เที่ยวปีใหม่! ด้วยสุขภาพที่ดี ใครๆ ก็ทำได้

เที่ยวปีใหม่! ด้วยสุขภาพที่ดี ใครๆ ก็ทำได้

“ช่วงเทศกาลปีใหม่” เชื่อว่าใครหลายๆคนกำลังเดินทาง หรือเตรียมตัวออกเดินทาง เพื่อไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว

KEY

POINTS

  • สิ่งที่ควรทำก่อนออกเดินทาง ได้แก่ พักผ่อนให้เพียงพอ ศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง หากมีโรคประจำตัวควรปรึก

“ช่วงเทศกาลปีใหม่” เชื่อว่าใครหลายๆคนกำลังเดินทาง หรือเตรียมตัวออกเดินทาง เพื่อไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว และร่วมฉลองปีใหม่กับครอบครัว ซึ่งในแต่ละทริปของ “การเดินทาง” ไม่ว่าจะขึ้นเหนือ ลงใต้ สุขภาพร่างกายต้องพร้อมที่จะลุยอยู่เสมอ

เพราะหากมีปัญหาเรื่องสุขภาพก็อาจทำให้ตลอดทั้งทริปในการเดินทาง ไม่สนุก และรู้สึกเสียดายที่ร่างกายตัวเองไม่พร้อมทำกิจกรรมต่างๆในแต่ะละสถานที่ไปเที่ยว ฉะนั้น การเราเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินทาง ก็จะช่วยให้คุณท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ และเป็นไปตามแพลนที่คิดไว้

อีกทั้ง การไปพบปะญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ย่อมชวนกันเที่ยว กิน และดื่ม เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสุขร่วมกันที่นานทีปีหนจะพบกันพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งนิสัยรักสนุก สังสรรค์เฮฮา ชอบเที่ยว ชอบกิน และชอบดื่ม เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงพฤติกรรมและสุขภาพของคนไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปีใหม่ 'เมาแล้วขับ' คุก 15 ปี ปรับ 2 แสนบาท

ปีใหม่ 2568 บขส.คึกคัก คาดประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาสูงสุด 120,000 คน/วัน

5 ทริค เตรียมร่างกายก่อนออกเดินทางช่วงปีใหม่

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากพักผ่อนน้อยอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของการหลับใน ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตกับผู้ขับขี่ และผู้ใช้ถนนคนอื่นก็เป็นได้
  2. ศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง ว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านใดบ้าง เพราะในแต่ละพื้นที่จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
  3. หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเดินทาง และควรเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ก็จะสามารถรักษาได้อย่างตรงวิธี
  4. ออกกำลังกายก่อนออกเดินทาง เพื่อให้ร่างกายรู้สึกไม่อ่อนเพลียเมื่อต้องขับรถหรือนั่งรถเป็นเวลานาน
  5.  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงระหว่างการเดินทาง เพราะจะทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่อันตรายถึงชีวิตตามมา

ฉลองปีใหม่ยังไง ไม่ให้เสียสุขภาพ

ช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่ทุกคนรอคอยกันมาตลอดทั้งปี เพราะเป็นเวลาที่มีความสุข และได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวหรือคนที่เรารักผ่านช่วงเวลาพิเศษไปด้วยกัน รวมทั้ง เป็นช่วงเวลาที่ดื่มกันสุดเหวี่ยง แบบติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายของเรารู้สึกอ่อนเพลียจากการไม่ได้พักผ่อน และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพที่ตามมา

แต่หากเรามีการหักห้ามใจให้ดื่มในปริมาณที่พอดี พักผ่อนให้เพียงพอ แล้วเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะทำให้เรามีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ เพราะฉะนั้น เรามาปรับเปลี่ยนวิธีการปาร์ตี้ช่วงปีใหม่ให้ดีต่อสุขภาพกัน เพื่อให้เป็นความทรงจำที่ดีของการอยู่ร่วมกันในครอบครัว

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพช่วงปีใหม่

การใช้ชีวิตในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่หรือวันไหน ควรเริ่มต้นด้วยการไม่เครียด หรือไม่ทำงานจนร่างกายรับไม่ไหว แล้วหมั่นตรวจเช็กสุขภาพอยู่เป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายต่างๆ  เพื่อให้คุณพร้อมออกไปใช้ชีวิตได้อย่างไร้ขีดจำกัด

เพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสุขภาพที่ดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงนำ แนวทางการกินในช่วงเทศกาล จาก ผศ.ดร.ฉัตรนภา หัตถโกศล เครือข่ายคนไทยไร้พุง อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากดังนี้

  • กินอย่างมีเหตุและมีผล

ไม่ควรสนุกกับงานจนรีบตะบี้ตะบันตักอาหารใส่จานอย่างขาดสติ งานปาร์ตี้ต้อนรับปีใหม่แบบนี้ควรเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยเลือกกินอย่างมีเหตุและผล คำนึงถึงคุณค่าอาหารและพลังงานที่จะได้รับควบคู่ไปกับการวางแผนออกกำลังกาย ลองเลือกตักอาหารที่มีกากใยมากกว่าไขมัน  เมื่อรู้สึกเริ่มอิ่มแล้วให้กินอาหารอย่างช้าๆ หรือลุกขึ้นเดินหากิจกรรมอย่างอื่นทำแล้วค่อยกลับมากินต่อก็ไม่เสียหาย

  • อย่าอดมื้อ เพื่อกินอีกหลายๆ มื้อ

ไม่ควรอดมื้อเช้าหรือมื้อกลางวันเพื่อรอกินมื้อดึกในงานเพียงอย่างเดียว เพราะการอดอาหารส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ที่จะส่งผลให้เกิดการกินเพิ่มในมื้ออื่นๆ และการอดอาหารยังมีส่วนทำให้คนเหล่านั้นมีระดับความสุขและความสนุกลดลงอีกด้วย

  • ทำกินเอง ปลอดภัยเอง อร่อยเอง เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

จะดีกว่าไหมหากเราเป็นผู้ควบคุมได้ทั้งวัตถุดิบและกรรมวิธีในการปรุงรสได้เอง ลดการทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติจัด ‘หวาน มัน เค็ม’ เช่น เปลี่ยนจากน้ำอัดลมเป็นน้ำผลไม้คั้นสด เปลี่ยนจากขนมขบเคี้ยวซองๆ เป็นการทำเบเกอรี่ชิ้นเล็กที่อุดมไปด้วยคุณค่าและสารอาหาร ที่สำคัญไม่ควรลืมที่จะให้ปาร์ตี้นี้เป็นจุดเริ่มต้นการเริ่มทำอาหารแบบเดิมด้วยวิธีใหม่ๆ อย่างการ นึ่ง อบ เผา ลวก แทนการทอด

  • หากิจกรรมเผื่อการเผาผลาญ

คงไม่ดีแน่ๆ หากการปาร์ตี้จะมีแต่การเลี้ยงฉลองแล้วจบลงเพียงเท่านี้ ดังนั้นเพื่อการเพิ่มการเผาผลาญพลังงานที่ได้รับไปทั้งคืน ควรเดินไปพูดคุยกับเพื่อน ในงานบ่อยๆ แวะถ่ายรูปโต๊ะนั้น แอบหยิบขนมโต๊ะตรงข้าม หรือลองหากิจกรรมนันทนาการเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์และความสนุกในงานอย่างเช่น การเหยียบลูกโป่ง การเล่นเก้าอี้ดนตรี การต่อแถวเล่นใบ้คำ การเล่นใบ้เพลง เป็นต้น

เทคนิคทั้ง 4 ข้อดังกล่าวนี้ จะทำให้ปาร์ตี้ปีใหม่เต็มไปด้วยการมีสุขภาพที่ดี และระมัดระวังในการกินอาหารอร่อยมากขึ้น 

เบอร์โทรฉุกเฉินที่ต้องเซฟเก็บไว้ในช่วงปีใหม่

  • เบอร์โทร 1669 เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่รู้ว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ไหน สามารถโทรหาเบอร์นี้เพื่อแจ้งอาการเจ็บป่วยหรือพิกัดที่อยู่ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปช่วยเหลือดูแลอาการเบื้องต้นร่วมด้วย
  • เบอร์โทร 191 เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ฉุกเฉินสามารคติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • เบอร์โทร 1137 ศูนย์จราจรอุบัติเหตุ
  • เบอร์โทร 1155 สายด่วนตำรวจท่องเที่ยว
  • เบอร์โทร 1192 โจรกรรม รถยนต์-รถจักรยานยนต์
  • เบอร์โทร 1146  ศูนย์ความปลอดภัยกรมทางหลวงชนบท

เริ่มต้นปีใหม่ ดูแลเปลี่ยนแปลงตนเอง

พญ. กัลยาณี พรโกเมธกุล  แพทย์ประจำศูนย์รักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่าเริ่มต้นเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาดีดี ที่เราจะได้เริ่มต้นการดูแลและเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อสุขภาพที่ดีและเป็นของขวัญที่ดี ให้กับตนเองกันคะ

1 รับประทานอาหาร สุขภาพดี

You are what you eat : เริ่มต้นสุขภาพดีดี ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ เริ่มด้วยอาหารที่ ปริมาณสารอาหารครบ 5 หมู่ และปริมาณพลังงานงานให้เหมาะสมตามช่วงวัย

  • เด็กกว่า 6 ปี ต้องพลังงาน 1200-1400 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
  • เด็ก 6-13 ปี ผู้หญิงวัยทำงาน ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปต้องการพลังงาน 1600-1800 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
  • วัยรุ่น 14-25 ปี และ ผู้ชายวัยทำงาน ต้องการพลังงาน 2000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
  • ทานอาหารที่ไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ โปรตีนสูง กากใยสูง ทานผัก ผลไม้เพื่อสารเสริมเกลือแร่และวิตามินที่ร่างกายต้องการ ร่วมกับดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
  • หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ควรรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด ร่วมกับเลือกผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัยไร้สารเคมี เช่น Organic หรือ เกษตรอินทรีย์ งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

2 ลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพดี

  • ควรประเมินตนเองว่าเข้าข่ายภาวะอ้วนหรือ น้ำหนักเกินหรือไม่ สามารถทำได้ง่ายๆ คือการคำนวณ ดัชนีมวล

ถ้าเข้าข่ายโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนัก อย่างน้อย 5-10 % จะสามารถช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น เช่น ความดันโลหิต และน้ำตาลในเลือดดีขึ้น โดยการควบคุมน้ำหนักเริ่มต้นง่ายๆ คือควบคุมอาหารจำกัด พลังงานและแคลอรี่ลดลงอย่างน้อย 500-1000 kcal /day ร่วมกับ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ 200-250 นาที ต่อสัปดาห์

โดยการลดน้ำหนักควรเลือกลักษณะควบคุมอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะและสามารถได้ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ควรประเมินการลดน้ำหนักทุก 3 เดือนถ้าไม่สามารถลดได้ หรือดัชมีมวลมากกว่า 30 หรือมากว่า 27 และมีโรคร่วมเช่นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาโรคอ้วนอย่างถูกต้อง เช่น การใช้ยาฉีดเปปไทด์ฮอร์โมนควบคุม ความหิว หรือการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

3. การออกกำลังกาย : ขยับเคลื่อนไหว ห่างไกลโรค

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพ ทั้งป้องการโรค กลุ่ม NCD และรักษาดูแล ภวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน แนะนำเป็นการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน ( aerobic exercise ) ซึ่งจะช่วยลดมวลไขมัน ส่งเสริมการเผาผลาญ ได้อย่างดี

โดยแนะนำเป็นการออกกำลังกาย แบบ moderate intensity เช่น การขี่จักรยาน การวิ่ง หรือการตีแบดมินตัน ประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดน้ำหนักได้ 2-3 กิโลกรัม และหากออกกำลังกายนาน 250 นาทีต่อสัปดาห์ สามารถลดน้ำหนักได้ถึง 5 กิโลกรัม รวมถึง สามารถป้องกันน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มขึ้นใหม่ ได้อีกทางหนึ่ง

4 ตรวจสุขภาพปี

เป็นการคัดกรองและเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงตามช่วงวัยและเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ เนื่องจากการตรวจสุขภาพจะได้ข้อมูลที่ดี ให้การดูแลตนเองที่ถูกต้อง รวมถึงการติดตามปัญหาสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อ สุขภาพดีเริ่มต้นจากการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตรวจต่างๆ ตามช่วงอายุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่หลายคนมักพบเจอกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จนบางคนมองเป็นเรื่องปกติ และยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ละเลยการตรวจสุขภาพจนนำไปสู่โรคร้ายได้

การตรวจสุขภาพจึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะบางครั้งความผิดปกติอาจจะซ่อนอยู่ภายในก็เป็นได้ เราจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คสภาพร่างกายและตรวจหาความผิดปกติ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง

5 พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับ เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงวัยชราต้องนอนหลับอย่างพอเพียงการนอนพักที่เพียงพอ จะส่งผลดีต่อสุขภาพมากมาย เช่น ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น อายุยืนยาวขึ้น ควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น มีความจำดี อารมณ์ดี ไม่เครียด และไม่หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

เมื่อเห็นประโยชน์ของการนอนพักผ่อนแล้ว เราจึงควรความสำคัญกับการนอนพักที่เพียงพอ ควรนอนหลับสนิทอย่างน้อยคืนละ 7-9 ชั่วโมง นอกจากการอดนอนไม่ดีต่อสุขภาพแล้ว การนอนมากเกินไปก็ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง

6 จิตใจแจ่มใจ ห่างไกลความเครียด

หาเวลาพักผ่อน หรือกิจกรรมที่ช่วยคลายความเครียด เข่น หากิจกรรม ที่ชอบหรือสนใจ ทำในช่วงเวลาว่าง เช่น ท่องเที่ยวในวันหยุดพักผ่อน เพื่อประสบการณ์ดีดี ให้กับตนเองและครอบครัว และใช้เวลาว่างร่วมกัน ซึ่ง เป็นกิจกรรรมบำบัด ที่ดีและมีประโยชน์ เพราะสุขภาพกายและสุขภาพใจ ที่ดี ย่อมนำไปสู่ ร่างกายแจ่มใส สุขภาพใจแข็งแรง อย่างแท้จริง

อ้างอิง: โรงพยาบาลเปาโล  ,โรงพยาบาลยันฮี ,สสส.