"วันวิสาขบูชา 2565" ตรงกับวันไหน เป็น "วันหยุด" หรือไม่? เช็กที่นี่

"วันวิสาขบูชา 2565" ตรงกับวันไหน เป็น "วันหยุด" หรือไม่? เช็กที่นี่

เปิดประวัติ "วันวิสาขบูชา 2565" ที่ชาวพุทธควรรู้ โดยปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม และในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม ยังถือเป็น "วันหยุดชดเชย" อีกด้วย ชาวออฟฟิศมีเฮ! สุดสัปดาห์นี้ได้หยุดยาวอีกรอบ 3 วันรวด

อีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญระดับโลก คงหนีไม่พ้น "วันวิสาขบูชา" ซึ่งทุกปีถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยปีนี้ "วันวิสาขบูชา 2565" ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม และในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม ถือเป็น "วันหยุดชดเชย" จึงส่งผลให้สุดสัปดาห์นี้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 3 วัน ได้แก่ วันที่ 14-15-16 พฤษภาคม 2565 (เสาร์-อาทิตย์-จันทร์)

นอกจาก "วันหยุดยาว" ที่กำลังจะมีขึ้นแล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนพุทธศาสนิกชนมารู้จักประวัติและความสำคัญของ "วันวิสาขบูชา" ให้มากขึ้น เพราะวันนี้ไม่ได้สำคัญต่อชาวพุทธในไทยเท่านั้น แต่ถือเป็นวันสำคัญระดับโลก! 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. วันวิสาขบูชา = วันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน

“วันวิสาขบูชา” หนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง กล่าวคือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหมือนกันทั้งสามวัน (แต่ต่างปีกัน) นั่นคือ 

  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ : เจ้าชายสิทธัตถะ “ประสูติ” ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน 
  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา : เจ้าชายสิทธัตถะ “ตรัสรู้” เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา
  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง : พระองค์เสด็จ “ปรินิพพาน” ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

2. รู้จัก "สังเวชนียสถาน" ที่เชื่อมโยง "วันวิสาขบูชา"

รู้หรือไม่? ในปัจจุบันยังมีสถานที่ที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าหลงเหลือให้ได้เห็นกันอยู่ เรียกว่า "สังเวชนียสถาน"  ได้แก่ 

สถานที่ประสูติ "ลุมพินีวัน" ประเทศเนปาล : มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล พระเจ้าอโศกมหาราช ได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่ มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า “เสาอโศก” ปัจจุบันได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2540 

สถานที่ตรัสรู้ "พุทธคยา" ประเทศอินเดีย : ตั้งอยู่ที่ เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย แต่ละปีมีผู้ไปเยือนพุทธคยามากกว่าล้านคน โดยมีศาสนสถานสำคัญสูงสุดของพุทธคยา ก็คือ "พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์" ณ จุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ใต้ต้นโพธิ์ ริมแม่น้ำเนรัญชรา

สถานที่ปรินิพพาน "กุสินารา" ประเทศอินเดีย : เป็นที่ตั้งของ "สาลวโนทยาน" หรือ "ป่าไม้สาละ" ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา ในเขตจังหวัดเทวริยา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

 

3. "วันวิสาขบูชา" วันสำคัญระดับโลก!

ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม เช่น บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ร่วมกันเสนอให้สหประชาชาติ (UN) รับรองให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542

จากนั้นคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้ “วันวิสาขบูชา (Vesak Day)” ถือเป็น “วันสำคัญของโลก” ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่า "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ และเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ

4. “วันวิสาขบูชา” ในไทย (สุโขทัย, อยุธยา, รัตนโกสินทร์)

มีบันทึกหลักฐานพบว่า “วันวิสาขบูชา” ในไทยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเมืองลังกา โดยสมัยนั้นกษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา เชื่อว่าได้นำพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ส่วนในสมัยอยุธยา อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่แผ่เข้ามาในไทย มีอำนาจสูงกว่าพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวันวิสาขบูชา แต่ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ทรงดำริให้มีฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่อีกครั้ง และสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน

5. ทำไมต้องเวียนเทียนใน “วันวิสาขบูชา”

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่เราจะได้ระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหลักธรรมคำสอนต่างๆ ที่พระองค์ได้เคยสอนไว้ สำหรับกิจกรรมที่ชาวพุทธมักจะปฏิบัติกันเป็นประจำใน "วันวิสาขบูชา" ได้แก่

เข้าวัดทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต ถือศีล ปฏิบัติธรรม และที่สำคัญคือการ "เวียนเทียน/เวียนเทียนออนไลน์" เพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นองค์ศาสดาของศาสนาพุทธ

----------------------------------

อ้างอิง : กรมการศาสนาธรรมะไทย