นโยบายการอ่านหนังสือ 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

นโยบายการอ่านหนังสือ 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

การอ่านเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาชีวิต แต่ทุกวันนี้เด็กๆ ยังเข้าไม่ถึงหนังสือ และไม่มีหนังสือดีๆ ให้อ่าน แล้ว 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. มีวิสัยทัศน์และนโยบายเกี่ยวกับหนังสืออย่างไร

ในเทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 หรือ SUMMER BOOK FEST 2022 ได้จัดงานเสวนา “(ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม. อ่านอะไร : วิสัยทัศน์เรื่องการอ่านและนโยบายเกี่ยวกับวงการหนังสือ” ณ สามย่าน มิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2565

นำทีมโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ , วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, สกลธี ภัททิยกุล และ น.ต.ศิธา ทิวารี

  • ลดความเหลื่อมล้ำในการอ่านหนังสือ

สกลธี ภัททิยกุล กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในการอ่านหนังสือต้องหมดไป

“ผมเป็นคนรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ชอบความรู้สึกที่ได้จับหนังสือที่เป็นกระดาษ การดมกลิ่น ไม่ชอบอ่านในไอแพด ผมเป็นคนที่รักษาหนังสือมากๆ ก่อนซื้อจะดูแล้วดูอีก เมื่อโตขึ้นการอ่านหนังสือก็เปลี่ยนไปตามวัย

นโยบายการอ่านหนังสือ 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

วัยเด็กก็อ่านสารานุกรมต่าง ๆ วัยประถมก็อ่าน การ์ตูน มังงะ โดเรมอน ซึบาสะ ดรากอนบอล วัยทำงานอ่านงานนิ้วกลม หนุ่มเมืองจันท์ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ผมจบกฎหมายมา แต่ชอบอ่านแนวเศรษฐศาสตร์ 

สำหรับ นโยบายเรื่องการอ่านในกทม. ผมตั้งใจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในการอ่านหนังสือหมดไปให้ได้ ทำยังไงให้คนรักการอ่าน โดยเฉพาะเด็กๆ ให้เข้าถึงหนังสือได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะเน้นงบประมาณส่วนนี้ก่อน ผู้ว่าฯหลายท่านเน้นสร้างสาธารณูปโภค สร้างถนน ทำท่อระบายน้ำ แต่งบประมาณทำห้องสมุดซื้อหนังสือถูกละเลย เพราะงบประมาณไม่พอ 

ผมจะเป็นผู้ว่าฯกทม.คนแรกที่หาเงินมาเพิ่มเติม จะทำให้เราเอาไปใช้ได้มากขึ้น สอง.ผมจะเอาหนังสือหรือห้องสมุดเข้าไปหาชุมชน กระจายความเจริญทั่วกทม. เพิ่มห้องสมุดให้ครบ 50 เขต พื้นที่ที่ใช้ร่วมกันก็ทำให้เป็นมัลติฟังก์ชั่น แสดงงานศิลปะได้

จะลดความเหลื่อมล้ำด้านการอ่านด้วย สกลธีโมเดล ยกเครื่องห้องสมุดกทม.34 แห่ง ปรับพื้นที่ให้มีความน่าอ่านหนังสือมากขึ้น เอื้อให้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าเด็ก คนสูงวัย คนพิการ ขยายเวลา 24 ชั่วโมง จ้างงานผู้สูงอายุมาเป็นบรรณารักษ์

คุณภาพของหนังสือ ต้องเป็นหนังสือคัดสรรแล้ว และจัดกิจกรรมให้คนรักหนังสือได้พบปะกัน การอ่านสามารถสร้างเศรษฐกิจได้ ผมเคยเป็นรองผู้ว่ากทม.มา 4 ปี แถวนั้นมีร้านหนังสือเวิลด์แอทเดอะคอร์เนอร์ (World at the corner) มาตั้ง ทำให้ร้านรอบ ๆ ขายได้มากขึ้น

  นโยบายการอ่านหนังสือ 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

  • การอ่านสำคัญทั้งออนไลน์และออฟไลน์

น.ต.ศิธา ทิวารี มีความคิดเห็นว่า รัฐต้องสนับสนุนการอ่านทั้งออนไลน์ ออฟไลน์

“ผมเป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ไอพ่น F 16 มาก่อน ผมอ่านหนังสือเยอะมาก เพราะการขับเครื่องบินยุ่งยากกว่าการขับรถ จะเปิดอุปกรณ์สักตัว ต้องรู้ระบบการใช้งานว่าเป็นแบบไหน ต้องเรียนภาควิชาการ 2 เดือนถึงจะบินได้

ต้องทำความเข้าใจก่อน ทุกๆ เช้า นักบินรุ่นพี่จะมาทบทวนแล้วถาม ทำให้ต้องอ่านในตำราอย่างลึกซึ้ง แล้วนำไปใช้ในการทำงานด้วยการบาลานซ์สองส่วนนี้เข้าด้วยกัน เราไม่ปิดกั้นวิทยาการใหม่ๆ และไม่อคติกับเรื่องเก่า ๆ

ทั้งกทม.มีห้องสมุด 170 แห่ง เป็นของกทม. 30 กว่าแห่ง หนังสือที่อนุรักษ์ก็ต้องมี หนังสือเพื่อการเรียนรู้พัฒนาประเทศก็ต้องมี ปัจจุบันความรู้อยู่บนออนไลน์หมดแล้ว ภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ในเรื่องการศึกษา ถ้าเราจะทำให้เด็กมีความเป็นเลิศด้านการศึกษา ให้เขาโตไปแล้ว ส่งเสริมประเทศให้เจริญขึ้นได้ เราต้องทำเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้ก่อน

ถ้าโรงเรียนกทม.มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนราษฎร์ เด็กๆ ก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงเรียนเป็นชั่วโมงๆ ลูกต้องไปโตในรถ กินในรถ ขับถ่ายในรถ

ทุกประเทศที่เจริญแล้ว ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนในท้องถิ่น เพราะทุกโรงเรียนเท่าเทียมกัน โรงเรียนที่ดีที่สุด คือ โรงเรียนใกล้บ้าน แก้ปัญหารถติดได้

ส่วน เนื้อหาที่สอน ต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องเรียนวิชาที่ทำให้ AI กลายเป็นเครื่องประกอบอาชีพของเด็กคนนั้นเมื่อเขาโตขึ้น ปัจจุบันเด็กเล็กๆ เขาอยากรู้อะไร ก็เรียนรู้ด้วยการเปิดยูทูบ เขาเกิดมากับโลกโซเชียล โลกดิจิทัล

รร.ต้องสอนให้เยาวชนสามารถเติบโตไปได้ทั่วโลก ดิจิตอลอีโคโนมีจะครองโลกในอนาคต ถ้าเรายังช้าอยู่เราไม่ทัน ทั้ง 3 ส่วนคือ 

1) เรื่องหนังสือ ต้องอนุรักษ์และให้เด็กเข้าถึงวิชาการด้านอื่นๆ มากขึ้น 

2) เรื่องการอ่าน ทุกวันนี้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่เนื้อหาต้องนำไปใช้ได้ ไม่ใช่อ่านแต่ดราม่า 

3) เรื่องการเรียนการสอน ต้องเสมอภาค รร.ที่ดีที่สุดต้องอยู่ใกล้บ้าน มีความทัดเทียมทางการศึกษาก่อน

นโยบายการอ่านหนังสือ 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

  •  เสรีภาพการอ่านในโรงเรียน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร มองว่า วัฒนธรรมการอ่านจะเข้มแข็งขึ้น ถ้าทุกคนมีเสรีภาพ

นโยบายการอ่าน ต้องปรับให้เป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซ สอดรับกับวิถีชีวิตมากขึ้น เพิ่มหนังสือในห้องสมุดชุมชน ขยายเวลาเปิดปิด ทำห้องสมุดเคลื่อนที่ ให้บริการอีบุ๊ค ไวไฟและชาร์จไฟฟรี รวมถึงการจัดงานหนังสือ ประชาสัมพันธ์หนังสือต่างๆ

เราเอาชนะ วาทะกรรม ที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดต่อปีมาได้แล้ว เราต้องทำให้คนไทยเข้าถึงหนังสือมากขึ้น มีโอกาสเลือกหนังสือมากขึ้น

เราต้องแก้ วัฒนธรรมการอ่าน ที่อ่านแล้วไปสอบ, การอ่านเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนด้วยการบังคับอ่านหนังสือหน้าที่พลเมือง

การวิพากษ์วิจารณ์หนังสือหรือวรรณกรรมสักเรื่อง นักอ่านต้องมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผย เราจะไม่สามารถแก้วัฒนธรรมการอ่านที่อ่อนแอในสังคมใดๆ ได้เลย ถ้าเราไม่เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง

นโยบายที่สำคัญที่สุดของกทม.คือ การทำให้วัฒนธรรมการอ่านของเราแข็งแรงขึ้น ผ่านกิจกรรมการสร้างบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ เปิดกว้างให้ Book Club ต่างๆ สามารถพูดถึงหนังสือได้อย่างเสรี มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์

จุดเริ่มต้นของเสรีภาพควรเริ่มต้นที่โรงเรียนสังกัดกทม. 

ข้อแรก... ผู้ว่าฯกทม.ต้องกล้าประกาศให้ปราศจากการบูลลี่ใดๆ ในโรงเรียน ให้เคารพความแตกต่างหลากหลาย เช่น เรื่องเพศวิถี     

ข้อสอง...เรื่องการใช้คำเหยียดหยามในร่างกาย ไม่เคยมีการบอกว่า เด็กๆ มีสิทธิและเสรีภาพอะไรในโรงเรียน ถ้าเราทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ได้ สังคมนี้ก็ไม่มีเสรีภาพ

อีกเรื่องหนึ่ง ครูในรร.กทม.ไม่มีสิทธิ์เลือกหนังสือเรียนและหนังสือเข้าห้องสมุดเอง ต้องเขตซื้อให้ แล้วได้หนังสืออะไรมาก็ไม่รู้ ยังไม่นับว่าหนังสือเรียนมาช้ากว่ากำหนดอีก จะสอบอยู่แล้ว หนังสือเพิ่งมา ซึ่งกทม.ไม่เคยใส่ใจเลย

การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องระเบียบในโรงเรียน ทรงผม, การแต่งกาย, นโยบาย, การจัดการเรียนการสอน ทั้งครูและนักเรียนต้องมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์

ทุกวันนี้บอร์ดในโรงเรียนกทม.ต้องมีรูปพลเอกประยุทธติดไว้ทุกมุมทุกบอร์ดในโรงเรียน แล้วคุณจะเอาความคิดสร้างสรรค์เสรีภาพมาจากไหน

ในเรื่อง การเรียนการสอน โรงเรียนในกทม.ต้องลดการสอนเชิงเนื้อหาลง ลดการประเมินผลที่ใช้การสอบ เพื่อคืนเสรีภาพให้นักเรียนไปค้นหาตัวเอง

คืนความคิดสร้างสรรค์ให้กับครูในการจัดกิจกรรม ไปพัฒนาทักษะชีวิตให้กับนักเรียนนอกหลักสูตร กทม.ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่าย มีคูปองตาสว่างแจกให้นักเรียนให้ไปค้นหาตัวเอง

ให้ไปร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร ซื้อหนังสือที่เขาอยากอ่าน เพื่อให้เขาค้นหาตัวเองให้เจอว่าเขาอยากจะทำอะไร สุดท้าย การมีเสรีภาพ จะทำให้วัฒนธรรมการอ่านแข็งแรงขึ้น

นโยบายการอ่านหนังสือ 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

  • การอ่าน คือ ต้นทุนพัฒนาสมอง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า การอ่านคือ ต้นทุนทางสมอง สามารถเปลี่ยนชีวิตได้

"การอ่าน เป็นเรื่องสำคัญ ชีวิตผมมีวันนี้ได้ ก็เพราะเรื่องการอ่าน การอ่านเป็นการเพิ่มวิธีคิด ปัจจุบันเราไปเน้นเรื่องการศึกษาเยอะ คือการเรียนที่คนอื่นกำหนดให้ ไม่ว่าหลักสูตรอะไร ปริญญาตรี ประถม มัธยม ตำราทั้งหมดมีคนกำหนดให้เรา

จริงๆ แล้ว เราเรียนรู้ หาความรู้ด้วยตัวเองจากสิ่งที่เราสนใจ การอ่านเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ถ้าไม่มีการอ่าน ไม่มีความรู้ อย่าไปคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ถ้าคุณไม่มีต้นทุนอยู่ในสมอง คุณเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว คุณจะเปลี่ยนการกระทำต้องเริ่มจากสมองก่อน

ถามว่ากทม.ทำอะไรได้บ้าง ผมเห็นเรื่องหนึ่ง มันเปลี่ยนชีวิตคนได้ ห้องสมุดที่สวยงามที่สุดในกทม.อยู่ที่ไหน ไม่ใช่ TCDC แต่เป็นห้องสมุดสิกขาเอเซีย ที่ชุมชนแออัด 70 ไร่ กลางคลองเตย

เป็นห้องสมุดเล็ก ๆ เหมือนโอเอซิสของเด็กเยาวชน ทุกเสาร์อาทิตย์จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งไปเล่นตู้เกม อีกกลุ่มหนึ่งจะอยู่ที่ห้องสมุดนี้ แล้วมีอาสาสมัครชาวต่างชาติมาสอนภาษาให้เด็ก นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตคนได้

สิ่งแรกเลย กทม.ต้องมี ห้องสมุดที่มีคุณภาพทุกเขต ปัจจุบันเรามีห้องสมุดกทม.อยู่ 36 แห่ง แต่คุณภาพไม่ดี ที่ห้องสมุดแห่งหนึ่ง สวยมาก ไม่มีสัญญาณไวไฟ บนชั้นสองมีกล่องที่สถานทูตอินเดียส่งของเกี่ยวกับมหาตมะคานธีมาให้ แต่ถูกทิ้งไว้ในหลืบ ไม่มีคนสนใจ มันต้องให้ความสนใจ

ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ห้องสมุดโมบายเคลื่อนที่ของกทม.มี 7 คัน เสียไป 3 คัน เหลืออยู่ 4 คัน แล้วทำไมเรามีอุโมงค์สองหมื่นล้านได้ 

อันดับแรก...ต้องมีห้องสมุดที่มีคุณภาพ รวมถึงห้องสมุดโมบายที่เข้าถึงเด็กทุกคน 

อันดับสอง...เด็กเล็ก กรมอนามัยมีลิสต์หนังสือ 100 เล่มให้เด็กก่อนวัยเรียน

ถ้ามีเด็กแรกเกิด เราจะให้ไปเลย เป็นต้นทุนพ่อแม่ 3 เล่ม พออ่านเบื่อแล้วเอามาเปลี่ยนที่ห้องสมุดหรือที่ศูนย์เด็กเล็กของกทม.ให้เขามีหนังสือติดบ้าน พ่อแม่เอามาสอนเด็กได้ ถ้าเขาสนใจเผลอ ๆ แป๊บเดียวอ่านหมดครบ 100 เล่ม

อันดับสาม...โลกเปลี่ยนไป ไม่ต้องไปยืมหนังสือเป็นเล่ม ๆ แล้ว กทม.เปลี่ยนเป็น E Library ให้คนกทม.สมัครสมาชิกออนไลน์ ยืมหนังสือไป 7 วัน หมดอายุไม่ต้องมาคืน

อย่างที่ TCDC ก็มีห้องสมุดออนไลน์ ช่วยประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทาง ช่วยขยายโอกาสประสบการณ์ที่มีคุณค่าขึ้นได้

นี่คือแนวคิดการทำห้องสมุด เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนโลกได้ ต้องเปลี่ยนที่ความคิด

ถ้าคุณไม่มีต้นทุน ไม่มีความคิด ไม่มีข้อมูลในการคิด คุณไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตได้

กทม.ต้องตั้งใจจริงทำเรื่องพวกนี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ห้องสมุดเป็นเรื่องที่ลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ ใช้เวลาแค่ 4 ปีก็เห็นผล เปลี่ยนแปลงได้ทันที 

มีอีกเรื่องหนึ่ง “บ้านหนังสือชุมชน” เป็นตู้คอนเทนเนอร์ มีให้เห็นที่ลานกีฬาพาร์ค ถนนพระรามหก, ชุมชนบ้านครัว หลายชุมชนมีแล้ว มีโต๊ะให้เด็กมาทำการบ้าน อ่านหนังสือ แล้วก็มีพี่เลี้ยงมาช่วยดู"