เลือกกิน "ไก่" แบบไหนดี...เนื้อเหนียว นุ่ม ตัวโต
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนส่วนใหญ่ชอบบริโภค "ไก่" แต่ไม่ค่อยสนใจว่า นี่เป็นไก่บ้าน ไก่เนื้อ ไก่ปลดระวาง หรือไก่อนามัย อนามัยจริงไหม...ลองทำความเข้าใจเรื่องนี้สักนิด
คนส่วนใหญ่เลือกที่จะกินไก่เนื้อ เพราะราคาถูก เนื้อนุ่ม ไม่เหนียว อร่อยเต็มปากเต็มคำ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นไก่ที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ใช้ทั้งยาเร่งโต ยาปฏิชีวนะ และสารพัดเรื่องราวที่ทำร้ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
แต่ไม่มีทางเลือก หรือไม่สนใจที่จะเลือก เพราะคิดคำนวณแล้วว่า ไก่บ้าน ราคาสูงกว่า ไม่สามารถบริโภคได้บ่อยๆ จึงทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเคยชินกับรสชาติไก่ฟาร์มขนาดใหญ่มากกว่าไก่บ้าน
ส่วนไก่ตอน อร่อยนักแล ส่วนใหญ่เป็นไก่ตัวผู้ที่เอาอัณฑะออก เพื่อลดพฤติกรรมทางเพศของไก่ ลดการเคลื่อนไหวของไก่ตัวผู้ ทำให้เนื้อนุ่ม มีไขมันแทรกตามกล้ามเนื้อ รสชาติดีกว่าไก่ที่ไม่ตอน
ถ้าเป็นไก่ตัวเมียไม่นิยมตอน เพราะได้ผลไม่คุ้มค่า ไก่ตอนอาจเลี้ยงในระบบฟาร์มหรือเลี้ยงแบบไก่บ้าน สมัยนี้ไม่ค่อยทำมากนัก เพราะใช้เวลามาก แต่ก็ยังมีคนเลี้ยงไก่ตอนอยู่บ้าง ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้กินข้าวมันไก่ตอน
ถ้าอย่างนั้นลองเลือกดูว่า ไก่แบบไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
- ไก่ตัวโตๆ ต้อง "ไก่เนื้อ"
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก รายงานไว้ว่า ไก่เนื้อในฟาร์มระดับอุตสาหกรรมในเมืองไทย ส่วนมากเป็นไก่สายพันธุ์เร่งโต หรือไก่ที่เจริญเติบโตเร็วผิดปกติ เพื่อเร่งการผลิตเนื้อ ปัจจุบันไก่เนื้อมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อก่อน 4 เท่า
ไก่ในฟาร์มขนาดใหญ่ทั่วไปมีอายุเฉลี่ย 30 - 42 วัน ไม่ต้องแปลกใจที่อายุสั้นกว่าไก่เลี้ยงตามธรรมชาติ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปี เมื่อไก่มีอายุอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน เนื้อไก่ที่เรากินกันจึงไม่ใช่ไก่โตเต็มตัว แต่เป็นไก่วัยรุ่น
ปัจจุบันไก่เนื้อถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมต่อการบริโภค เน้นให้มีน้ำหนักมากที่สุดและเหมาะสมต่อการถูกเชือดโดยเร็วที่สุด
ไก่ที่เลี้ยงในโรงเรือนขนาดใหญ่เป็นหมื่นๆ ตัว ทุกอย่างถูกจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์ไก่ อาหาร วัคซีน และยารักษาโรค
โดยไก่แต่ละตัวอยู่ในพื้นที่แคบกว่าแผ่นกระดาษA4 ทั้งๆ ที่มีนิสัยชอบคลุกดินคลุกฝุ่น ซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติแบบนี้ ช่วยทำให้มันมีขนอันสวยงาม และช่วยกำจัดปรสิต แต่ไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรมไม่เคยเจอสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสดงพฤติกรรมเหล่านี้เลย
นอกจากนี้สายพันธุ์ไก่เนื้อที่พัฒนามาจากต่างประเทศ ยังเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาให้เติบโตเร็วปัจจุบันแค่ 35 วันก็ถูกเชือด มีน้ำหนักสองกิโลกว่าๆ โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาเลี้ยง 40-45 วัน ได้น้ำหนักเฉลี่ย 2.5 กก.พร้อมกิน
ไก่เนื้อเหล่านี้ตัวขาวๆ อกโต น่องใหญ่ ส่วนมากวางขายแยกชิ้นส่วนแล้วเป็นอก สะโพก น่อง และปีก ในราคาถูกเลือกได้
- ไก่บ้านๆ ไขมันน้อย ตัวเล็ก
ฟาร์มไก่บ้าน น่าเป็นอีกทางเลือกของการบริโภคอย่างมีคุณภาพ วิธีการเลี้ยงใช้เวลานานกว่าไก่เนื้อ ไก่บ้านตัวเล็กกว่า ราคาสูงกว่า เพราะต้องดูแลเป็นอย่างดี
วิธีการเลี้ยงไก่บ้าน จึงมีทั้งปล่อยให้หาอาหารกินเอง ข้อดีคือเลี้ยงในพื้นที่เปิด ไก่อารมณ์ดี ได้ออกกำลังกาย ไขมันน้อย กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ส่วนใหญ่เหมาะกับสายพันธุ์พื้นบ้าน
ส่วนไก่อินทรีย์หรือไก่ออร์แกนิค เลี้ยงโดยจำลองสภาพให้เป็นธรรมชาติที่สุด ปลอดภัยในทุกด้าน ไม่ใช้ฮอร์โมน และยาปฏิชีวนะ เลี้ยงในพื้นที่ไม่แออัด ใช้แสงธรรมชาติ ไม่ใช้แสงจากหลอดไฟเพื่อกระตุ้นให้ไก่ให้กินตลอดเวลา
ปัจจุบันไก่บ้านจะเลือกเลี้ยงสายพันธุ์ผสม อาทิ ไก่สามสายพันธุ์ พันธุ์ผสมระหว่างไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่พม่า และไก่พันธุ์ดีมีชื่อเสียง เพื่อให้ไก่แข็งแรง กินเก่งได้เนื้อ
มีข้อสังเกตว่าไก่เบตง ที่เป็นไก่ผู้ตัว ขนาดใหญ่แข็งแรง สามารถเลี้ยงระบบเปิดแบบไก่พื้นบ้านได้ เพราะเป็นสายพันธุ์นักสู้ เนื้อไก่ตัวผู้จึงมีความเหนียวและหนังกรอบกว่าตัวเมีย และไม่มีไขมันใต้ผิวหนัง
นอกจากนี้ไก่บ้านยังมีสายพันธุ์หางแดง ไก่ตะนาวศรี ไก่พวกนี้จะใช้เวลาเลี้ยง 80 วันขึ้นไป จะไม่เลี้ยงเกิน 6 เดือน ถ้านานกว่านั้นเนื้อจะยิ่งเหนียว
- ไก่ไข่ปลดระวาง
ไก่ไข่ปลดระวาง หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ ส่วนใหญ่เป็นแม่ไก่ไข่อายุเกินสิบแปดเดือนถึงสองปี ที่ไม่ค่อยออกไข่แล้ว มันก็เลยถูกปลดประจำการ นำมาเชือดขาย
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไก่ไข่ปลดละวางจะเนื้อเหนียวขนาดไหน ว่ากันว่าเนื้อเหนียวกว่าไก่บ้านซะอีก จึงเหมาะสำหรับคนฟันแข็งแรง ไม่เหมาะกับคนสูงวัย ยกเว้นนำมาทำเมนูต้มตุ๋นนานๆ
ถ้าไม่สังเกตให้ดี ไก่ไข่ปลดระวางอาจไม่ต่างจากไก่พื้นบ้าน ถ้าตัวโตๆ สีเหลืองหนังหนาวาว ๆ บางทีอาจมาในรูปแบบไก่บ้านต้มน้ำปลา นั่นแหละคือ ไก่ไข่ปลดระวาง จะมีราคาถูกมาก
แม้ไก่จะแยกย่อยได้เห็นชัดๆ สามประเภท แต่กลวิธีในการขายแบบแยกชิ้นส่วน ผู้บริโภคต้องหมั่นสังเกตอีก บางชนิดปนเปื้อนสารพิษ โดยการทำให้เกิดเข้าใจผิดว่า นี่คือไก่ที่มีคุณภาพ โดยบรรจุเป็นแพคๆ แล้วเขียนว่า ไก่อนามัย,ไก่ปลอดภัย (มีการใช้สารเคมี สารสังเคราะห์ ในระยะที่ไม่เป็นอันตราย)
------------------
อ้างอิง :
-องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
-กินเปลี่ยนโลก