ทำไม? ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เข้าถึงยานวัตกรรม

ทำไม? ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เข้าถึงยานวัตกรรม

“โรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย คิดเป็น 22.8% ของสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมด

KEY

POINTS

โรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย คิดเป็น 22.8% ของสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมด และเป็นอันดับ 4 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยทุกชั่วโมงมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับ 3 ราย  และทุกๆ 1วัน จะมีผู้ป่วย 74 รายที่เสียชีวิต

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ประมาณ 27,963 รายต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 97% สาเหตุสำคัญมาจากการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจพบโรคในระยะลุกลาม ซึ่งหากตรวจเจอในระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด หรือจี้ก้น แต่เมื่อโรคลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 3-4 หรือระยะแพร่กระจาย ทางเลือกในการรักษาจะมีจำกัดมาก เนื่องจากมะเร็งตับตอบสนองต่อเคมียำบัด และรังสีรักษา แต่ตอบสนองต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'มะเร็งตับ' รู้ทัน รักษาได้ ความหวังระยะลุกลามเข้าถึงยา

รู้ทัน 'โรคมะเร็งตับ' ก่อนสายเกินแก้

เช็กสาเหตุ“มะเร็งตับและท่อน้ำดี”

รศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล รักษาการคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่าชนิดของโรคมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ  60% จะเป็นโรคมะเร็งตับ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย  โดยสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบปี หรือซีเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดก่อนปี 2535  เนื่องจากยังไม่มีการฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่มดื่มแอลกอฮอล์ และกลุ่มไขมันพอกตับจากโรคเบาหวานและโรคอ้วน ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคอ้วนเป็นโรคมะเร็งตับมากขึ้น

ส่วน 40% เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี จะเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยสาเหตุเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีมาจากพยาธิใบไม้ในตับจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ  รวมถึงภาวะที่มีความผิดปกติของท่อน้ำดีสำหรับมะเร็งท่อน้ำดีที่ขั้วตับและนอกตับ

ทำไม? ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เข้าถึงยานวัตกรรม

ตรวจคัดกรอง เพิ่มอัตราการรอด

“การดูแลคนไข้มะเร็งต้องดำเนินการให้ครบวงจรในทุกเรื่อง ซึ่งการเฝ้าระวังเป็นกุญแจสำคัญในการวินิจฉัยและรักษาโรค โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ (HCC) ในกลุ่มเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ได้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้มีการเฝ้าระวังด้วยการศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในพื้นที่อำเภอบ้านหลวง จ.น่าน เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการเกิดโรค การคัดกรองและเฝ้าระวังโรคมะเร็งเซลล์ตับและท่อน้ำดี รวมถึงพื้นที่ที่พบการระบาดเฉพาะถิ่น” รศ.นพ.ธีรภัทร กล่าว

AICEDA Liver  โมเดลAI ช่วยผู้ป่วย

รศ.นพ.ธีรภัทร กล่าวต่อว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ(HCC)ในกลุ่มเสี่ยงสูง อย่าง กลุ่มที่มีไวรัสตับอักเสบบี มีภาวะตับแข็งจากทุกอักเสบอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการตรวจอัลตราซาวน์และตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง อัลฟ่าฟีโตโปรตีน(AFP) เป็นประจำทุก 6-12 เดือน  ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับ 37% ด้วยการตรวจคัดกรองปีละ 2 ครั้ง

 เช่นเดียวกับ การตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป มีประวัติการติดเชื้อพยาธิใบไม่ในตับจากการรับประทานปลาน้ำจืด และมีประวัติครอบครัวหลายคนเป็นมะเร็งท่อน้ำดี  โดยการตรวจคัดกรองอัลตราซาวน์จะสามารถค้นหา วินิจฉัยมะเร็งในระยะเริ่มต้น นั่นหมายความว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้และทำให้ชีวิตยืนยาวได้

“AICEDA Liver  เป็นนวัตกรรมราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่จะยกระดับการคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี ด้วยการเรียนรู้เชิงลึกระยะไกล เพื่อสุขภาพคนไทยในพื้นที่ห่างไกล  โดยการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์(AI)จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกในการตรวจคัดกรองร่วมกับการประมวลผลภาพอัลตราซาวน์เพื่อตรวจจับสิ่งผิดปกติ”

สำหรับขั้นตอนการทำงานสามารถสแกนด้วยเครื่อง Handheld ultrasound เพื่อเก็บข้อมูลและอัปโหลดสู่ระบบ โดยระบบ AI ทำการประมวลผลและวิเคราะห์ผล โดยมีนักรังสีเทคนิคทำงานร่วมกับ AI เพื่อวินิจฉัยโรค และส่งผลการวินิจฉัยให้แก่ผู้ป่วย สามารถแปลผลด้วย AI ภายใน 1.30 นาที และมีความแม่นยำถึง 90% ย่นระยะเวลาการรอผลตรวจวินิจฉัยของคนไทย ช่วยให้การคัดกรองมะเร็งตับในพื้นที่ห่างไกลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคได้รวดเร็ว  

“การศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในพื้นที่อำเภอบ้านหลวง จ.น่าน ซึ่งอำเภอบ้านหลวง เป็นอำเภอที่มีผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับและท่อน้ำดีมากที่สุดในประเทศไทยและโลก  โดยนำร่องได้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงแล้ว 2,000 กว่าคน จากกลุ่มเสี่ยง 4,000 คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพัฒนา AI ให้มีความแม่นยำมากขึ้น และ AI เป็นเสมือนผู้ช่วยแพทย์ไม่ใช่แพทย์ จะมีการเทรนบุคลากรอื่นๆ ที่ไม่ใช่พยาบาล แพทย์ หรือรังสีแพทย์ เพื่อให้สามารถใช้นวัตกรรม AICEDA Liver  ได้ และจะมีทีมแพทย์และนักรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีการวินิจฉัยและการประมวลผล เป็นการทำงานระหว่างทีมแพทย์และAI”

แนวทางรักษาโรคมะเร็งและท่อน้ำดี

ด้าน พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่าแนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับ จะเริ่มด้วยการประเมินระยะของโรค ซึ่งถ้าเป็นระยะเริ่มต้นหรือระยะแรก ก้อนเล็กๆ จะรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนออก การเปลี่ยนตับ หรือการจี้ทำลายก้อนเนื้อ ระยะเวลารอดชีวิตมากกว่า 60 เดือน หรือ 5 ปี

ส่วนระยะกลาง ก้อนเนื้อจะมีขนาดที่ใหญ่มากขึ้น อาจจะไม่สามารถจี้ทำลายก้อนเนื้อได้ ดังนั้น จะมีการใช้ยาเคมีบำบัดและอุดเส้นเลือด (TACE) หรือ ยารักษามะเร็งตับ ระยะเวลารอดชีวิตมากกว่า 30 เดือน

ขณะที่ระยะลุกลาม ก้อนเนื้อจะขนาดใหญ่ขึ้นและมีการลุกลามไปบริเวณอื่นๆ จะใช้ยารักษามะเร็งตับเพื่อไม่ให้โรคลุกลามเร็วขึ้น และผู้ป่วยจะอยู่ได้มากกว่า 24 เดือน

และระยะสุดท้าย ก้อนเนื้อขนาดใหญ่และลุกลามไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น รักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจของคนไข้

“เมื่อเป็นมะเร็งตับใน 2  ระยะแรกนั้นมีโอกาสที่จะหายขาด แต่พอเข้าสู่ระยะลุกลาม และระยะสุดท้ายต้องยอมรับว่าโอกาสน้อยลง ซึ่งกลุ่มยานวัตกรรม ซึ่งเป็นทางเลือกรักษากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม คือ ยามุ่งเป้า (ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส) และยานวัตกรรม ได้แก่  ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด+ยาต้านการสร้างหลอดเลือด และยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด+ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด  โดยกลุ่มยาดังกล่าวจะมีราคาเฉลี่ยประมาณ หลักแสนบาทต่อเดือน”

ทำไม? ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เข้าถึงยานวัตกรรม

คนไทยยังไม่ได้สิทธิเข้าถึงยามะเร็งตับ

ประเทศไทยมีการใช้ยารักษาโรคมะเร็งตับระยะลุกลามมาตั้งแต่ ปี 2551 โดยมียายับยั้งไทโรซีนไคเนสที่จะช่วยผู้ป่วยมะเร็งตับให้มีชีวิตรอดจาก 6 เดือน เป็น 10 เดือน และปี 2563 มียากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด+ยาต้านการสร้างหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดได้มากขึ้น 19 เดือน  และปี 2565 มีการใช้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด+ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดช่วยผู้ป่วยมีชีวิตรอดได้มากขึ้น 16 เดือน

“สิทธิในการรักษานั้น คนไทยที่ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม มีเฉพาะสิทธิข้าราชการเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงยามุ่งเป้า อย่าง ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส ส่วนยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด+ยาต้านการสร้างหลอดเลือด และยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด+ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด กลุ่มผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาด้วยยาได้ ทั้งที่การรักษาด้วยกลุ่มยานวัตกรรมจะช่วยเพิ่มโอกาสชีวิตรอดแก่ผู้ป่วย”

ปัจจุบันมีการดำเนินการขับเคลื่อน “การจัดตั้งกองทุนมะเร็ง” ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีสิทธิรักษาได้มากขึ้น  แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการระดมสมอง และคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะมีการจัดจัดตั้งกองทุนได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดอีกหลายเรื่อง

“โรคมะเร็งหลายโรคป้องกันได้และการป้องกันดีกว่าการรักษาเพราะต่อให้มีทางเลือกในการรักษาดีขึ้น แต่จะดีกว่าถ้าทุกคนดูแลสุขภาพตนเอง  และหากใครมีความเสี่ยงควรตรวจคัดกรองโรค เนื่องจากหากพบในระยะเริ่มแรกจะสามารถจี้ก้อนออก หรือตัดออกทำให้หายขาดได้ อยากให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะตอนนี้โรคอ้วน หรือการดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้”

ผู้ป่วยมะเร็งตับ จำเป็นต้องเข้าถึงยานวัตกรรม

นพ.จำรัส พงษ์พิศ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลหนองคาย และตัวแทนมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่าการรักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบันผู้ป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษายังค่อนข้างสูง หากผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยยานวัตกรรม จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับครอบครัวทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน  แม้จะมีโปรแกรมสนับสนุนจากบริษัทยาที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

“การที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยานวัตกรรมและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการผลักดันให้ ยาทั้งสองกลุ่มเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งตับมีจำนวนมาก โดยผู้ป่วยในระยะลุกลามมีความจำเป็นต้องใช้ยานวัตกรรม  ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการรักษาทั้งระดับสากลและประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะมีการจัดงานรณรงค์ผ่านโครงการ “Voice of Liver ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม และยังเป็นการส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจ รวมทั้ง การประสานขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตยา เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการรักษา อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม เวลา 09.00 - 12.00 น. ห้อง Auditorium ชั้น 3 อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์