"โพรไบโอติกส์" และ "พรีไบโอติกส์" กินจากไหน...ดีต่อสุขภาพอย่างไร
การแพทย์ยุคใหม่แนะนำให้กิน “โพรไบโอติกส์” ช่วยรักษาลำไส้ สร้างภูมิคุ้มกัน แล้ว “พรีไบโอติกส์” คืออะไร ช่วยดูแลสุขภาพได้อย่างไร
หน้าที่ของลำไส้ช่วยในการดูดซึมอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่า 70% ของภูมิคุ้มกันร่างกายอยู่ที่ลำไส้ แนวทางการป้องกันและรักษาโรคยุคนี้เชื่อว่า การทำงานที่ดีของลำไส้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อไวรัส รวมถึงรักษาภาวะที่ผิดปกติของร่างกาย
ในร่างกายคนมี จุลินทรีย์ อาศัยอยู่ โดยเฉพาะในลำไส้ มีทั้งชนิดที่มีประโยชน์และให้โทษ แพทย์พบว่า จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เรียกว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีเมื่ออยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหารและทำให้เกิดความสมดุลทั้งระบบของร่างกาย
อาหารเพื่อสุขภาพ (Credit: metrohm.com)
จุลินทรีย์ชนิดดี ได้แก่ แบคทีเรียและยีสต์บางชนิด มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับผิวของเยื่อบุลำไส้เพื่อผลิตสารต่อต้าน และกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคได้
เมื่อปี ค.ศ.1905 นักฟิสิกซ์จากบัลแกเรีย Stamen Grigorov พบว่าใน โยเกิร์ต บัลแกเรีย มีแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ต่อลำไส้
ปี 1907 นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลชาวรัสเซีย อีไล เม็ตช์นิคอฟฟ์ (Elie Metchnikoff) ระบุชนิดของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ในขณะที่กำลังกินโยเกิร์ตชนิดดื่ม จากข้อสงสัยที่ว่า ทำไมคนบัลแกเรียนถึงมีอายุยืนนับร้อยปี ทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพอากาศที่โหดร้าย เป็นชาวชนบทฐานะยากจน เขาตั้งชื่อแบคทีเรียชนิดดีว่า Lactobacillus bulgaricus และต่อมาก็ค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย
(Credit: Maria Nachaevai)
คำว่า Probiotics มาจากภาษาละตินและกรีกผสมกัน แปลว่า for life ตั้งขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน Werner Kollath เมื่อปี 1953 เพื่อแสดงว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ดีสำคัญต่อชีวิต
ปราชญ์ชาวกรีก ก็บันทึกว่า ความตายของมนุษย์อยู่ในลำไส้ จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่า อาหารหมักดอง ที่คนโบราณทั่วโลกกินกันนั้น ไม่ได้กินสนุก ๆ เพื่อถนอมอาหาร หรือกินเพื่ออร่อย หากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
กินผักดองบ้าง (Credit: lesmills.com)
ตั้งแต่โยเกิร์ต ชีส ไวน์ เบียร์ ผักผลไม้ดอง โดยค้นพบหลักฐานการทำ อาหารหมักดอง ที่เก่าแก่ที่สุด เช่น เบียร์และชีสของชาวสุเมเรียน และชีสจากนมจามรีในจีน
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ แต่สามารถถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ช่วยเสริมการทำงานของโพรไบโอติกส์
ดองผักกินเอง สะอาดและมีประโยชน์ (Credit: wellbeingmagazine.com)
พรีไบโอติกส์ ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยการเผาผลาญ และต้านโรคบางอย่างได้ เช่น โรคสมองจากโรคตับ, โรคอ้วนภาวะเบตาบอลิกซินโดรม, ลดอัตราเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคมะเร็งลำไส้ , เบาหวานชนิดที่ 2, โรคภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ
อาหารที่มีพรีไบโอติกส์ ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก แต่อาหารเหล่านี้จะถูกย่อยสลายเป็นอาหารของ โพรไบโอติกส์ ช่วยกระตุ้นการทำงานของโพรโอติกส์ให้ดียิ่งขึ้น
(Credit: bestrecipes.com.au)
ได้แก่ หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง อาร์ติโช้ค ถั่วเหลือง ถั่วแดง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ธัญพืชและข้าวไม่ขัดสี กล้วย แอปเปิ้ล และผักผลไม้ที่อุดมไฟเบอร์
อาหารที่มีโพรไบโอติกส์ หรือจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ เช่น ชีส นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ผักดอง กิมจิ ปลาร้า มิโซะ นัตโตะ คอมบูชา น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล ไวน์ เบียร์ ฯลฯ
(Credit: Jakub Kapusnak on Unsplash)
ประโยชน์ของ โพรไบโอติกส์ การมี โพรไบโอติกส์ ที่เพียงพอในลำไส้ช่วยให้เกิดความสมดุล และลดโอกาสการเกิดโรคได้ เช่น ลดการอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด ดูแลระบบย่อยอาหาร รักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย แก้อาการลำไส้แปรปรวน ท้องร่วง ท้องผูก
น้ำผักผสมน้ำแอปเปิ้ล (Credit: taste.com.au)
การแพทย์ปัจจุบันพบว่า ลำไส้เป็นอวัยวะภูมิคุ้มกันที่สำคัญ ช่วยรักษากลไกการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย และเนื้อเยื่อน้ำเหลืองจากลำไส้เชื่อมโยงกับอวัยวะหลายส่วน ได้แก่ ลำไส้-ปอด-สมอง-ผิวหนัง ล้วนทำงานสัมพันธ์กัน หากลำไส้อ่อนแอ ระบบน้ำเหลืองที่เชื่อมโยงกันก็จะอ่อนแอ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง
(Credit: healthyeating.com)
งานวิจัยยุคใหม่ระบุว่า โพรไบโอติกส์ และ พรีไบโอติกส์ มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ยังเชื่อว่าช่วยลดอัตราเสี่ยงโรคเกี่ยวกับสมอง โรคภูมิแพ้เกี่ยวกับผิวหนัง โรคซึมเศร้า ฯลฯ จากความเชื่อว่า เมื่อลำไส้ดี ระบบการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายจะดีไปด้วย
ยุคเร่งรีบ มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายรูปแบบ บางยี่ห้อเป็นสูตรผสมมีทั้ง พรีไบโอติกส์ และ โพรไบโอติกส์ ในรูปแบบผงแห้ง แคปซูล ยาเม็ดเคี้ยว ฯลฯ ควรศึกษารายละเอียดให้ดีหรือปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภค เพราะถ้ากินมากเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียง
(Credit: whitecoat.com)
ทางเลือกคือ กินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ อย่างสมดุล กินหมุนเวียน ไม่กินซ้ำซาก กินอาหารหมักดองพอดี ๆ ไม่มากเกินไป โดยเฉพาะอาหารหมักดองประเภทมึนเมา ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพยายามไม่เครียด