คุยเรื่อง "คังคุไบ" กับ "ฉันคือเอรี่" อดีตหญิงไทยที่ต้อง "ขายตัว" ในต่างแดน
ชวน “ฉันคือเอรี่” นักเขียนอดีตคนขายบริการทางเพศ คุยถึงภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแส Gangubai Kathiawadi ชีวิตจริงกับในหนังมีอะไรที่เป็นจุดร่วม-จุดต่าง และหากโสเภณีถูกกฎหมายในไทย จะมีใครยินดีกับสิ่งนี้บ้างหรือไม่?
“คังคุไบ กฐิยาวาฑี” หรือ Gangubai Kathiawadi เรื่องเล่าของโสเภณีที่มาออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิของโสเภณี เมื่อทศวรรษ 1960s กำลังเป็นภาพยนตร์ที่เป็นกระแสในไทย ทั้งชื่นชมในตัวหนังที่สร้างความบันเทิง และยังทำให้ผู้คนหันมาสนใจในอาชีพขายบริการทางเพศซึ่งเป็นอาชีพที่มีอยู่จริงในทุกประเทศ หากแต่ยังถูกซุกปัญหาอยู่ใต้พรม
ประสบการณ์ของผู้เคยประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ คือบทเรียนที่ถูกเล่าถึงอยู่เสมอ และหนึ่งในอดีตคนขายบริการที่คนน่าจะคุ้นเคยได้ดีที่สุดในไทยน่าจะเป็น “ฉันคือเอรี่” ธนัดดา สว่างเดือน หญิงไทยที่เคยถูกหลอกไปขายบริการในต่างประเทศ และถูกจับในทุกประเทศที่ไปทำงาน แต่ถึงที่สุดก็เปลี่ยนประสบการณ์เป็นวัตถุดิบในการสร้างงานวรรณกรรม จนได้รับรางวัลชมนาด ในปี 2554 เรื่อง “ฉันคือเอรี่ ประสบการณ์ข้ามแดน” และมีแฟนหนังสือติดตามผลงานของเธอมาตลอด
“มันคือประสบการณ์ของเรา ตอนแรกที่เขียนเพราะอยากจะได้เงินจากการประกวด แต่เมื่อผลงานได้รับการตอบรับ เราก็เขียนมาเรื่อยๆ เพราะคิดว่าประสบการณ์ของเราจะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง และแน่นอนมันไม่ได้สวยหรู ไม่ได้มีความสุข”
- ไม่มีคังกุไบ ในธุรกิจขายบริการ
“มีเพื่อนโทรมาเยอะนะ คงอยากให้เราดู อยากรู้ว่าเราคิดอย่างไร” เธอพูดถึง “คังคุไบ” ในเวอรชั่นที่ฉายอยู่ในสตรีมมิ่ง
“ถ้าเฉพาะหนังก็คิดว่ามันสนุกดี แต่จากประสบการณ์ที่เจอไม่มีหรอกคังคุไบ ที่จะมีแม่เล้า หรือคนบริหารซ่องที่เขาจะใจดีขนาดนี้ ทุกคนก็ทำงาน ทำหน้าที่ของตัวเอง มีผลประโยชน์ตัวเองที่ต้องรักษา”
ภาพจากภาพยนตร์ Gangubai Kathiawadi
“อย่างตอนไปทำงานที่บาห์เรน ทำงานในตึก ทุกคนก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ จะออกไปไหนไม่ได้เลย (ย้ำนะว่าออกไม่ได้) ไม่มีอิสระ เพราะเขามีระบบ มีความปลอดภัยแน่นหนา มีซิเคียวริตี้ (Security) ในทุกๆ ทางเข้าออก เขาถือว่าเอาพวกเรามาแล้ว ก็ต้องทำงานให้เขา ถ้าอยากจะออกก็ต้องจ่ายเงินมาประมาณ 2,500 ดีนาร์ (230,000 บาท) หรือก็ต้องชดใช้ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่านายหน้าที่เขาจ่ายตอนพาเรามา”
“มันเป็นชีวิตจริงของหญิงไทยในช่วงนั้นที่แต่ละคนต้องถูกส่งไปทำงานในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ต้องทนทำงานใช้หนี้แม่หลักแสน หลักล้าน ถ้าใครหนีคือตาย หรืออาจถูกขายต่อให้กับพวกโหดๆ หรือพวกยากูซ่า แล้วก็มีบางคนที่ต้องโดนฉีดผงให้ทำงานจนไม่ไหว”
สาเหตุของการเข้าสู่อาชีพบริการของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ธนัดดา เล่าว่า สำหรับเธอจุดเริ่มต้นคือฐานะที่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อมีลูก ก็ต้องทำงานเพิ่มในห้างสรรพสินค้า เป็นเด็กเสิร์ฟ แต่เงินไม่พอ จนวันนึงเพื่อนชวนไปทำงานที่พัทยา
“บอกว่าไปชงเหล้า เราก็เลยไป มีวันหนึ่งชงเหล้าเสร็จก็จะถูกพาเข้าโรงแรม ก็บอกเขาว่าหนูมาชงเหล้าไม่ได้มาขายตัว ก็ร้องไห้กลับบ้าน”
“เราไม่เคยนอนกับใครนอกจากพ่อของลูก และเราก็ตั้งใจมาแค่ชงเหล้าจริงๆ ก็บอกแขกแบบนั้น แล้วตอนนั้นจังหวะน้ำนมไหล เขาก็ถาม เราก็เลยบอกว่าเพิ่งคลอดลูก หาเงินมาเลี้ยงลูก กะว่าทำงานเสิร์ฟ ไม่รู้จริง ๆ ว่านี่คือขายตัว เขาก็บอกว่าให้เรานอน ตื่นเช้ามาให้เงิน 4 พันให้กลับกรุงเทพฯ เราก็ทำไมได้เงินเยอะ เพราะตอนนั้นได้เงินสูงสุด 3,500 บาท เราก็เริ่มคิดการณ์ไกล ถ้าทำงานอย่างนี้สักพัก เรามีเงินให้ลูก ให้ที่บ้าน ซื้อบ้านให้พ่อแม่อยู่ เราก็เลยเอาวะ ยินยอมพร้อมใจที่จะทำ และก็เข้าสู่การขายบริการจริงๆในวันนั้น” ธนัดดา เล่าจุดเริ่มต้นของอาชีพก่อนที่เธอจะไปทำงานในประเทศอื่นๆ อีก ทั้ง ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น บาเรนห์ ซึ่งเธอยังเคยบอกว่า ในบางคืนต้องทำรอบเพื่อรายได้ที่มากที่สุดของนายทุนเจ้าของสถานบริการ
“ในเรื่องคังกุไบ พี่เข้าใจว่าเขาพยายามสื่อสารให้เห็นถึงชีวิตของโสเภณีในเมืองนั้น ซึ่งมันก็เป็นแบบนี้แหละ พยายามจะหาเพื่อน พยายามจะหาเรื่องคุยให้ชีวิตมันไปต่อได้ในช่วงชีวิตที่ไม่มีความสุข แต่ทุกคนที่เข้ามาทำก็มีเหตุผลอะไรบางอย่าง ไม่มีใครเต็มใจ เพราะไม่มีใครอยากนอนกับคนที่เราไม่ได้รัก”
“หลายคนต้องหาวิธีเอาตัวรอด ทั้งติดต่อญาติพี่น้องให้นำเงินมาถ่ายตัว บ้างก็ติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ บ้างก็ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง เพื่อให้ตัวเองหลุดออกมา มีอีกหลายคนที่กลัวว่าจะหนีไม่รอด กลัวว่าจะเอาชีวิตมาทิ้งในต่างแดน ก็ต้องจำยอมฝืนใจรับแขกใช้หนี้จนหมดเพื่อแลกกับอิสรภาพ”
- โสเภณีถูกกฎหมายและอาชีพที่ไม่มีใครเลือก
ในภาพยนตร์ คังคุไบ ตัวเอกของเรื่องเกิดในตระกูลทนายและมีความฝันอยากจะเป็นนักแสดง คังคุไบ ไม่ได้อยากมาเป็นโสเภณีเหมือนผู้หญิงอีกหลายล้านคนทั่วโลก แต่ถูกแฟนหลอกว่าจะพามาเป็นดารา และจากนั้นเขาก็ขายเธอเข้าซ่องในย่านกามธิปุระ ด้วยเงินไม่กี่ร้อยบาท
ความมุ่งหวังของคังคุไบจึงกลายเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของโสเภณี ให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้มีศักดิ์และศรีเทียบเท่ากับผู้คนในอาชีพอื่นๆ
“มันก็เป็นประเด็นที่ดีนะ แต่ถ้ามองกลับมาที่ประเทศไทยคงยากหน่อย ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีอาชีพนี้ก็ยังถูกตีตรา ยกตัวอย่างว่าถ้ามีหญิงขายบริการถูกทำร้าย ถูกปล้น พอไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ยากที่ใครจะเชื่อเรา บางคนก็เลือกที่จะอยู่เฉยๆ ดีกว่า บางคนถูกแขกซ้อม ขโมยเงิน แต่ไปบอกกับใครก็ไม่มีใครเชื่อ ถึงตรงนี้ก็คงบอกว่าจะมีโสเภณีสักคนยืนได้อย่างคังกุไบก็คงยากหน่อย เพราะพูดไปก็คงไม่มีคนฟัง ดีที่สุดก็คือพอหาเงินได้ มีอาชีพใหม่ ก็เลิกอาชีพนี้ซะ”
แล้วอยากให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายหรือไม่? ธนัดดา ย้อนกลับถามว่า ถูกกฎหมายเพื่อจุดประสงค์ใด? เพราะถ้าต้องการถูกกฎหมายในแง่ของสวัสดิการสังคม ประกันสุขภาพต่างๆ ทุกวันนี้ผู้ประกอบอาชีพบริการที่มีทางเลือกก็ทำประกันสังคม มีบัตรทอง หรือคนที่มีรายได้ดีหน่อยก็ซื้อประกันสุขภาพดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องบอกว่าทำอาชีพอะไร
การถูกกฎหมายก็น่าจะเชื่อมโยงเฉพาะกับนายทุนเจ้าของสถานบริการ ซึ่งถ้าผู้ขายบริการมีสังกัดก็ต้องจ่ายค่าหัวคิว 30-40% จากค่าตัวทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้ก็มีไม่น้อยที่ผู้ขายบริการเลือกทำแบบอิสระเพราะไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
“ถ้าจะให้โสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายให้เป็นอาชีพหนึ่งเทียบเท่ากับอาชีพอิสระ พี่ว่าก็ทำได้ แต่ก็คงยากเพราะคงไม่มีใครอยากจะกรอกประวัติว่าทำอาชีพโสเภณี แล้วต้องเสียภาษี เพื่อแลกกับความถูกต้องทางกฎหมาย มันไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร มันคงได้ไม่คุ้มเสีย เพราะมันก็จะถูกตีตราไปตลอดชีวิตว่าคุณเคยเป็นกะหรี่”
“ทุกวันนี้มีน้องที่ขายบริการเป็น HIV เขาก็จะไม่กล้าไปรักษาที่โรงพยาบาลเพราะกลัวถูกลงบันทึกประวัติ หรือบางคนเป็น HIVพอเลิกอาชีพนี้แล้ว แม้จะจบมหาวิทยาลัย มีการศึกษา แต่ก็ไม่ยอมไปทำงานตามบริษัทเพราะกลัวว่าต้องตรวจสุขภาพแล้วคนจะรู้ ทุกวันนี้เมื่อไม่มีใครยอมรับก็ต้องทำงานหลบๆซ่อนๆแบบนี้ต่อไป ต่างคนก็ต่างทำเพื่อชีวิตที่ดีกว่าแล้วก็เลิกไป”
คงไม่มีอีกง่ายๆหรอก “คังกุไบ” แม่พระของโสเภณี