คุกแรกในโลกสำหรับนักโทษ"รักร่วมเพศ" ที่เมืองคูม่า ออสเตรเลีย
ทำไมต้องแยกนักโทษ"รักร่วมเพศ"มาไว้ที่เมืองคูม่า ออสเตรเลีย และมีการจัดการกับคนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศแตกต่างจากนักโทษทั่วไป ปัจจุบันคุกแห่งนี้ยังมีอยู่หรือไม่
เรือนจำ...ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ล้วนแล้วแต่มีความลับหรือด้านมืดซ่อนอยู่ เรือนจำ คูม่า ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่อากาศหนาวเย็นและมีลมแรงที่สุดแห่งหนึ่งในออสเตรเลียก็เช่นเดียวกัน
หลังจากที่ปิดไปนานมากกว่า 50 ปี เรือนจำคูม่า ถูกเปิดใช้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1957 เพื่อใช้ในการขังผู้ชายที่กระทำความผิดฐานรักร่วมเพศโดยเฉพาะ
และยังเชื่อกันว่าคุกในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ถูกใช้เป็นสนามทดลองมนุษย์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การกำจัดคนรักร่วมเพศออกจากสังคม
การรักเพศเดียวกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน เป็นความผิดทางอาญาในรัฐนิวเซาท์เวลส์ จนถึงปีค.ศ. 1984 ที่เริ่มลดทอนโทษของคนรักร่วมเพศลง
รายงานชิ้นหนึ่งในพอดคาสต์ล่าสุดที่ออกอากาศทางวิทยุช่องเอบีซี ยังเชื่อกันว่า คูม่าเป็นเรือนจำสำหรับคนรักร่วมเพศแห่งเดียวในโลก
จนถึงตอนนี้ เจ้าหน้าที่เรือนจำบางคนยังบอกว่า พวกเขาไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมนักโทษที่เป็นพวกรักร่วมเพศจึงถูกแยกขัง
(สภาพห้องเย็บผ้าในเรือนจำปัจจุบัน -ภาพCorrective Services NSW)
เลส สเตรซเซเลคกี้ อายุ 66 ปี เริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่แผนกคุมขังที่เรือนจำ ในปีค.ศ. 1979 และต่อมาได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เรือนจำในเมืองคูม่า เขาเชื่อว่าผู้ต้องขังที่ทำผิดกฎหมายรักร่วมเพศ ถูกส่งไปที่นั่นเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
"คูม่าเป็นสถานที่ที่ให้ความคุ้มครอง เราจะประทับตรานักโทษรักร่วมเพศด้วยคำว่า'ไม่เกี่ยวข้องกับเรือนจำหลัก” สเตรซเซเลคกี้ บอกกับบีบีซี
"พวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงในเรือนจำขนาดใหญ่ เช่น ลอง เบย์(ในซิดนีย์)"
แยกขังเพราะต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่คลิฟฟ์ นิว อดีตผู้คุมเรือนจำอีกคนอ้างว่า นักโทษคดีรักร่วมเพศถูกนำตัวไปคุมขังที่คูม่าด้วยเหตุผลของการไร้มนุษยธรรม
เขาบอกกับพอดคาสต์รายการ The Greatest Menace ว่า นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ถูกส่งเข้ามาที่เรือนจำตลอดเวลา หลังจากที่เรือนจำเปิดใช้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1957
นิวเข้าใจว่า มันเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของเหล่านักโทษ
"พวกเขากำลังพยายามทำให้พวกนักโทษกลับมาอยู่ในเส้นทางที่'ถูกต้อง' ...พวกเขาเชื่อว่าสามารถรักษานักโทษที่มีพฤติกรรมชายรักชายให้หายได้" อดีตเจ้าหน้าที่ เรือนจำคูม่าวัย 94 ปี กล่าว
นิวตั้งข้อสังเกตว่า นั่นยังเป็นเหตุผลที่ผู้ต้องขังถูกแยกขังในห้องขังเดี่ยวด้วย
“คุณจะไม่ขังนักโทษ 2 คนในห้องเดียวกัน… นั่นเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราต้องคอยจับตาดูพวกเขา” นิว กล่าว
(พิพิธภัณฑ์เรือนจำคูม่าในเมืองที่มีประชากรเพียง 7000 คน -ภาพCorrective Services NSW)
คุกแรกในโลกสำหรับนักโทษรักร่วมเพศ
เอกสารทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า เครดิตในการจัดตั้งเรือนจำเพื่อการดังกล่าวโดยเฉพาะถูกมอบให้กับ เรจ ดาวนิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของรัฐนิวเซาท์เวลส์ มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ในปี ค.ศ. 1957 ว่าเขาภาคภูมิใจมากในโครงการของเขา
"ผมไม่เคยเจอเรือนจำที่ไหนในยุโรปหรืออเมริกา ที่นักโทษเป็นคนรักร่วมเพศถูกแยกออกจากนักโทษคนอื่นๆ" ดาวนิ่ง กล่าว
คำแถลงของดาวนิ่งในปีค.ศ. 1958 ระบุว่า เขาเรียกเรือนจำคูม่าว่าเป็น “ทัณฑสถานแห่งเดียวในโลกเท่าที่รู้ที่ถูกสร้างเพื่อใช้ควบคุมตัวผู้กระทำความผิดฐานรักร่วมเพศโดยเฉพาะ”
นักโทษที่เรือนจำคูม่าถูกคุมขัง เพราะเป็นเกย์หรือกระทำอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเกย์
(ภายในเรือนจำคูม่าปัจจุบัน-ภาพ Corrective Services NSW)
กฎหมายใหม่มุ่งปราบปรามรักร่วมเพศ
กฎหมายใหม่ที่เข้มงวดของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในปีค.ศ.1955 ออกมาเพื่อปราบปรามคนที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน โดยเป็นผลมาจากแรงกดดันจากโคลิน เดลานีย์ ผู้บัญชาการตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์
ซึ่งอัยการสูงสุดในขณะนั้นระบุว่า เดลานีย์รู้สึกว่า "มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกกฎหมายสำหรับการเยียวยา หรือรักษา(คนที่เป็นเกย์)เพื่อใช้ต่อสู้กับปีศาจ"
“มาตราใหม่ที่ระบุในกฎหมายรวมถึง'การเชื้อเชิญ' หรือการที่ผู้ชายคนหนึ่งอาจถูกจับกุมเพียงเพราะพูดคุยเล่นกับผู้ชายคนอื่น” แกรรี่ โวเทอร์สปูน นักประวัติศาสตร์บอกกับบีบีซี
"การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเหล่านี้ เป็นการทำร้ายเสรีภาพของผู้ชายที่ถูกคิดว่า มีรสนิยมรักร่วมเพศ" โวเทอร์สปูน กล่าว
ความผิดฐานมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมีโทษจำคุก 14 ปี ความพยายามมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมีโทษจำคุก 5 ปี และที่ถือว่าเป็นการปราบปรามที่รุนแรงขึ้น คือ การเพิ่มข้อความที่ระบุว่า "ไม่ว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าว"
ใช้ตำรวจล่อให้ทำผิด
ทั้งโวเทอร์สปูน และรายการพอดคาสต์ The Greatest Menace อ้างถึงหลักฐานของตำรวจที่ทำหน้าที่เป็น "เจ้าหน้าที่ยั่วยุปลุกปั่น" เพื่อยุยงผู้ชายให้กระทำการรักร่วมเพศ
“พวกเขาจะใช้ตำรวจที่มีหุ่นกำยำล่ำสันวางกับดักบรรดาชายรักร่วมเพศและล่อลวงให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ส่วนมากจะเป็นที่ห้องน้ำสาธารณะ” โวเทอร์สปูน กล่าว
ในปีค.ศ. 1958 รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับสาเหตุและการปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศ โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ จิตเวชศาสตร์ ทัณฑวิทยาและสวัสดิการทางสังคมและศีลธรรมรวมถึงบาทหลวง 2 คน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาวุโส 2 คน และนักวิชาการ 2 คนจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์
(ด้านหน้าของเรือนจำคูม่า -ภาพThe Greatest Menace)
การสอบสวนถูกปกปิด
คณะกรรมการดังกล่าวเรียกเรือนจำคูม่าว่าเป็น "สถาบันพิเศษสำหรับผู้กระทำความผิดข้อหารักร่วมเพศ" ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการสอบสวน โดยดาวนิ่งระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีการประเมินปัญหาอย่างเป็นระบบ และพบแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้แล้ว รัฐบาลเห็นว่าต้องเร่งแก้ปัญหานั้นด้วยความกระตือรือร้น
“คำถามที่จิตแพทย์ถาม เช่น 'อิทธิพลหรือการใช้อำนาจของแม่เป็นสาเหตุ ที่ทำให้คุณไม่ชอบผู้หญิงคนอื่นหรือไม่'
และสรุปว่า 'การที่แม่คอยปกป้องลูกในทุกย่างก้าว เพื่อให้ลูกปลอดภัยและประสบความสําเร็จ'เป็นสาเหตุสำคัญของการมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ" แพทริก แอ๊บบาวด์ นักข่าวและผู้ดำเนินรายการพอดคาสต์ The Greatest Menace ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการทำวิจัยเกี่ยวกับเรือนจำคูม่า กล่าว
“เรารู้ว่าภารกิจในการกำจัดคนรักร่วมเพศของทางการล้มเหลว เพราะรายการของเราเผยให้เห็นว่าผู้ชายรักร่วมเพศยังคงมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องในเรือนจำ บางคนถึงกับยอมทำผิดซ้ำเพื่อกลับไปหาแฟนที่อยู่ในคุก” แอ๊บบาวด์ กล่าว
ไม่มีใครพบรายงานการสอบสวนดังกล่าว ซึ่งแอ๊บบาวด์บอกว่า น่าจะมีข้อมูลหลายอย่างถูกปกปิด
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า มีการหยุดส่งตัวนักโทษคดีรักร่วมเพศไปที่เรือนจำคูม่าเมื่อไหร่ ซึ่งโวเทอร์สปูนบอกว่า เอกสารสำคัญจำนวนมากถูกเคลื่อนย้ายออกไปหรือไม่ก็ถูกทำลาย
กรมราชทัณฑ์และกรมบริการชุมชนและครอบครัวของนิวเซาท์เวลส์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยอ้างถึงสภาวะทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา
แอ๊บบาวด์เชื่อว่า อาจมีการส่งนักโทษที่เป็นรักร่วมเพศไปที่คุกดังกล่าว จนถึงต้นทศวรรษ 1980 โดยอ้างถึงคำแถลงของรัฐมนตรีว่า การกระทรวงราชทัณฑ์ในปี ค.ศ. 1982 ที่ระบุว่านโยบายดังกล่าวยังคงมีอยู่
แอ๊บบาวด์บอกว่า ผู้กระทำความผิดคดีทางเพศ ยังคงถูกส่งไปขังที่เรือนจำคูม่าและนั่นยิ่งทำให้นักโทษที่เป็นเกย์ถูกตีตราเพิ่มขึ้น
ในช่วงปลายศตวรรษที่20 เรือนจำคูม่าถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษที่เป็น นักบวช ตำรวจ นักการเมือง และพวกที่ชอบร่วมเพศกับเด็กหรือนักโทษที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ถ้าถูกขังในเรือนจำทั่วไป ปัจจุบันคุกคูม่าถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษที่เป็นเซเลบริตี้
.............
ที่มา เว็บไซต์บีบีซี