"ราชบุรี" ร่องรอยการแปลงเมืองจากอดีตสู่ยุคโมเดิร์น
ร่องรอยการแปลงเมือง “ราชบุรี” จากอดีตสู่ยุคโมเดิร์นราชบุรี นับเป็นเมืองเก่าแก่ ไม่ใช่แค่ยุค รัตนโกสินทร์ หรือ อยุธยา หากแต่พบว่า ดินแดนลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้ เป็นถิ่นฐานของมนุษย์มาราว 10,000 ปีแล้ว
ร่องรอยการแปลงเมือง "ราชบุรี" จากอดีตสู่ยุคโมเดิร์นราชบุรี นับเป็นเมืองเก่าแก่ไม่ใช่แค่ยุครัตนโกสินทร์หรืออยุธยา หากแต่พบว่า ดินแดนลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้เป็นถิ่นฐานของมนุษย์มาราว 10,000 ปีแล้ว
หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เมืองราชบุรีบนผืนดินฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ เป็นชัยภูมิสำคัญมาแต่อดีตกาล เป็นสมรภูมิก็หลายครา ย้ายเมืองมาก็หลายครั้ง
สมัยลพบุรี แลนด์มาร์คสำคัญที่มองเห็นกันได้แต่ไกล คือ พระปรางค์วัดมหาธาตุ รายล้อมด้วยแนวคันคูน้ำกำแพงเมืองยาวสุดลูกหูลูกตา (คนสมัยนั้น) เบาะแสใหม่ๆ พบว่า อาณาเขตอาจกว้างไกลหลายตารางกิโลเมตร โดยมีแม่น้ำผ่านกลาง
แต่แรกเริ่มคาดว่ามีวัด ณ ที่ตรงนี้ตั้งแต่สมัยทวาราวดี กระทั่งอารยธรรมขอมแบบบายนเฟื่องฟู แผ่ขยายมาถึงเมืองราชบุรี ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงเกิดการสร้างวัดขึ้นใหม่รูปแบบพุทธมหายานตามคติขอมแทนที่คติฮินดูเดิมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 เกิดเป็น วัดหน้าพระธาตุ ซึ่งการมีคำว่า “พระะธาตุ” ในชื่อวัด ทำให้รู้ได้ว่า มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ซึ่งเท่ากับว่า บริเวณอาณาเขตโดยรอบวัดนี้ ต้องมีความเป็นเมือง และเป็นเมืองที่มีผู้ปกครอง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีพลเมืองจำนวนไม่น้อย ภายในวัดมีการสร้างพระปรางค์ มีระเบียงคตโดยรอบ ก่อกำแพงศิลาแลงสูงล้อมอีกชั้นนอกสุด แสดงให้เห็นเขตศาสนสถานสำคัญอย่างชัดเจนตามคติภูมิจักรวาล
จวบจนสมัยอยุธยาตอนต้น ได้มีการซ่อมแซมปรับเปลี่ยนพระปรางค์องค์เดิม และเพิ่มพระปรางค์บริวารอีก 3 องค์ จนเป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นบนพื้นที่ที่เคยเป็นวิหารเก่า ซึ่งขณะนั้นปรักหักพังเหลือเพียงฐานอาคาร ได้สร้างวิหารหลวงขึ้นบนฐานเดิม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 2 องค์ลักษณะเหมือนกัน ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ให้กัน ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งไม่ปรากฏพบในสถานที่อื่น โดยเชื่อว่า อาจหมายถึง การปกปักษ์รักษา องค์ที่หันทิศตะวันออก เป็นทิศเดียวกับเมืองใหม่ เพื่อเป็นศิริมงคลกับเมืองที่เพิ่งย้ายมาตั้ง ส่วนองค์ที่หันทิศตะวันตก จะหันตรงไปยังเมืองโบราณคูบัว เมืองราชบุรียุคแรก จนมาตั้งพระนามเป็น พระมงคลบุรี-พระศรีนคร์ ในภายหลัง และเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม วัดมหาธาตุต้องกลายสภาพเป็นวัดร้าง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ด้วยเหตุเป็นคุ้งน้ำ ชัยภูมิดีกว่า ได้เปรียบข้าศึกคิดจะบุกผ่านเข้าเมืองหลวง อริเข้าตีก็ลำบาก หากเพลี่ยงพล้ำจะถอยฉากก็ออกได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร กระทั่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงกลางยุครัตนโกสินทร์
เมืองราชบุรี ผ่านการพัฒนาครั้งสำคัญอีกครั้ง ในช่วงที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้ดำรงบรรดาศักดิ์สมเด็จเจ้าพระยาองค์สุดท้ายของสยามประเทศ นามเดิม ช่วง บุนนาค ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้าง “จวน” ขึ้น (สันนิษฐานว่าก่อนปี พ.ศ.2516) บริเวณฝั่งตะวันตกริมแม่น้ำแม่กลอง หลังได้มาว่าราชการแถบลุ่มน้ำแม่กลองหลายครา และเห็นว่าเป็นทำเลที่ดี อากาศบริสุทธิ์ เป็นท่าเรือสำคัญ มีการสัญจรค้าขายคับคั่ง หากต้องเดินทางเข้าพระนครก็ไม่ไกลเกินไป
เดิมทีคาดว่าเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือ จวบจนเมื่อสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย ใน พ.ศ.2425 จวนหลังนี้จึงตกเป็นของหลวง ก่อนจะใช้เป็น กองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี ซึ่งต่อมาใน พ.ศ.2440 ได้มีการต่อเติมด้านหลัง และดัดแปลงชั้นล่าง เพิ่มจนเป็นอาคาร 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลยุโรปผสมผสนาม เฉกเช่นที่คงอยู่จนถึงทุกวันนี้
จากนั้นเมื่อมีการก่อสร้างอาคาร “ศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี” แห่งใหม่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียง จวนแห่งนี้ยังได้ใช้เป็น จวนเจ้าเมืองราชบุรี - ห้องสมุดประชาชน - จนกลายเป็น สำนักงานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ในปัจจุบัน
ระหว่างที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการอยู่ที่เมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเก้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองก่อสร้างวังบนเขาสัตตนารถ (เขาวัง) มีการตัดถนนสำคัญ 2 สาย คือ ถนนศรีสุริยวงศ์ และถนนเขาวัง ทำให้บ้านเมืองขยายความเจริญออกไปเป็นวงกว้าง
ด้วยความที่ ราชบุรี และเมืองต่างๆ ริมแม่น้ำแม่กลอง เป็นท่าเรือสำคัญ มีการค้าขายมาก ชาวจีนมาก ในปี พ.ศ.2414 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงได้บริจาคที่ดิน 2 ไร่เศษ ห่างจากจวนไปไม่ไกล ให้ชาวจีนสร้างเป็นศาลเจ้า แทนศาลเล็กเก่า เป็นจุดกำเนิดของ ศาลเจ้าพ่อกวนอู “เหล่าโจ้วฉู่” ซึ่งหมายถึง “บ้านหลังใหญ่ของบรรพบุรุษ” หรือที่รู้จักกันในนาม “โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว” ก่อนอาคารไม้หลังนี้จะทรุดโทรมลงไป และลูกหลานได้บูรณะครั้งใหญ่แล้วเสร็จใน พ.ศ.2510 โดยยังคงของเก่าโบราณตั้งแต่สมัยแรกสร้างประดับไว้หลายชิ้น อาทิ ป้ายคำสรรเสริญ งานแกะสลัก และจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งวาดสีทับใหม่ แต่คงลวดลายเดิมไว้ครบถ้วน
เทพกวนอู ซึ่งเป็นองค์เทพเจ้าประธาน อยู่ในปางบุ๋น แกะสลักจากไม้ เชื่อว่าให้ความรู้สึกมีชีวิตมากกว่า สลักจากหิน หรือ ปั้นดิน แม้ลักษณะจะคล้ายกับที่อื่น รายละเอียดการวางมือจับตำรา และลูบเครา จะไม่เหมือนใคร ซึ่ง กวนอู องค์นี้อยู่คู่ศาลมาตั้งแต่ศาลเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2420
ด้านหลังศาลเจ้าซ่อนความอลังการของ “ตู้เก็บป้ายวิญญาณ” ขนาดมหึมา แกะสลักจิตรกรรมบนฝาบานใหญ่ทั้งด้านนอกด้านในอย่างปราณีต รวมถึงแท่นบูชาที่วิจิตรตระการตาไม่แพ้กัน
ด้านในเคยเก็บป้ายประจำสายตระกูลบุนนาคของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ไว้ด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติในคุณงามความดี แต่ปัจจุบัน ป้ายดังกล่าวได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ อาคารสำนักงานพิพิทธภัณฑ์ หรือ จวน หลังเดิมนั่นเอง แล้วจึงสร้างป้ายใหม่นำมาไว้ทดแทน
หลักฐานสำคัญอีกของการเป็นเมืองท่าสำคัญ ห่างจากศาลเจ้ากวนอูไปไม่ไกล คือ ซุ้มประตูแบบจีนโบราณ อายุราว 200 ปี ซึ่งอยู่เขตสังฆาวาสของวัดช่องลม (ริมแม่น้ำแม่กลอง ใกล้กับสถานีสูบน้ำประปา) ซึ่งนับเป็นซุ้มประตูที่วิจิตรพิสดารและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย
เหตุที่ภายในวัดมีซุ้มประตูจีนอยู่ได้ เนื่องจากเจ้าของบ้านซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคหบดีระดับเศรษฐี มีหน้าที่เก็บส่วยและภาษีจากเรือบรรทุกสินค้าที่สัญจรผ่านในแม่น้ำแม่กลอง สร้างกลุ่มอาคารจีนไว้ในที่ดินหลายหลัง แต่ด้วยการระบาดของอหิวาตกโรค ข้าทาสบริวาสในบ้านเสียชีวิตไปจำนวนมาก จึงย้ายครอบครัวหนีไปตั้งรกรากที่อื่น และได้ยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่วัด
ปัจจุบันอาคารถูกปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ ในทางศาสนาแต่ยังคงเหลือกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมจีนอยู่บ้าง ซึ่งที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ ซุ้มประตูโบราณนี้เอง
บนซุ้มประตู ลวดลายส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่อง ฮก ลก ซิ่ว งานสลักไม้ลงสีวิจิตร และมีหลายจุดในรายละเอียดที่ไม่พบในซุ้มประตูอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่อักษรป้ายชื่อเจ้าของบ้าน ซึ่งอ่านแบบแต้จิ๋วได้ว่า “ฮวง ฮะ” ไปสอดคล้องกับหลักฐานการสร้างศาลเจ้า โดยมี นายฮวงฮะ แซ่อึ้ง เป็นหนึ่งในผู้นำในการบริจาคทุนทรัพย์
ภายในวัดช่องลม ยังเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อแก่นจันทน์ แกะสลักจากแก่นไม้จันทน์ ซึ่งเป็นไม้เนื้อหอม หายาก ราคาแพง นิยมใช้ในราชสำนัก มาอยู่ที่วัดช่องลมได้อย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด มีหลายตำนานการค้นพบ แต่ที่ชัดเจนคือ พระเศียรลักษณะอิทธิพลแบบทวาราวดี แต่คาดว่าน่าจะเป็นสมัยอู่ทองเพราะมีการประยุกต์ศิลปะต่างออกไปหลายอย่าง ส่วนช่วงล่างนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นปางใด แต่ได้รับการหล่อขึ้นใหม่เป็น ปางอุ้มบาตร ในแบบรัตนโกสินทร์ตอนกลาง จึงเกิดเป็น “พระพุทธรูป 2 ยุค” และแผลงชื่อเป็น “หลวงพ่อแก่นจันทร์” หนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งเมืองราชบุรี
นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ยังได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการปฏิสังขรณ์วัดสัตตนารถปริวัตร ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีสภาพเป็นวัดร้าง และสร้างวัดขึ้นอีกแห่งในพื้นที่ใกล้หลังศาลเจ้ากวนอู ด้วยความที่เป็นคนหัวสมัยใหม่ ได้ติดต่อกับชาวต่างชาติเป็นประจำ จึงออกแบบสร้างวัดด้วยศิลปกรรมโคโลเนียลยุโรป ตั้งแต่ซุ้มประตูวัด รวมถึงพระอุโบสภ แต่ลักษณะจะเรียบง่าย ไม่เหมือนใคร ไม่มีช่อฟ้าใบระกา โบสถ์หลังไม่ใหญ่นัก เพราะเป็นวัดใหม่ ยังไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ผนังโบสถ์มีการนำหินมาเขียนลายหินอ่อน ติดชุดกระเบื้องลายครามสวดลายสุริยมณฑลสั่งพิเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล่้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า “วัดศรีสุริยวงศาวาส” และทรงอุปถัมป์เป็นพระอารามหลวงตั้งแต่แรกสร้าง และพระราชทานโคมไฟแชงกาเรียประดับในโบสถ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นเชิงเทียน ปัจจุบันดัดแปลงเป็นหลอดไฟฟ้า องค์พระประธานแบบธรรมยุต ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 5 จุดเด่นอยู่ที่ องค์พระมีความเป็นสามัญมนุษย์ จึงไม่มีเนื้อนูนตรงกระหม่อม
วันเวลาผันผ่านกระทั่ง ปี พ.ศ.2465 หรือ 1 ศตวรรษที่แล้วมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวๆ รัชกาลที่ 6 อาคาร “ศาลารัฐบาลรัฐบาลมณฑลราชบุรี” แห่งใหม่ได้รับการก่อสร้างจนสำเร็จเสร็จสิ้น บนพื้นที่ระหว่างตรงกลางระหว่าง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กับ ศาลเจ้ากวนอู ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ศาลากลางจังหวัดราชบุรี” ในปี พ.ศ.2476
จากนั้นถูกทิ้งร้างในปี พ.ศ.2524 หลังมีการย้ายศาลากลางจังหวัดยังอาคารแห่งใหม่ ท้ายที่สุด กรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะและประกาศเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ในปี พ.ศ.2529 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2534
ตัวอาคารได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเช่นเดียวกับ จวน และ วัดศรีสุริยวงศาวาส ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมในช่วงรัชกาลที่ 5-6 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวยกพื้นสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 30x57 เมตร หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ด้านหน้าสร้างเป็นมุขซุ้มโค้ง ตรงกลางมีครุฑและตัวอักษรชื่อหน่วยงาน ภายในเป็นห้องเรียงไปตามขอบด้านนอกของอาคาร ด้านในเปิดโล่งเพื่อระบายอากาศ ปัจจุบันทาสีชมพูอ่อน แทนที่สีเขียวเดิม
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์จัดแสดงที่มาของเมืองราชบุรี ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน หลักฐานยุคทราวดี ทั้ง โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะ เครื่องใช้ เครื่องประดับ เศียรพระพุทธรูป ผอบทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึง อัฐิธาตุ 5 องค์ ที่พบบริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 ตำบลคูบัว ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
เรื่องและภาพ : กอบภัค พรหมเรขา