เปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. "เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

เปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. "เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

เวทีนี้รวมผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มากที่สุดงานหนึ่ง 24 คน แต่กลับไม่ให้จัดงานในพื้นที่สาธารณะ ต้องย้ายไปจัดในพื้นที่ปิด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ตรงกับวัน เสรีภาพสื่อมวลชนโลก ได้มีการจัดงาน ‘กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เวทีเปิดแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

จัดโดย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

นิสิตรีคอเดอร์, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, มูลนิธิอิสรชน, กลุ่มเส้นด้าย, Mob Data Thailand, สำนักข่าว The Reporters, ข่าว 3 มิติ และ AIS PLAY เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 24 คน

แต่กลับถูกสำนักงานเขตปทุมวันแจ้งมาในเวลา 18:00 น.ว่าไม่ให้ใช้สถานที่ ลานหน้าหอศิลป์กทม. ผู้จัดงานจึงต้องย้ายไปจัดในพื้นที่อื่น

เปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. \"เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง\"

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters กล่าวว่า ยืนยันได้ว่า ขออนุญาตตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว ทั้งการขอเช่าพื้นที่บริเวณลานหน้าหอศิลป์ การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจาก สน.ปทุมวัน เมื่อได้รับใบอนุญาตจากตำรวจ ก็นำไปยื่นกับสำนักงานเขตปทุมวัน ประกอบกับมาตรการโควิด-19

“แต่ในทางปฏิบัติ ได้รับแจ้งในเวลาที่การจัดงานใกล้จะเริ่มขึ้นแล้วว่า ไม่อยากให้เราจัดงาน เมื่อวานนี้เวลา 18:00 น. เป็นเหตุให้เราไม่สามารถหาพื้นที่เปิดเหมือนหอศิลป์ฯ ได้ทัน”

"""""""""

ในงานนี้นอกจากย้ายสถานที่แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้สมัคร(ผู้ว่าฯกทม.)ที่จะขึ้นเวทีนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเหลือเพียงจำนวน 23 คนจากทั้งหมด 24 คน ยกเว้น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งติดภารกิจในช่วงเวลาดังกล่าว

ยังไม่ทันได้เริ่มงานก็ถูกปิดกั้นการใช้พื้นที่สาธารณะเสนอความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแล้ว นับเป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้สมัคร(ผู้ว่าฯกทม.)คนต่อไปเช่นเดียวกัน

เปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. \"เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง\" ชัชชาติ สิทธิพันธ์

  • เมืองที่เป็นมิตร และสิทธิมนุษยชน?

หลังจากผู้สมัคร(ผู้ว่าฯกทม.)ได้นำเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนครบทั้ง 23 คนแล้ว

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว รองผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดเวทีในวันนี้ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองที่คำนึงต่อคนทุกภาคส่วน เป็นเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“เมืองต้องยึดหลักการสิทธิมนุษยชน การทำงานของผู้บริหารเมือง ต้องสามารถตรวจสอบได้ ถ้านโยบายขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เมืองก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน

เป็นเมืองที่วางเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ทั้งภายในองค์กรและการบริหารจัดการเมือง นโยบายต่างๆ รวมถึงการศึกษาที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

เมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เมืองที่ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เป็นเมืองปรับโครงสร้างของกฎหมายให้เป็นมิตรกับหลักการสิทธิมนุษยชน ผู้ว่าราชการต้องเอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิด้านอื่นๆ ได้จริง”

ทางด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชน จะต้องจัดทำระบบข้อมูลที่เอื้อต่อการทำงาน ให้ผู้ว่าฯมองเห็นทั้งปัญหาและความต้องการของประชากรทุกกลุ่ม

“ใช้ดุลยพินิจที่สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อได้เป็นผู้ว่าราชการแล้ว หวังว่าท่านจะนำข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องพื้นที่สาธารณะ

การดูแลคนทุกกลุ่ม การดูแลคนไร้บ้าน การให้ประโยชน์กลุ่มคนจนเมือง รวมถึงประชากรแฝง ขอให้เปิดเผยว่า ข้อจำกัดนั้นคืออะไร ปัจจุบันกลไกการบริหารจัดการในกรุงเทพฯไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบราชการไม่มีการติดตามและการประเมิน (Monitoring & Evaluation)”

ขณะที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากรับฟังจากผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ทั้ง 23 คน ไม่ได้ยินการพูดถึงคนอีกหลายกลุ่ม

“เช่น กลุ่มคนที่ต้องการกฎหมายทำแท้งปลอดภัย, บุคคลผู้ลี้ภัยในเมือง, กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ, แรงงานนอกระบบ, กลุ่มที่ได้รับความรุนแรงทางการเมือง เช่น ครอบครัวเด็กชายวาฤทธิ อายุ 15 ที่โดนยิงเสียชีวิต ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในทางคดี”

เปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. \"เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง\" รสนา โตสิตระกูล

  • สิทธิมนุษยชน ความท้าทายของผู้ว่าฯกทม.

ผูู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หลายท่าน มีความคิดที่ต่างกันอย่างไร

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร(ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สิทธิการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง การจัดเตรียมห้องสุขา การดูแลกล้องวงจรปิด ถือเป็นเรื่องพื้นฐาน

“ยังมีอีก 2 เรื่องที่ควรต้องทำ คือ การเปิดพื้นที่ของหน่วยงานราชการในสังกัดกรุงเทพฯให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นกลาง โดยทำงานร่วมกับนักข่าวพลเมืองและภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้สิทธิของประชาชนได้รับการปกป้อง

ที่ผ่านมา พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ถูกใช้เป็นกฎหมายเอาผิดกับผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ทั้งที่ พ.ร.บ.นี้ควรใช้อำนวยความสะดวกเรียบร้อยให้แก่ผู้คนในเมือง ใช้จัดการกับสายไฟระโยงระยาง ตู้คอนเทนเนอร์ รั้วลวดหนามหีบเพลง แล้วยังมีการหยุดเดินรถ BTS ในวันที่มีการชุมนุมของประชาชน ว่าทำให้กรุงเทพมหานครเสียค่าปรับและริดรอนสิทธิในการเดินทางของประชาชน”

ทางด้าน สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัคร(ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 3 (อิสระ) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเอื้ออำนวยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมอย่างเต็มที่ เพราะตนเองเคยใช้พื้นที่สาธารณะในการเรียกร้องสิทธิมาก่อนเช่นกัน

“เราต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิเท่าที่กฎหมายให้ทำได้ แต่ถ้ากฎหมายไม่ให้ทำ ต้องรับผลของการกระทำ ผมไปสู้คดีมา 7-8 ปีกว่าจะหลุดพ้น การใช้พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯไม่ควรเจาะจงในการใช้ประโยชน์ลักษณะใดตายตัว

เช่น สวนสาธารณะไม่ใช่สถานที่ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ด้วย เช่น แสดงงานศิลปะ จัดกิจกรรมดนตรี ทำได้ในโซนที่ไม่เบียดเบียนกิจกรรมของคนที่ใช้สวนสาธารณะนั้น”

เปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. \"เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง\" ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ส่วน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัคร(ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สนับสนุนการใช้สิทธิในการชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

“หากได้เป็นผู้ว่าฯจะไม่มีเรื่องสองมาตรฐาน พร้อมดูแลทุกคนอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต้องเป็นสิทธิพื้นฐานของคน กทม. กล้อง CCTV ควรเชื่อมด้วยระบบ WiFi จากการลงพื้นที่กว่า 50 เขต พบว่า คนกรุงเทพฯมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกัน

อยากผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงการบริการที่ฟรี ทั่วถึง เท่าเทียม ให้ประชาชนลุกยืนขึ้นอย่างหนักแน่นมั่นคง ก่อนจะวิ่งไปทิศทางที่ต้องการ”

ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัคร(ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 (อิสระ) กล่าวว่า การจัดเตรียมพื้นที่สาธารณะให้มีการชุมนุม โดยพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 9 หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมได้

“ผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาตตำรวจตามหมวด 2 เช่น พื้นที่ลานคนเมือง สวนลุมพินีบางส่วน สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น หรือสวนสาธารณะอื่นๆ ได้ กระทั่งสามารถจัดการพื้นที่การชุมนุมให้มีตลาดหรือการแลกเปลี่ยนพูดคุยปราศรัย

เราควรทำให้เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของการพูดคุยเวลาที่มีความเห็นแตกต่างกัน หน้าที่เราคือดูแลประชาชน ไม่ว่าความคิดต่างจากเราหรือรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน คนที่มาจากต่างจังหวัดเป็นกำลังสำคัญของกรุงเทพฯ

กทม.ต้องร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ และ พอช. ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาคนจนเมืองไม่ได้ เพราะไม่ใส่ใจปัญหาคนจน สนใจแต่เมกะโปรเจคต์ นี่คือความสำคัญของเมือง คือเส้นเลือดฝอยของเมือง เราต้องพัฒนาให้เข้มแข็งมากขึ้น”

ขณะที่ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัคร(ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เราต้องรับฟังข้อเสนอของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง เช่น แรงงานนอกระบบ ผู้เรียกร้องให้มีการทำแท้งปลอดภัยและถูกกฎหมาย

“เขาจะต้องมีสิทธิในความเป็นคนในความเป็นมนุษย์ อัตลักษณ์ที่แตกต่าง ต้องได้รับการดูแล หลายสิ่งหลายอย่างที่กรุงเทพฯทำมา เช่น สกายวอล์ค เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม คนพิการมองว่าสกายวอล์คเป็นเหมือนอนุสรณ์สถานของความความอดสู เขาขึ้นไปใช้ไม่ได้

กรุงเทพฯควรคำนึงถึงคนพิการให้สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บนแนวคิด Universal Design จึงจะสามารถบอกได้ว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกวันนี้เราทิ้งไว้ข้างหลังหมดนะครับ”

เปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. \"เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง\" โฆษิต สุวินิจิต

  • การกระจายอำนาจและงบประมาณ

ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หลายคนเสนอเรื่องนี้อย่างไร

สกลธี กล่าวว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ภารกิจแรกคือการกระจายงบประมาณให้มากที่สุด ที่ผ่านมาไม่มีการพัฒนาพื้นที่รอบนอกกทม.เท่าที่ควร ผู้ว่าฯต้องกระจายความเจริญ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนนอกเมืองเท่าเทียมกับคนในเมือง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า จะไม่ปล่อยปละละเลย ผังเมืองให้เละเทะอย่างที่ผ่านมา กทม. ต้องเป็นเมืองที่ดูแลให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

วิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพฯผลักภาระให้ประชาชน ปัญหาเกิดจากการละเลยกติกาที่เป็นธรรม ประชาชนต่อสู้กันเอง สุดท้ายกทม.ก็ใช้การจัดระเบียบไล่รื้อ

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัคร(ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 7 (อิสระ) กล่าวว่า ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯเปลี่ยนแน่ หากหยุดโกงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

“จะมุ่งทำนโยบาย 50 ล้าน 50 เขต ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบโครงการแก้ปัญหาในเขตตัวเอง เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สำรวจเหตุแห่งปัญหา ดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาให้ตรงจุด แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินนโยบายของผู้ว่าฯคือความเป็นอิสระจากอำนาจต่างๆ”

ทางด้าน โฆษิต สุวินิจิต ผู้สมัคร(ผู้ว่าฯกทม.) หมายเลข 24 (อิสระ) กล่าวว่า ผู้ว่าฯต้องเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

“นายกฯสั่งผมไม่ได้ ใครก็สั่งผมไม่ได้ ผมเป็นอิสระ ผมมาจากประชาชน”