“โนรา” ในเรือกอนโดลา Soft Power ไทย ในประเทศอิตาลี
“โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ไทย ถูกนำไปแสดงที่เมืองเวนิส กำลังโด่งดัง เพราะเป็นศิลปวัฒนธรรมที่คนอิตาลีและคนทั่วโลกอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน
นับเป็นครั้งแรก ที่มีการร่ายรำ “โนรา” บนเรือ “กอนโดลา” กลางสายน้ำของเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ด้วยการแสดงของ ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ปี 2564
เป็นการเบิกทาง พาศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ของไทยไปสู่สากล ด้วยการร่ายรำเปิดนิทรรศการ “มรดก โนรา : Spirit of NORA” ในงาน “Venice Biennale 2022” ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
หลังจาก “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของคนภาคใต้ในประเทศไทย ได้รับการประกาศให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จาก องค์การยูเนสโก (UNESCO, United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564
นับเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ลำดับที่ 3 ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนต่อจาก โขน และ นวดไทย
Cr.ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - Thummanit Nikomtat
- มรดกทางวัฒนธรรมคืออะไร
“มรดกทางวัฒนธรรม” หมายถึง ผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ การคิดค้นในสิ่งที่ดีงาม ในรูปแบบที่จับต้องได้ (สัมผัสได้) และจับต้องไม่ได้ (สัมผัสไม่ได้) แล้วเรียนรู้สืบทอด ต่อกันมา รวมถึงสิ่งที่ยังคงเหลือเป็นหลักฐานให้เห็นในปัจจุบัน
มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ได้แก่ ศิลปวัตถุในสาขาทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม อนุสาวรีย์ ที่ปรากฏรูปในทางกายภาพ
มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ คือ ขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันทางวาจา การแสดงออกทางมุขปาฐะ ศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาชาวบ้าน และงานช่างฝีมือดั้งเดิม
Cr.ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - Thummanit Nikomtat
- เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale)
เป็น เทศกาลงานศิลปะ ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีความสำคัญต่อวงการศิลปะ ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พ.ค. ถึง 3 ก.ค. 2565
ประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิสงขลาเมืองเก่า, สงขลา พาวิลเลียน, สภาวัฒนธรรมไทยแห่งสาธารณรัฐอิตาลี และฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
นำ นิทรรศการ มรดก โนรา’ Spirit of NORA : Intangible Culture Heritage Of Thailand ศิลปะดั้งเดิมผสมผสานการตีความผ่านมุมมองจากหลากหลายศิลปินในรูปแบบศิลปะร่วมสมัย ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ไปแสดง
ที่พิเศษกว่าทุกปีคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ศิลปินกิตติมศักดิ์ ทรงส่งผ้าไทยไปจัดแสดงภายในงาน ในนามมูลนิธิ อารยศิลป์ สิริวัณณวรีนารีรัตน์ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล
Cr.ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - Thummanit Nikomtat
- เหตุผลที่เลือก "โนรา" ไปแสดง
อาจารย์ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) ในฐานะคิวเรเตอร์และศิลปิน กล่าวว่า โนรา มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ
“ครั้งนี้เราจะทำเรื่อง โนรา ถ้าอยู่ ๆ พูดเรื่อง โนรา ฝรั่งไม่เข้าใจแน่ ๆ เรามีโนราที่เป็นครู นี่คือรากของเรา เราจะมีครูโนราไปรำจริง ๆ ไปสาธิต ไปใช้ชีวิตกับพวกเราจริง ๆ
ประกอบด้วย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติปี 64 อาจารย์ ควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ ศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และมีเวิร์กชอปโดยสภาวัฒนธรรมไทย”
โนรา มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ มีเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา มีทฤษฎี กว่าจะรำสักครั้งหนึ่ง ตั้งแต่แต่งตัวแต่งหน้าจนกระทั่งออกไปรำ มีขั้นตอนเยอะมาก
ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนช่วย และการฝึกกว่าจะเป็น โนรา ท่าต่าง ๆ มีเวลามีขั้นตอนเหมือนฝึกวิทยายุทธ์ ไม่ใช่ของเล่น เป็นของที่มีความเชื่อ
ส่วนการถ่ายทอดของครูกับศิษย์ การรำ ท่าทางต่าง ๆ ที่ฝึก รวมทั้งการออกกำลังกายเหมือนกับนักกีฬา กว่าจะได้เป็น โนรา หรือกว่าจะได้รำ เป็นเรื่องของมีขนบและมีความเชื่อที่ซ้อนอยู่
ศิลปะคือภาษาสากล ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวอักษร สามารถสื่อสาร ทำความเข้าใจกันด้วยเทคนิควิธีการ ไม่ว่าท่าทาง รูป หรืออะไรก็ตาม นี่คือความร่วมสมัย”
Cr.ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - Thummanit Nikomtat
- "โนรา" ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ปี 2564 กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุน โนรา ต่อไป
“ศิลปะ โนรา ของภาคใต้ เป็นที่ยอมรับว่ามีความงดงาม มีคุณค่า มีคุณประโยชน์กับคนทุกคน อยากให้กิจกรรมลักษณะนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนส่งเสริมให้กับศิลปิน โนรา คนต่อๆ ไป ในโอกาสข้างหน้าด้วย
นี่เป็น ใบเบิกทาง ในการพัฒนาศิลปะที่เกิดจากการพัฒนาของตัวศิลปินเราต้องทำตัวเองให้เข้มแข็งก่อน ถ้าเขาเห็นว่าเรามีความเข้มแข็งเขาก็จะเข้ามาให้ความร่วมมือสนับสนุน
เหมือน สงขลาพาวิลเลียน ที่มีความรักความผูกพันกับศิลปะทุกแขนงและสนับสนุนส่งเสริม เป็นสิ่งสำคัญช่วยให้มีการขับเคลื่อน โนรา ให้ไปพร้อมกับศิลปะแขนงอื่น
คิดว่าใน เวนิส ครั้งต่อไปคงมีงานศิลปะแขนงอื่น ๆ เข้ามาแบบนี้ ความงดงามของศิลปะการแสดง โนรา เป็นความภาคภูมิใจว่าศิลปะพื้นบ้านโนรา ไม่ได้ถูกทอดทิ้งแล้ว”
Cr.ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - Thummanit Nikomtat
หลังจากบอกเล่าความรู้สึก ที่ "โนรา" ได้ก้าวสู่เวทีโลก ด้วยความตื้นตันใจและภาคภูมิใจ ครูธรรมนิตย์ก็ขับร้องบทกลอนโนราให้ฟัง
“โนรา ภาคใต้ทุกคนได้สืบสาน คู่ถิ่นฐานพัฒนา มาทุกยุคสมัย ยูเนสโกยกย่อง ก้องสู่โลกไกล แสนภูมิใจในโนรา สู่สากล งามสู่สากล ดังสู่สากล แสนภูมิใจในโนรา สู่สากล”
..............................
นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ปี 2022 มรดก โนรา : Spirit of NORA จัดแสดงระหว่างวันที่ 26 พ.ค. - 3 ก.ค. 65 ณ Palazzo Pisani Santa Marina นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี
ติดตามข่าวสารได้ที่ : Songkhla Pavilion
ข้อมูล : เพจ ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - Thummanit Nikomrat