มองแนวบริหาร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผ่านหนังสือที่อ่าน ก่อนเป็นผู้ว่าฯกทม.
สำรวจองค์ประกอบทางความคิดของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผ่านหนังสือที่อ่าน ชัชชาติอ่านอะไร? ถึงได้ใจคนกรุงเทพฯ
ถ้าคุณเชื่อสำนวนที่ว่า You are what you eat ซึ่งหมายถึง “คุณกินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นอย่างนั้น” คุณก็น่าจะเชื่อกับอีกสำนวนที่ว่า You are what you think หรือที่สื่อความหมายได้ว่า “เมื่อคุณคิดอย่างไรก็จะกลายเป็นคนแบบนั้น”
ทว่าทั้งเรื่องสุขภาพที่มาจากอาหาร หรือความคิดที่มาจากประสบการณ์ที่บ่มเพาะ ไม่ได้ถูกสร้างภายในวันเดียว และนับเฉพาะในเรื่อง “ความคิด” สิ่งที่เป็น DNA สำคัญ หนีไม่พ้นการถูกประกอบสร้างจากการอ่าน และในฐานะที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กำลังจะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 และเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งในรอบกว่า 9 ปี เขาอ่านอะไร และเชื่อแบบไหน ถึงประกอบเป็น “ตัวตน” ที่เอาชนะใจคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ ได้
" ชีวิตผมมีวันนี้ได้ ก็เพราะเรื่องการอ่าน การอ่านเป็นการเพิ่มวิธีคิด”
“ถ้าคุณไม่มีต้นทุนอยู่ในสมอง คุณเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว คุณจะเปลี่ยนการกระทำต้องเริ่มจากสมองก่อน”
“หัวใจสำคัญอยู่ที่ทุกคนอย่าหยุดนิ่ง อ่านเยอะๆ อ่านที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราด้วย แล้วมันก็จะเกี่ยวข้องกับเราเอง หาจุดที่มันมาลากเส้นได้ แล้วก็ลากเส้นเชื่อมโยง”
ข้างต้นคือตัวอย่างถ้อยคำของ ชัชชาติ ที่ว่าด้วยการอ่าน ซึ่งถูกสื่อสารมาตั้งแต่ช่วงปี 2017 ทั้งจากเฟสบุ๊คส่วนตัว และการให้สัมภาษณ์สื่อในช่วงหาเสียง
ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม.อ่านอะไรบ้าง และความคิดในเชิงบริหารที่ได้จากการอ่านของเขาจะเป็นแบบไหน?
- 'Think Again' ของ Adam Grant และ Thinking, Fast and Slow ของ Daniel Kahneman
ตั้งแต่ก่อนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร หนังสือหมวดวิธีคิดเป็นหนังสือที่ชัชชาติ พูดถึงบ่อยที่สุด
“ทุกอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงได้มันเริ่มจากความคิดก่อน ทั้งการเปลี่ยนประเทศ ลดความขัดแย้ง มันต้องเริ่มจากวิธีคิดก่อน”
ทั้ง 2 เล่ม 2 เรื่อง เป็นผลงานของนักจิตวิทยา เล่มแรก Think Again หรือแปลเป็นไทยว่า คิดแล้ว คิดอีก มีทั้งที่เป็นหนังสือทั้งในเวอร์ชั่น Original ภาษาอังกฤษ และในฉบับแปลเป็นภาษาไทยซึ่งชัชชาติ บอกว่า เขาชอบและแนะนำหนังสือเล่มนี้เพราะแก่นของเรื่อง คือต้องการสร้างสังคมที่ต้องคิดใหม่ เพราะถ้าคิดใหม่ไม่ทัน สุดท้ายอาจตกขบวนความเปลี่ยนแปลง และหนังสือเล่มนี้ของ Adam Grant ศาสตราจารย์ด้าน organizational psychology ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเอง ให้ยำเกรงในความไม่รู้ และให้ถ่อมตนกับความรู้ การเปิดรับฟังเหตุผล รับฟังความคิดใหม่ๆอยู่เสมอ
ขณะที่ Thinking Fast & Slow ของ Daniel Kahneman นักจิตวิทยาอีกคน ชัชชาติ ให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยเรื่องระบบคิดอีกเช่นกัน ด้วยหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีความคิดและการตัดสินใจนี้ อธิบายว่า มนุษย์จะมีความคิด 2 ระบบที่ใช้คู่เคียงกันไป
โดยระบบแรกนั้นจะเป็นการคิดแบบไวๆ ทำตามสัญชาตญาณ ส่วนระบบที่สองนั้น จะเป็นการคิดช้าๆ แบบเพ่งพินิจ ใช้สมาธิ ใช้ต่อเมื่อต้องการโฟกัสในการทำอะไรสักอย่างที่ซับซ้อนหรือยาก ต้องใช้สมาธิและการจดจ่อบางอย่าง ไม่ใช่การตัดสินใจหรือการกระทำแบบฉับพลันได้
สองระบบนี้ทำงานควบคู่กันไปเสมอ เราไม่สามารถพึ่งพาระบบไหนได้เพียงอันเดียว เพราะแต่ละส่วนล้วนมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างไป ระบบแรกนั้นมีข้อดีตรงที่ไม่กินแรง ทำให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่มีข้อเสียตรงที่อาจจะพ่ายแพ้ต่อกลลวง ภาพลวงตา หรืออคติทางจิตได้ ส่วนระบบที่สองนั้นดีตรงที่สามารถช่วยให้เราทำอะไรยากๆ ได้ แต่ข้อเสียก็ต้องใช้สมาธิและเวลาในการพิจารณา
“หนังสือสอนวิธีคิดและวิธีตัดสินใจ บอกอย่าใช้อารมณ์เยอะกว่าเหตุผล ดังนั้นหากต้องการให้สังคมไทยก้าวไปอย่างมั่นคงได้ ต้องส่งเสริมให้มีการคิดอย่างมีเหตุผล หรือ Thinking Society ให้มากขึ้น อย่าใช้ Emotion หรืออารมณ์เยอะ ถ้าอย่างนั้นเราอาจจะหลงไปอีกทางหนึ่ง” ชัชชาติกล่าวถึง Thinking Fast & Slow
- How to win friends & influence people
หนังสือเล่มนี้ ชัชชาติ เคยบันทึกไว้ในเฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อต้นปี 2014
“ช่วงปีใหม่ ผมอ่านหนังสือเล่มนึง "วิธีการหาเพื่อนและโน้มน้าวใจคน How to win friends & influence people" โดย Dale Carnegie ครับ หลายๆ คนคงจะเคยอ่านแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้เขียนเมื่อปี คศ.1936 (พศ. 2479) แต่เนื้อหาหลายๆเรื่องยังใช้ได้ในปัจจุบันครับ”
How to win friends & influence people โฟกัสไปที่ศิลปะในการสื่อสาร แบ่งเป็น4 บท ได้แก่
บทที่ 1 พื้นฐานในการปฏิบัติกับผู้อื่น
บทที่ 2 หกวิธีที่จะชนะใจคน
บทที่ 3 การทำให้คนอื่นยอมรับในความคิดของเรา
บทที่ 4 การเป็นผู้นำ เพื่อเปลี่ยนคนอื่นโดยไม่ทะเลาะกันซึ่ง
หลักการของทั้ง 4 บท คือการยอมรับถึงความผิดพลาด บกพร่อง ของตัวเองก่อนจะวิจารณ์คนอื่น และแก่นของเนื้อหาเป็นหลักการ ง่ายๆ หลายๆข้อ เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่ง ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า ในหลายๆครั้ง เราก็จะพูดแต่เรื่องของตนเอง พูดในสิ่งที่เราสนใจ ฟังเพียงเพื่อรอโอกาสที่จะได้พูดอีกครั้ง ข้อคิดเหล่านี้บางทีก็ช่วยให้เราเตือนตัวเองได้ และ ข้อสำคัญต้องทำจากใจจริงๆ
- Designing Your Life
สมัยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารเเละกรรมการผู้จัดการ บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ หัวข้อที่เขามักบรรยายให้กับผู้สนใจในธุรกิจคือ Design your life, Design your Business
ชัชชาติ ให้ความสำคัญเรื่อง Design Thinking เป็นอย่างมาก ซึ่งในเชิงองค์กรเปรียบเสมือนการออกแบบที่เข้าใจลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจในทุกๆมิติ ขณะเดียวกันเขาก็ยังเชื่อในเรื่องออกแบบชีวิตตัวเอง และนั่นจึงเป็นที่มาของ หนังสือ Designing Your Life การออกแบบชีวิต เขียนโดย Bill Burnett กับ Dave Evans ที่เขายกตัวอย่างมาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหาเสียง
“ถ้าเรามองไปรอบ ๆ ห้องเรียน ทุกอย่างในห้อง ล้วนแต่ได้รับการออกแบบมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดาน โคมไฟ ผนังห้อง โต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋าถือ หรือ แม้แต่แก้วพลาสติกใส่น้ำใบเล็ก ๆ แต่มีสิ่งหนึ่งในห้องเรียนที่อาจจะไม่ได้ถูกออกแบบมาเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด นั่นคือ ชีวิต ของพวกเรา” ชัชชาติ พูดไว้ในเฟสบุ๊ค เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2017
หนังสือเล่มนี้ นำหลักการของ Design Thinking มาใช้ออกแบบชีวิต มีแบบฝึกหัดให้ผู้อ่านได้ประเมินตัวเองว่าชีวิตปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง โดยใช้ปัจจัย 4 ด้าน Health, Work, Play, Love แต่ละด้านเป็นอย่างไรบ่้าง จาก 0 - 100 เพื่อให้รู้ว่าควรจะออกแบบชีวิตด้านไหนก่อน
ส่วนผู้เขียนซึ่งคือ Bill Burnett กับ Dave Evans คือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำผู้ประยุกต์ใช้ Design Thinking เข้ากับการออกแบบชีวิต และเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตร Designing Your Life ซึ่งกลายเป็นวิชายอดนิยมแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนังสือเล่มนี้กลั่นกรองประสบการณ์และเคล็ดลับที่ผู้เขียนสั่งสมมาตลอดหลายปี ตั้งแต่วิธีค้นหาปัญหาที่ถูกต้อง การสร้างทีม การออกแบบงานในฝัน ไปจนถึงการสร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลว
- Zero to One โดย Blake Masters and Peter Thiel
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนคือผู้ก่อตั้ง PayPal ซึ่งในช่วงนั้นเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ยังแทบไม่มีใครรู้จัก โดยเขามองว่าชีวิตธุรกิจก็เปรียบเสมือนเป็น Zero to One หรือ การเคลื่อนตัวจากจุด 0 ไปยังจุด 1
การนับเลขจาก 0 ไป 1 นั้น ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่คือการสื่อถึงการเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ให้เกิดเป็นรูปธรรมเริ่มต้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเป็น 1 แล้ว จากนั้น 2,3,4…ก็จะตามมา
การเริ่มต้นจากสิ่งที่ “ไม่มี”เป็น “มี” คือขั้นตอนที่ยากที่สุด ซึ่งต่างไปจากวิวัฒนาการทางธุรกิจทั่วๆ ไปที่เป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมให้ดีขึ้น และการที่จะทำสิ่งเช่นนี้ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้นั้น ต้องมาจากความกล้าท้าทายแนวคิดเดิมๆ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้โลก
นอกจากนี้ชัชชาติ ยังเคยแนะนำ Good to great เป็นหนึ่งในหนังสือธุรกิจระดับตำนาน เป็นผลงานการค้นคว้าของ Jim Collins และ ทีมงาน ที่ไปศึกษาบริษัทใน Fortune 500 จำนวน 1,435 บริษัทว่า การที่จะก้าวจากบริษัทที่ดี (good) เป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยม (great) ซึ่งคัดมาได้เพียง 11 บริษัท ต้องทำอย่างไร
หนังสือ Post Corona : From Crisis to Opportunity โดย Scott Galloway ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์โลกอนาคตหลังการระบาดโควิด 19 อย่างรอบด้านและแฝงอารมณ์ขัน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นนักอ่าน และตลอดช่วงเวลาการหาเสียงเขาไม่พลาดที่จะตอบคำถามถึงหนังสือที่แนะนำ และหนังสือ 4-5 เล่มนี้ คือหนังสือที่ชัชชาติ อ้างถึงบ่อยที่สุด ต่างกรรม ต่างวาระ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหนังสือที่ยกมาก็ต้องบอกว่า เป็นนักอ่านที่แสวงหาวิธีคิดใหม่ๆ ยืดหยุ่น และพร้อมจะทำความเข้าใจความแตกต่าง ซึ่งต้องติดตามกันว่า ผลงานการบริหารต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้เมื่อรวมถึงแนวทางการส่งเสริมการอ่านในกรุงเทพ ซึ่ง ชัชชาติ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. เคยให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมสนับสนุน และ กรุงเทพฯ จะมีห้องสมุดทุกเขต และผู้บริหารพร้อมซัพพอร์ตอย่างเต็มที่
ที่มา : เฟสบุ๊ค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
เรื่องเล็กๆ แบบไหน...ที่“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ทำได้เลย