามินบี 12 ติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง การเกิดภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง หรือการใช้ยาบางชนิด

นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการหลงลืมง่าย (Pseudodementia) ซึ่งสามารถหายได้เมื่อรักษาโรคซึมเศร้าหาย ส่วนในกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคที่พบบ่อยคืออัลซไฮเมอร์ หลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น

7.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)

อาการหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรงหรือสถานการณ์บางอย่าง เช่น กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวสัตว์บางชนิด กลัวเลือด ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้น ๆ อย่างทันทีทันใด ในรายที่รุนแรงอาจหวาดกลัวแม้เป็นเพียงการเอ่ยถึงหรือพบเจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน

อาหารที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยง

'นพัตสรรค์ สิงห์สังข์' นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่าผู้ป่วยโรคจิตเภท มีแนวโน้มที่จะน้ำหนักเกินจากการมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันอิ่มตัวสูง และขาดการออกกำลังกาย นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน และภาวะเมตาบอลิกซินโดรม

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคจิตเภทจึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน เช่น เพิ่มผักและผลไม้ เพื่อให้ได้รับไฟเบอร์และวิตามินที่ดีต่อสุขภาพ เพิ่มการรับประทานปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน นอกจากนี้ยังควรเลือกรับประทานโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต เป็นต้น

อาหารที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

1. อาหารที่มีน้ำตาลสูง 

ผู้ป่วยโรคจิตเภทอาจพบภาวะดื้อต่ออินซูลิน และในผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เหมาะสมซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เครื่องดื่มรสหวาน ของหวาน

2. คาเฟอีน

 ผู้ป่วยโรคจิตเภทมีแนวโน้มบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมาก อาจส่งผลให้มีอาการทางบวกรุนแรงขึ้น จากการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง พบว่า ผู้ป่วยมีอาการสงบลง เมื่อได้รับประทานยาเป็นประจำ โดยไม่มีการบริโภคคาเฟอีนในระหว่างการรักษา

3. ผงชูรส Monosodium glutamate (MSG) 

ผงชูรสเป็นเกลือโซเดียมของกรดกลูตามิก พบได้ตามธรรมชาติและในสารปรุงแต่งอาหาร มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคจิตเภทจำนวน 168 คน พบว่า การบริโภคกรดกลูตามิกที่สูงขึ้น สัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าที่มากขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นโรคอ้วน

4. กลูเตน 

พบได้ในข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต เป็นต้น มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจิตเภทบางรายมีอาการดีขึ้นหลังเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่ปราศจากกลูเตน

เช็ก 6 อาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยา

 

อาหารบางชนิดไม่ควรกินร่วมกับยา เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยามีหลายชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงนม ทั้งนี้ หากคุณรู้ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่สามารถทำปฏิกิริยากับยาได้ คุณก็จะสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม

อาหารบางชนิดเมื่อกินร่วมกับยาแล้ว อาจส่งผลต่อเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายตัวยาในร่างกาย ทำให้ยาออกฤทธิ์ในร่างกายน้อยเกินไป จนไม่สามารถบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจทำให้ยาออกฤทธิ์ในร่างกายนานเกินไป และทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตามมา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการกินอาหารบางชนิดร่วมกับยา เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีเลือดออก 

อาหารที่อาจทำปฏิกิริยากับยา จนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ มีดังนี้

1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ และสุรา มักถูกระบุไว้บนฉลากหรือเอกสารกำกับยาว่าไม่ควรดื่มในขณะที่กำลังใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและตับได้ โดยเฉพาะการเกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน

ตัวอย่างยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ยาแก้ปวดอย่าง ยาอะเซตามีโนเฟน  (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า หรือยาคลายกังวล ยิ่งไปกว่านั้น การเสพติดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของตับและเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารด้วย

2. ผลิตภัณฑ์จากนม 

นมและผลิตภัณฑ์จากนมอย่างไอศครีม โยเกิร์ต หรือชีส เป็นอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษาโรคกระดูกพรุน รวมถึงธาตุเหล็ก เพราะผลิตภัณฑ์จากนมเหล่านี้จะลดการดูดซึมตัวยาในร่างกาย และส่งผลให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ โดยควรหลีกเลี่ยงการกินผลิตภัณฑ์จากนมก่อนการใช้ยา 2 ชั่วโมง และหลังจากการใช้ยา 6 ชั่วโมงด้วย

3. ผักที่มีวิตามินเคสูง 

ผักที่มีวิตามินเคสูง เช่น คะน้า ผักโขม บร็อคโคลี ผักเคล กะหล่ำดาว แครอท และผักชีฝรั่ง เป็นอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดอย่าง ยาวาฟาริน (Warfarin) โดยหากร่างกายได้รับผักเหล่านี้ในปริมาณมากในขณะที่ใช้ยาวาฟาริน อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด และอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

4. อาหารที่มีสารไทรามีนสูง 

อาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) สูงเป็นอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาต้านเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ  (MAOI) เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) ยาฟีเนลซีน (Phenelzine) ยาเซเลกิลีน (Selegiline) และยาทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine) เพราะสารไทรามีนอาจออกฤทธิ์ร่วมกับยาทำให้เกิดผลข้างเคียงคือความดันโลหิตสูงได้ 

ตัวอย่างอาหารที่มักมีสารไทรามีนสูง ได้แก่ อาหารหมักดองอย่างผักกาดดองหรือ กิมจิ อาหารแปรรูป อย่างไส้กรอก ชีสบ่มที่มีอายุมาก รวมถึงซีอิ๊วด้วย

5. น้ำผลไม้บางชนิด

น้ำผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะน้ำเกรปฟรุต เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะที่กำลังใช้ยาหลายชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาแก้แพ้ ยาลดคอเรสเตอรอล ยาลดความดันโลหิต ยากันชัก รวมถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพราะหากดื่มน้ำเกรปฟรุตในปริมาณมากขณะที่กำลังใช้ยา อาจเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพของตัวยา ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์อย่างไม่เหมาะสม และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายตามมาได้

นอกจากนี้ น้ำผลไม้ชนิดอื่น ๆ อย่างน้ำส้ม น้ำส้มโอ หรือน้ำแครนเบอร์รี่ ก็อาจต้องระมัดระวังในการกินร่วมกับยา หรืออาจสอบถามแพทย์ก่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกาย

6. ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ชา กาแฟ และเครื่อมดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อกำลังใช้ยาหลายชนิดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ไข้ ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาโรคกระดูกพรุน ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ยาต้านอาการซึมเศร้า รวมถึงยารักษาโรคจิตเภทด้วย

เพราะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะส่งผลต่อการดูดซึมของตัวยาในร่างกาย และทำให้ตัวยาเพิ่มขึ้นหรือลดลง จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ในบางกรณีตัวยาก็อาจส่งผลในการลดประสิทธิภาพของคาเฟอีนที่ดื่มเข้าไปเช่นเดียวกัน

อาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยาอาจมีอีกหลายชนิด ดังนั้น หากคุณกำลังใช้ยาตัวใดก็ตามอยู่ ควรศึกษาข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทราบว่ามีสิ่งใดที่ต้องหลีกเลี่ยงในระหว่างการใช้ยาบ้าง และช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

นอกจากนี้ วิธีการกินยาให้ปลอดภัยที่สุดคือการกินยากับน้ำเปล่า และควรเว้นช่วงในการกินยาทั้งก่อนและหลังมื้ออาหารประมาณ 2–3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ยามีทั้งชนิดที่ระบุควรกินพร้อมอาหารทันทีและไม่ควรกินพร้อมอาหาร จึงควรอ่านฉลากหรือปรึกษาแพทย์อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง :โรงพยาบาลมนารมย์ ,pobpad ,โรงพยาบาลเวชธานี