สำรวจ กทม. ตรงไหน "น้ำท่วมซ้ำซาก" พร้อมไอเทมที่ควรพกช่วงหน้าฝน
เช็กลิสต์จุด "น้ำท่วมซ้ำซาก" ใน กทม. อย่าง 'แจ้งวัฒนะ-ถนนราชวิถี-ถนนพญาไท' และถนนอื่นๆ อีก 12 จุดที่ควรเลี่ยงน้ำท่วมขัง พร้อมแนะนำไอเทมที่ควรติดกระเป๋าช่วง "หน้าฝน"
ฝนที่ตกทางโน้น ท่วมถึงคนทางนี้... เริ่มต้นหน้าฝนไทยอย่างเป็นทางการมาได้ไม่กี่วัน (ตั้งแต่ 13 พ.ค. ตามประกาศกรมอุตุฯ) ชาวกรุงก็เจอกับฝนตกหนักต่อเนื่องจน "น้ำท่วมขัง" หลายพื้นที่ โดยเฉพาะจุด "น้ำท่วมซ้ำซาก" เกิดปัญหารถติด และกลายเป็นวาระสำคัญที่คนกรุงเทพฯ ถามหาทางแก้ไขจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก่อนที่จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. ที่จะถึงนี้
สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ผลสำรวจจุดน้ำท่วมขังในกทม. พบว่ามีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง จำนวน 12 จุด ในพื้นที่ 8 เขตด้วยกัน และมีการออกประกาศเตือนให้ประชาชนเลี่ยงการเดินทางจุดดังกล่าวในวันฝนตกหนัก ได้แก่
พื้นที่ฝั่งพระนคร จำนวน 9 จุดใน 6 เขต
1. เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ
2. เขตบางซื่อ ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน
3. เขตหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงจากคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร
4. เขตดุสิต ถนนราชวิถี บริเวณหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธนบุรี
5. เขตราชเทวี ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์
6. เขตราชเทวี ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้า สน.พญาไท
7. เขตสาทร ถนนจันทน์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา
8. เขตสาทร ถนนสวนพลู ช่วงจากถนนสาทรใต้ ถึงถนนนางลิ้นจี่
9. เขตสาทร ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์
พื้นที่ฝั่งธนบุรี จำนวน 3 จุดใน 2 เขต
10. เขตบางขุนเทียน ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม
11. เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ช่วงจากคลองทวีวัฒนา ถึงคลองราชมนตรี
12. เขตบางแค ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ ช่วงจากถนนเพชรเกษม ถึงวงเวียนกาญจนาภิเษก
โดยในปี 2565 กรุงเทพมหานครวางเป้าหมาย ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้เหลือ 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมให้ลดลงเหลือ 36 จุด
โดยแผนแก้ไขทางน้ำท่วมจากของ กทม. ได้วางไว้ 3 ระดับ ตั้งแต่ "ก่อนฝนตก-ระหว่างฝนตก-หลังฝนตก" โดยก่อนฝนตกให้แจ้งเตือนประชาชนจากระบบเรดาห์ของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะ "ระหว่างฝนตก" ให้เร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 แห่งให้เร็วที่สุด เพราะหากการระบายน้ำเข้าสู่ระบบ "ระบายน้ำหลัก" ไม่สามารถทำได้เต็มกำลัง ต้องเร่งระบายน้ำเข้าระบบ "ระบายน้ำรอง" หรือจุดย่อย เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น
แม้ว่าจะมีแผนที่ค่อนข้างชัดเจน แต่บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าฝนตกหนักต่อเนื่องในบางช่วง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเกินกว่าที่จะคาดคิด ประชาชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อนในระดับหนึ่ง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ แนะนำอุปกรณ์ที่ควรพกไว้ให้อุ่นใจในช่วงหน้าฝนนี้
- สเปรย์ฉีดรองเท้ากันน้ำ
สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับช่วงหน้าฝนคือรองเท้ามักจะเปียก ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ หรือรถยนต์ส่วนตัวก็ย่อมเจอปัญหารองเท้าเปียกไปตามๆ กัน ดังนั้นสิ่งที่ควรหาซื้อไว้ในช่วงหน้าฝนคือ "สเปรย์ฉีดรองเท้ากันน้ำ"
อุปกรณ์นี้ใช้สำหรับฉีดลงไปที่สิ่งของที่เราไม่อยากให้เปียกน้ำ โดยตัวสเปรย์จะแทรกซึมลงไปในเส้นใย และสร้างเกาะป้องกันน้ำและคราบสกปรกต่างๆ ปกติสเปรย์ฉีดรองเท้านิยมฉีดบนโรงเท้าหนัง แต่ปัจจุบันก็มีหลายแบรนด์ที่ทำออกมาเพื่อให้ใช้ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น ใช้ฉีดลงบนเสื้อผ้า รองเท้าผ้าใบ รองเท้าหนัง โดยราคาตามท้องตลาดทั่วไปก็อยู่ที่หลักร้อยบาทเท่านั้น
- ร่มพกพา กันลมกันฝน
ในซีรีส์เกาหลี หรือฝั่งอังกฤษเราจะคุ้นชินกับภาพของตัวละครเดินถือร่มหรือมีร่มพกติดตัวเป็นประจำเวลาเดินทาง สำหรับประเทศไทยเองก็จำเป็นมากๆ เช่นกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะกับหน้าฝน เพราะในวันที่แดดร้อนแรง ร่มก็คือเพื่อนแท้ยามยากอย่างแท้จริง
นวัตกรรมร่มมีมากมายจนนับไม่ถ้วน มีทั้งขนาดกะทัดรัด สีสันสดใส แต่ร่มที่เหมาะสำหรับใช้งานในช่วงหน้าฝน ควรเลือกร่มที่โครงแข็งแรง ทนทานต่อลมพายุได้ดี เพราะบ่อยครั้งเมื่อฝนใกล้ตกแล้วหยิบร่มมากางร่มบางรุ่นมักจะปลิวตามลมไปก่อนทุกที ดังนั้นการเลือกซื้อร่มมาใช้ในช่วงหน้าฝน จึงต้องเน้นเรื่องความแข็งแรงมากกว่าร่มที่ใช้กันแดด อย่างไรก็ตาม คนไทยควรพกร่มไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
- กระเป๋ากันน้ำ
อุปกรณ์สำคัญชิ้นต่อมา คือ "กระเป๋ากันน้ำ" โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่ต้องพกแล็ปท็อปติดตัวไปยังสถานที่ต่างๆ เพราะว่าบางครั้งแม้ว่าเราจะกางร่มกันฝนแล้ว แต่ละอองฝนก็ยังกระเด็นใส่กระเป๋าจนเปียกอยู่ดี ทำให้สิ่งของข้างในกระเป๋าอาจจะโดนความชื้นจนเสียหายได้
ปัจจุบันกระเป๋ากันน้ำมีหลายแบบหลายดีไซน์ และทำจากนวัตกรรมเนื้อผ้าที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้สามารถเลือกซื้อได้ง่าย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องราคาและความสวยงามของการใช้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
- รองเท้าแตะ
ถ้าใครเป็นคนประเภทรักรองเท้า หรือต้องใช้รองเท้าแพงๆ เดินทางช่วงฝนตก การใช้สเปรย์ฉีดรองเท้ากันน้ำอาจจะยังไม่เพียงพอ ดังนั้นอีกหนึ่งวิธีที่อยากแนะนำคือ ให้พกรองเท้าแตะไปด้วย ใช้เปลี่ยนเมื่อต้องเจอวิกฤติ "น้ำท่วมขัง" จนต้องตัดสินใจลุยน้ำ โดยควรเลือกรองเท้าแตะที่ทำจากยางหรือซิลิโคนที่สามารถลุยน้ำได้ และระบายอากาศได้ดี
- เสื้อกันฝน
ถ้าไอเทมข้างบนยังสู้ฝนได้ไม่พอ เราขอให้เสริมเสื้อกันฝนเข้าไปอีก คุณสมบัติของอุปกรณ์ชิ้นนี้ก็ตามชื่อเลยคือ ช่วยป้องกันการเปียกฝน แต่ตอนเลือกก็อาจจะพิจารณาหาซื้อเสื้อกันฝนที่พกง่าย ใส่ง่าย เบา สบาย ใส่ได้หลายครั้ง
แม้การมาถึงของ "หน้าฝน" มักจะทำเอาชาว กทม. และคนไทยในหลายๆ พื้นที่ปวดใจไปตามๆ กัน เพราะเจอฝนตกทีไร ไม่ใช่แค่ตัวเปียก แต่ยังเป็นสาเหตุของปัญหารถติด น้ำท่วมขัง ส่งผลให้ไปทำงานสาย ไม่สบายตัว หงุดหงิดใจ แต่อย่างน้อยเชื่อว่าไอเทมที่เราแนะนำไปข้างต้น ก็น่าจะช่วยให้คุณฝ่าวิกฤติฝนตกหนักไปได้ไม่มากก็น้อย ยอมลงทุนพกของเพิ่มขึ้นอีกหน่อยเพื่อให้ใช้ชีวิตในหน้าฝนได้ราบรื่นมากขึ้น
-------------------------------------------
อ้างอิง : ddpropert, jd.co.th, สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร