"ไมตรี ลิมปิชาติ" จากนักเขียนสู่จิตรกร ผู้วาดภาพทุกวันด้วยความสนุก
เส้นทางชีวิต "ไมตรี ลิมปิชาติ" จากนักเขียนระดับตำนาน สู่การเป็นศิลปินวาดภาพในวัยเกษียณ.. วาดตามที่ใจอยากวาด วาดรูปทุกวันอย่างสนุกสนาน มีตัวละครเป็นดอกไม้ ใบหญ้า ต้นไม้ ป่าเขา สายน้ำ และภูมิทัศน์
นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมระดับตำนานมายาวนาน กระทั่งช่วงวัยพ้นเกษียณ นักเขียนชั้นครู "ไมตรี ลิมปิชาติ" ลดการจับปากกาลง และหันมาจับพู่กันวาดภาพ อันเป็นอีกหนึ่งความรักที่มีมาตั้งแต่เด็ก และวาดมาจนถึงวันนี้ ที่เจ้าตัวมีอายุ 80 ปีแล้ว..
ไมตรี ลิมปิชาติ เป็นชาวนครศรีธรรมราช มีใจรักการอ่านและการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2501 ตอนแรกอยู่หอ แต่ตัดสินใจย้ายไปอยู่วัดตามคำชวนของเพื่อน เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่ายจากค่าเช่าหอเดือนละ 250 บาท เป็นจ่ายค่าไฟให้วัดแค่เดือนละ 6 บาทแทน
สมัยเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ ความรักในการวาดรูปเป็นแรงผลักดันให้ไปสอบเข้าเพาะช่าง ถึงจะสอบได้ แต่ก็ไม่ได้เรียนเพราะที่บ้านไม่ให้เรียน จึงไปเรียนหลักสูตรรอบบ่ายที่ รร.วัดสุทธิวราราม ก่อนจะไปเข้าโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (ชื่อสมัยนั้น) ที่เลือกเรียนที่นี่ก็เพราะเพื่อนบอกว่ามีสอนวาดรูปด้วย เข้าไปเรียนจริงๆ มีสอนวาดเขียนเหมือนกัน แต่เป็นการเขียนแบบอาคาร
อย่างไรก็ดี ความสนใจในการวาดรูปเริ่มจางไป เนื่องจากผลงานเขียนเริ่มเป็นที่ยอมรับและสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลีลาการเขียนเรื่องสั้น ด้วยสำนวนภาษาที่เรียบง่าย กระชับ มีตัวละครที่ดูมีชีวิตสมจริงและกลวิธีการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม จึงทำให้ผลงานที่ส่งไปได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารชื่อดัง อาทิ ฟ้าเมืองไทย สตรีสาร ชาวกรุง ลลนา สกุลไทย กุลสตรี สยามรัฐ ประชาชาติ ฯลฯ และเป็นคอลัมนิสต์ให้หัวหนังสือมากมาย ไม่เว้นแม้แต่สื่อด้านกีฬาอย่าง สยามกีฬา นอกจากนี้ไมตรียังมีผลงานนวนิยาย สารคดีท่องเที่ยว ไปจนถึงนิทานสำหรับเด็ก
หนังสือ "คนอยู่วัด" (ภาพ : เฟซบุ๊ค ไมตรี ลิมปิชาติ)
รวมเรื่องสั้นชุดที่โดดเด่นที่สุดคือชุด “คนอยู่วัด” ซึ่งนำเอาประสบการณ์สมัยเป็นเด็กวัดมาถ่ายทอดได้อย่างน่าติดตาม ต่อมาจึงกลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 40 ครั้ง
เมื่อผลงานเขียนเป็นที่ยอมรับและเริ่มมีผู้ติดตาม ทำให้ไมตรียึดอาชีพนักเขียนเป็นอีกอาชีพหนึ่ง ควบคู่ไปกับงานประจำที่การประปานครหลวง ซึ่งทำต่อเนื่องมาจนเกษียณออกมาในตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ การประปานครหลวง
หลังเกษียณอายุราชการ ไมตรียังคงมีผลงานเขียนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันในวัย 80 ปี ไมตรีรั้งตำแหน่งคอลัมนิสต์ที่อาวุโสที่สุดประจำหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และหนังสือในเครือมติชน อีกด้วย
ตลอดการทำงานในฐานะคอลัมนิสต์ นักเขียนสารคดีท่องเที่ยว และผู้บริหารระดับสูง ทำให้ไมตรีได้รับเชิญให้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้มีโอกาสเห็นทิวทัศน์สวยๆ ในหลากหลายทวีป
ในช่วงไม่กี่ปีก่อนเกษียณ ไมตรีได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ไปประเทศสหรัฐอเมริกากับคุณสุเทพ สังข์เพ็ชร เพื่อนสนิทที่เป็นศิษย์เก่าเพาะช่าง และได้รับการรับรองจาก ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติที่ไปตั้งรกรากที่ลอสแองเจลิส
ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน อาจารย์กมลและคุณสุเทพหยุดแวะข้างทางเพื่อวาดรูปบ่อยครั้ง จุดประกายความอยากวาดรูปขึ้นอีกครั้งในความรู้สึกของนักเขียนท่านนี้ จนกระทั่งเมื่อหมดภาระจากงานประจำ และจากแรงยุของเพื่อนศิลปินที่บอกให้วาดอะไรก็ได้ ตามที่ใจอยากวาด และยังพาไปซื้อผ้าใบและอุปกรณ์การวาดรูปมาให้ด้วย ไมตรีในวัยเกษียณจึงได้เริ่มวาดรูปอย่างที่ใจต้องการอีกครั้ง เป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขและได้แบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่นด้วย
เมื่อมีเวลาอย่างเต็มที่ ไมตรีจึงวาดรูปทุกวันอย่างสนุกสนาน และเริ่มจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวเป็นครั้งแรกราวปีพ.ศ. 2542 นับมาจนถึงนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 9 แล้ว
นิทรรศการเดี่ยว “แต้มสีให้ป่าสวย” เป็นผลงานศิลปะที่มาจากจินตนาการบวกกับความรักในธรรมชาติสีสันสดใส มีตัวละครเป็นดอกไม้ ใบหญ้า ต้นไม้ ป่าเขา สายน้ำ และภูมิทัศน์อีกมากมาย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า คงจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะจัดเอง แต่จะยังไม่หยุดวาดรูป เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการจัดแสดง โดยจะมอบผลงานให้องค์กรที่สนใจนำไปจัดแสดงเพื่อหารายได้เพื่อการกุศลและมีส่วนแบ่งให้ศิลปินเป็นค่าสีและอุปกรณ์ได้วาดรูปต่อไป
โดยนิทรรศการดังกล่าว สิ้นสุดการจัดแสดงแล้ว แต่ผู้สนใจยังติดต่อเพื่อสนับสนุนผลงานศิลปะของศิลปินได้ที่ Facebook: ICONSIAM