คุยกับ “นักบิน” ที่ผันมาเป็น “ไรเดอร์” ถึงบทเรียนชีวิตที่โควิด-19 สอน
โควิด-19 สอนอะไรเราบ้าง ? คุยกับ "นักบิน" ที่เปลี่ยนมาเป็น "ไรเดอร์ฟู้ดเดลิเวอรี่" เพื่อเลี้ยงครอบครัว บทเรียนใดบ้างที่เขาได้ตลอด 2 ปีที่ต้องเปลี่ยนจากกัปตันเครื่องบินบนฟ้า สู่นักขับส่งอาหารบนท้องถนน
กัปตันเครื่องบิน, ผู้จัดการโรงแรม, พนักงานบริษัท และอีก ฯลฯ ต้องผันตัว เปลี่ยนอาชีพมาเป็นไรเดอร์ฟู้ดเดลิเวอรี่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเคยได้ยิน นั่นเพราะตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องยุติกิจการหรือชะลอการเติบโตของธุรกิจลงชั่วคราวเพราะ โควิด-19
เมื่อธุรกิจไม่เหมือนเดิม ส่งผลให้แรงงานต้องออกจากระบบที่เคยคิดว่ามั่นคง ดิ้นรนสู่การทำอาชีพเสริม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเลือกทำอาชีพแรงงานแพลตฟอร์ม อย่างการเป็น ไรเดอร์ฟู้ดเดลิเวอรี่
ดิษฐวัฒน์ วงษ์คำจันทร์ อดีตนักบินคือหนึ่งในแรงงานที่ต้องเปลี่ยนตัวเองตามสถานการณ์ข้างต้น เขา ผันจากกัปตันเครื่องบิน สายการบินพาณิชย์สู่การเป็นคนขับรถส่งอาหารตั้งแต่พฤษภาคม 2563 เปลี่ยนจากรายได้หลักแสนต่อเดือนสู่การคำนวณค่าแรงเป็นรายวัน มีระยะเวลาการทำงานตั้งแต่ 6.30-17.30 น. แลกกับรายได้ 800-1000 บาทต่อวัน
“ผมขับทุกวันครับ ย้ำว่ามันเป็นอาชีพหลักไปแล้ว จะมีวันหยุดบ้างคือวันอาทิตย์เพื่ออยู่กับลูก หรือไม่ก็ทำวันอาทิตย์แค่ถึงช่วงบ่าย แต่ทำงาน 6 วัน /สัปดาห์ วันล่ะ12- 15 ชั่วโมง คือเรื่องปกติ เป็นแบบนี้มา 2 ปีแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ก็ไปต่อใบอนุญาตการบิน ซึ่งพนักงานก็ได้ถามผมว่ารับใบอนุญาตการบินแทนเหรอ? ผมบอกไม่ใช่ มาต่อใบอนุญาตของผมเองนี่แหละ แต่วันนั้นผมใส่ชุดพนักงานแกร็บไป” ดิษฐวัฒน์ ย้อนถึงเรื่องราวไม่กี่วันที่ผ่านมาซึ่งเรื่องของเขาถูกแชร์ในโลกออนไลน์
ดิษฐวัฒน์ วงษ์คำจันทร์ อดีตนักบิน ที่ผันมาเป็นไรเดอร์
- "กัปตันเครื่องบิน" กับ คน "ขี่มอเตอร์ไซค์"
แน่นอนว่า กัปตันเครื่องบินที่ผันมาเป็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่าบทเรียนของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงตลอด 2 ปีที่เปลี่ยนวิถีการทำงาน คุณดิษฐวัฒน์ ก็ได้คิดและทบทวนจนสกัดมาเป็นคำตอบ
อย่างแรก คือเรื่องบ้าน เขา เล่าว่า จากเดิมในหมู่บ้านเดี่ยวย่านสนามบิน เพื่อนบ้านมักจะเห็นเขาในชุดกัปตันเครื่องบิน ขับรถออกไปทำงาน แต่เมื่อวันหนึ่งเขาต้องเปลี่ยนมาเป็นใส่ชุดไรเดอร์ ขี่มอเตอร์ไซค์ ก็มีเพื่อนบ้านหลายคนที่ตกใจไม่น้อย
“มีบ้างที่มองเราแบบ งงๆ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ขี่ออกนอกบ้านพนักงานรักษาความปลอดภัยก็มอง แต่ก็มีอีกด้านที่เขามาให้กำลังใจเรา มาพูดคุยถามไถ่ เอาขนมมาฝาก แสดงความเห็นใจ ซึ่งส่วนหนึ่งผมว่าเป็นเพราะทุกคนเข้าใจดีว่าเราเจอกับอะไร และโควิด-19 ก็อาจจะทำให้ใครก็ได้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์นี้ สิ่งนี้จึงเป็นตัวอย่างให้เขาได้เรียนรู้ว่า ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท และอะไรก็เกิดขึ้นได้ สำคัญคือสติการแก้ปัญหา ไม่ใช่การมานั่งพะวงว่าใครจะมองเราอย่างไร”
ลำดับต่อมา ดิษฐวัฒน์ กล่าวว่า คือทัศคติต่อการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา มักมีความคิดเสมอว่า ตัวเองอยู่ในอาชีพที่ทำรายได้ดี เป็นอาชีพที่มั่นคง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จงละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นว่าทุกอย่างจะเป็นเช่นเดิม
ทั้งนี้เพราะเมื่ออะไรก็เกิดขึ้นได้ การละทิ้งความภูมิใจส่วนตัว และใช้ชีวิตในวันนี้ให้ดีที่สุดจึงยังเป็นคำตอบ
เสื้อเครื่องแบบไรเดอร์ฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ถูกแขวนไว้ที่บ้าน
“ผมไม่ได้ขับรถเก๋งเลย มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งไว้ขับส่งอาหาร วิ่งจะเป็นแสนโลแล้ว พอตั้งตัวได้เราก็ต้องอยู่ให้ได้ ทุกวันนี้มีความสุขที่ได้ตื่นขึ้นมาและออกมาวิ่งรถจักรยานยนต์ส่งอาหารเพราะคิดว่า ชีวิตยังมีความหวังเสมอ หากเราไม่รีบลุกชีวิตก็คงไปต่อไม่ได้ ต้องสู้ต่อไปเพื่อครอบครัว”
อย่างที่สามคือ การเรียนรู้ทักษะส่วนตัวที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในที่นี้ รวมถึง ทักษะในการหมุนเงิน กู้เงิน การจัดการหนี้ เพื่อพยุงครอบครัว โดยเฉพาะค่าเทอม ของลูก ทั้ง 3 คน
"เพื่อนนักบินที่รู้ข่าวเขาก็ยื่นมือมาช่วยนะ บางคนไม่เดือดร้อนเพราะเขามีธุรกิจอื่น บางคนก็แย่เหมือนกันแต่ก็ยังพออยู่ได้ หลายคนยื่นมามาช่วยแต่เราอยากดิ้นรนด้วยตัวเองก่อน"
นอกจากเรื่องทักษะจัดการการเงินแล้ว ยังรวมถึงเป็นทักษะการขับขี่มอเตอร์ไซค์ในเมือง ที่ต้องเอาตัวรอดอย่างปลอดภัยท่ามกลางการจราจรในเมืองที่ใครๆก็รู้ว่าสาหัสขนาดไหน
“การขับเครื่องบินต้องใช้ความรู้และทักษะซึ่งเราร่ำเรียนมาตลอด มีครูคอยสอน มีการไต่เต้าจากผู้ช่วยมาเป็นนักบิน แต่การขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร เราคิดจะเริ่มงานแล้วลุยเลย ซึ่งวันแรกก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน ต้องทำเวลา ต้องรีบเร่งให้สมกับลูกค้าคาดหวัง และสอนให้เราไม่ประมาทในการขับขี่แม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว เพราะขับเครื่องบิน มีเทคโนโลยี มีอุปกรณ์มากมายที่ช่วย Re-check ความปลอดภัย แต่กับการขี่มอเตอร์ไซค์ทุกอย่างอยู่สองมือเรา พลาดแล้วมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทันที ต้องใจเย็นด้วย เพราะบนถนนก็มีโอกาสจะเจอกับสิ่งที่เราไม่คาดคิด”
“ผมยังวันที่จะได้กลับมาเป็นนักบินนะ ยังไม่คิดจะใช้วุฒิไปสมัครงานที่อื่น เพราะอาชีพนักบินคือความฝันของผม ผมมีความสุขที่ได้บิน แต่วันนี้ผมต้องอยู่กับความจริง ต้องสู้ ต้องดิ้นรนเพื่อครอบครัว ชีวิตยังมีความหวัง และเราต้องอยู่กับความเป็นจริง”
นี่แหละชีวิตที่เรียนรู้จากโควิด-19
ภาพจากเฟสบุ๊ค Ditthawat Wongkamchan