ส่องบทเรียน 'บิวตี้ พรีวิเลจ' สิทธิพิเศษเฉพาะ 'คนหน้าตาดี'
เคยสงสัยหรือไม่ ทำไม “คนหน้าตาดี” มักได้รับสิทธิพิเศษในสังคม ขณะที่ “สื่อ” ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างมาตรฐานที่แตกต่างกัน ชวนหาคำตอบว่า สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี หรือ “บิวตี้ พรีวิเลจ” มีที่มาจากอะไร และการได้พื้นที่สื่อจาก “ความหน้าตาดี” ส่งผลกระทบอะไรบ้าง?
จากข่าวฉาวของ “อดีตพระกาโตะ” ที่ยอมรับว่ามีสัมพันธ์กับสีกาขณะครองสมณเพศ จนเป็นกระแสทั่วบ้านทั่วเมืองเมื่อไม่นานนี้ เดิมที ข่าวดังกล่าวอาจเป็นเพียงเรื่องพระประพฤติผิดวินัยสงฆ์ทั่วไป และหายเงียบจากกระแสสนใจของสังคมในเวลาอันรวดเร็ว หากไม่เกิดเหตุการณ์ “แพ้รอยยิ้มอดีตหลวงพี่” จากชาวเน็ตบางกลุ่มที่ติดตามข่าวสารและกลายเป็นแฟนคลับ รวมถึงคอยให้กำลังใจ “อดีตพระ” ที่สังคมบางส่วนกล่าวหาว่าเป็น “สมี” ผู้นี้แบบสุดตัว
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงกลายเป็นเช่นนั้นไปได้ แต่เมื่อลองพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ก็จะพอมองเห็นคำตอบได้ไม่ยากนักจากการลองอ่านคอมเมนต์เชิงบวกต่ออดีตพระกาโตะส่วนใหญ่ ทั้งการชื่นชมความกล้าหาญที่ออกมายอมรับผิด และที่พบค่อนข้างมาก คือคอมเมนต์เชิงชื่นชม “รูปร่างหน้าตา” ของอดีตพระวัยรุ่นผู้นี้
หนึ่งประเด็นที่น่าสนใจจากเรื่องราวนี้คือ กระแสสังคมทางบวก อาจสะท้อนถึงสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “บิวตี้ พรีวิเลจ (Beauty Privilage)”
- ทำไมสังคม (ส่วนหนึ่ง) ถึงให้สิทธิพิเศษกับ “คนหน้าตาดี”
บิวตี้พรีวิเลจ คือ สิทธิพิเศษที่คนมักได้รับจากเรื่องง่ายๆ แต่เกิดขึ้นได้ยากคือ การมีรูปร่างหน้าตางดงามตรงกับมาตรฐานของสังคม เมื่อมีคุณสมบัตินี้เพียงข้อเดียวเท่านั้น คุณก็จะได้รับความรักและการปฏิบัติที่ดีจากสังคมรอบข้าง มากเข้าก็กลายเป็นมาตรฐานพิเศษในฐานะที่ใบหน้าสวย/หล่อ หรือรูปร่างอันผอมเพรียวของคุณทำให้พวกเขาเจริญหูเจริญตา
อันที่จริง บิวตี้พรีวิเลจอาจเริ่มตั้งแต่มนุษย์ตัวน้อยยังไม่ประสีประสา หน้าตาอันน่ารักที่ดึงดูดผู้คน สร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้รับการดูแลอย่างดีจากครอบครัว คุณครู สังคมรอบข้างที่รักและเอ็นดูพวกเขา เมื่อได้รับการใส่ใจดูแลเป็นอย่างดี เด็กก็จะเติบโตมาพร้อมความมั่นใจ และความมั่นใจเหล่านี้เองที่สร้างสิทธิพิเศษอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก
มีบทความจากเครือข่ายการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ปี 2559 ศึกษาเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของความหน้าตาดีที่ส่งผลต่อจำนวนเงินเดือนของ CEO บริษัทต่างๆ พบว่า เหล่า CEO ที่มีบุคลิกน่าสนใจและน่าดึงดูด จะมีเงินเดือนที่สูงกว่าอีกกลุ่มที่มีหน้าตาธรรมดา และให้ผลสรุปว่า รูปลักษณ์ที่ดีส่งผลต่อความมั่นใจในตนเอง
สอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ แดเนียล ฮาร์เมอร์เมช (Daniel Hamermesh) ได้เขียนหนังสือตั้งคำถามว่า ทำไมผู้คนที่มีเสน่ห์ถึงประสบความสำเร็จมากกว่า และเขาให้ข้อสรุปไว้ในทำนองเดียวกันว่า ในทุกวงการ คนที่มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า จะมีโอกาสได้รับการจ้างงานมากขึ้น
มีคำอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า รูปร่างหน้ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการตอบรับที่ดีของผู้อื่น การดึงดูดทางกายภาพสามารถนำไปสู่เหตุการณ์ที่กำหนดคุณภาพชีวิตและสังคมโดยรอบของเราได้ สิ่งนี้เรียกว่า “lookism” หมายถึง อคติหรือการเลือกปฏิบัติที่พิจารณาจากรูปลักษณ์ของบุคคล ภาพจำลองสังคมเช่นนี้คงคล้ายกับการหาคู่ในแอปเดต ที่แม้ว่าการสานสัมพันธ์ต่อจะประกอบด้วยคุณสมบัติหลายอย่าง แต่อันดับแรกสุดก็มักจะเป็นการโชว์ภาพลักษณ์ภายนอกที่สวยงามถูกใจก่อน
มากไปกว่านั้น สิทธิพิเศษที่จะได้จากการมีหน้าตาดี อาจหมายรวมถึงการกระทำผิดที่คนมองว่าควรได้รับการลงโทษน้อยกว่าปกติ ตัวอย่างเช่น ในเรียลลิตี้ “100 Humans” ของ Netflix ทำการทดลองให้กลุ่มคน 100 คน ลองพิจารณาตัดสินโทษผู้ต้องหาในคดีต่างๆ เปรียบเทียบกันระหว่างผู้ต้องหาที่หน้าตาดีตามมาตรฐาน และผู้ต้องหาที่หน้าตาธรรมดาทั่วไป ผลการทดลองพบว่า ผู้ต้องหาที่หน้าตาดีถูกตัดสินโทษจำคุกน้อยกว่าอีกกลุ่มราวครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
“คนเราจะตัดสินทางศีลธรรมต่อคนที่หน้าตาไม่ดีว่า ‘เลวร้ายกว่า’ คนที่หน้าตาดี เป็นโชคทางศีลธรรม เหมือนโยนหัวก้อย ซึ่งถ้าคุณหน้าตาดี คุณก็ชั่วร้ายน้อยกว่า” — โจดี้ อาร์เมอร์ (Jody Armour) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ กล่าว
นอกจากนี้ บิวตี้พรีวิเลจยังถูกพูดถึงในเชิงชีววิทยาด้วย โดยในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสืบพันธุ์ มนุษย์ได้รับการปลูกฝังให้มองหา “คนที่น่าดึงดูด” เพื่อที่จะจับคู่และขยายพันธุ์เพิ่มประชากร โดยนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) อธิบายว่า ภาพลักษณ์ที่ดีมักเป็นสัญญาณของสุขภาพที่ดีและภาวะเจริญพันธุ์ ดังนั้น วิวัฒนาการจึงสอนให้มนุษย์มองหาคู่ (หรือคน) ที่มีภาพลักษณ์ที่ดีก่อน
- ผลกระทบจาก “บิวตี้พรีวิเลจ”
ใครๆ ก็ชอบคนหน้าตาดี แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะได้เป็นคนหน้าตาดีตามมาตรฐานที่สังคมส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน มีคนจำนวนมากได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตเพราะได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติที่ต่างกันเพียงเพราะรูปร่างหน้าตา ซึ่งการปฏิบัติที่ต่างกันเหล่านี้สร้างบาดแผลทางใจให้กับกลุ่มคนที่ไม่ตรงกับมาตรฐานความงามของสังคม
ฮัลเล เบลลีย์ (Halle Bailey) นักร้องและนักแสดงชาวอเมริกัน ได้รับการคัดเลือกให้รับบท “เจ้าหญิงแอเรียล” ในภาพยนตร์ฉบับคนแสดงของดิสนีย์ที่จะเข้าฉายในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 แน่นอนว่าจากรูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ฉบับการ์ตูนของสตูดิโอเดียวกันที่เคยสร้างไว้เมื่อปี 2532 ส่งผลให้เธอได้รับกระแสต่อต่านอย่างหนักทันทีที่สตูดิโอผู้สร้างประกาศชื่อเธออย่างเป็นทางการ
แม้กรณีนี้จะมีการอธิบายเหตุผลต่างๆ ที่ผู้คนไม่เห็นด้วยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกนักแสดงที่ไม่เคารพต้นฉบับ การพยายามยัดเยียดความหลากหลายเข้ามาโดยไม่เหมาะสม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฮัลเลได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับหน้าตาของเธอในฐานะที่จะได้แสดงเป็นตัวละคร “เจ้าหญิง”
เช่นเดียวกับกรณีของ “แอนชิลี สก็อต เคมมิส” Miss Universe Thailand 2021 ที่ได้รับกระแสลบต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่ได้รับมงกุฎในประเทศไทยจนถึงวันที่เข้าร่วมการประกวด Miss Universe 2021 ที่ประเทศอิสราเอล เกี่ยวกับรูปร่างที่ไม่ตรงกับมาตรฐานความงาม ในขณะที่เจ้าตัวพยายามนำเสนอแคมเปญสนับสนุนให้ทุกคนรักและเคารพรูปร่างที่อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือไม่ตรงกับที่สังคมให้คุณค่า
- การนำเสนอของสื่อ ยิ่งทำให้มีหลายมาตรฐาน
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในเรื่องนี้คือ การที่สังคมกำหนดคุณค่าความงดงามและให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มคนเหล่านั้น ส่วนหนึ่งล้วนเป็นผลมาจากการนำเสนอของสื่อ ที่ตอกย้ำสิ่งเหล่านี้ในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอจะกลายเป็นภาพจำของคนที่เสพสื่อหรือแม้แต่คนที่ได้เห็นผ่านๆ แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีจะพัฒนาเข้าถึงผู้คนมากขึ้น ช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารจะมีหลากหลายให้ผู้เสพสื่อสามารถตรวจสอบความถูกต้องหรือรับเอาทิศทางการนำเสนอในข่าวเดียวกันได้จากหลายแหล่ง แต่อำนาจของสื่อหลักๆ ก็ยังมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากไม่ต่างจากอดีต
การได้เห็นนางแบบนายแบบผิวขาว ใบหน้าเกลี้ยงเกลาปราศจากรอยกระฝ้า รูปร่างสมส่วนโค้งเว้า มีกล้ามเนื้องดงามเด่นหราอยู่หน้าปกนิตยสารรายสัปดาห์ ก็เป็นการนำเสนอของสื่อที่มีอิทธิพลต่อคนรับสารเช่นกัน
ลิลี่ ไรท์ฮาร์ต (Lili Reinhart) นักแสดงชาวอเมริกัน เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การรีทัชรูปร่างนางแบบที่ถูกถ่ายขึ้นปกนิตยสาร เพื่อไม่ให้ตัวสื่อนั้นพยายามสร้างมาตรฐานความสวยงามจนทำให้กลุ่มคนที่มีรูปลักษณ์ตรงกับมาตรฐานได้รับสิทธิพิเศษ
เช่นเดียวกับกรณีการเสนอข่าวของสื่อไทย ที่ปัจจุบันกลวิธีการนำเสนอข่าวแบบ “เล่าข่าว” ได้รับความนิยมมากขึ้นในสื่อกระแสหลัก แม้การนำเสนอแบบเล่าข่าวจะมีข้อดีตรงที่ทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่บางครั้งการเล่าข่าวอาจมีน้ำเสียงของผู้เล่าหรือผู้ประกาศติดไปด้วย ส่งผลให้ผู้รับสารได้รับมุมมองบางอย่างที่คนผู้เล่ามีต่อข่าวนั้นๆ ไปด้วยโดยปริยาย
เห็นได้จากตัวอย่างการนำเสนอข่าวกรณี “คดีน้องชมพู่” เด็กหญิงที่หายตัวไปจากบ้านและถูกพบเป็นศพในป่าบนเขาในเวลาต่อมา ทิศทางของสื่อที่นำเสนอข่าวนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่พลิกผันชีวิต “ลุงพล” ให้เปลี่ยนจากผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม ไปเป็นซูเปอร์สตาร์ขวัญใจชาวบ้านได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
รู้ตัวอีกที ลุงพลก็กลายเป็นชื่อที่แทบไม่มีใครไม่รู้จัก เขาได้รับ “สิทธิพิเศษ” และโอกาสในวงการบันเทิงมากมาย รวมถึงมีแฟนคลับคอยตามสนับสนุนและปกป้องเมื่อได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะ “ผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม” ไปเสียแล้ว
จากสิทธิพิเศษมากมายที่ลุงพลได้รับนี้ อาจเริ่มต้นมาจากสกู๊ปข่าวเพียงไม่กี่สกู๊ป ที่นำเสนอเกี่ยวกับ “ความหล่อเหลา” ของลุงพล ในช่วงแรกที่นำเสนอข่าว
แม้จะเป็นความจริงที่สิทธิพิเศษบางอย่างที่คนหน้าตาดีได้รับ เป็นผลมาจากที่พวกเขาเหล่านั้นมีคนสนใจ และสื่อก็เพียงแค่ทำหน้าที่นำเสนอสิ่งที่คนต้องการดู แต่การคำนึงถึงผลที่ตามมาก็เป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การกำหนดทิศทางสำหรับวิธีการนำเสนอข่าวให้ชัดเจน จึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากไม่กำหนดทิศทางการนำเสนอให้ดี คนดูก็อาจจะหลุดประเด็นไปสนใจอย่างอื่นมากกว่า อีกทั้งปัจจุบันการตีความทิศทางการนำเสนอข่าวต่างๆ ก็สามารถตีความไปได้หลากหลาย ควบคุมได้ยาก นั่นยิ่งเป็นเหตุผลให้ต้องเน้นย้ำทิศทางการนำเสนอให้ชัดเจน
นอกเหนือจากนั้น การพยายามนำเสนอความงดงามที่หลากหลาย ก็ถือเป็นวิธีที่จะช่วยให้มาตรฐานการปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับสิทธิพิเศษทางหน้าตาลดลง เพื่อที่จะให้ทุกคนได้เข้าถึงอะไรก็ตามได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกแบ่งแยกด้วยรูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ หรือแม้กระทั่งสีผิว
เมื่อยิ่งเห็นความหลากหลายปรากฏบนสื่อได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเข้าใจและค่อยๆ ยอมรับได้ถึงความแตกต่าง โดยเฉพาะ “ความงาม” ที่ถือเป็นเรื่องปัจเจก ซึ่งไม่ควรถูกนำมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าใครควรได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าใคร
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อ้างอิง:
thedailyvox, myimperfectlife, firstrand, netflix, theguardian, jessieslegacy, thaibja