ถ้าไทยจะเป็น"ครัวโลก" คำนวณต้นทุนราคาที่ต้องจ่ายหรือยัง
คอลัมนิสต์จุดประกาย วิเคราะห์ให้เห็นว่า หากไทยจะเป็น"ครัวโลก" ส่งออกอาหารรายใหญ่ นึกถึงต้นทุนที่ต้องจ่ายในเรื่องสิ่งแวดล้อม และมลพิษหรือยัง รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย
โลกกำลังขาดแคลนอาหาร อันเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการเมืองระหว่างประเทศ
นี่เป็นโอกาสของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ ทั้งอาหารคน อาหารสัตว์ และ อาหารไทยเชิงวัฒนธรรม
เรามีบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจ อาหารระดับโลก ส่งออกกุ้ง ไก่ อาหารกระป๋อง ลำดับโลกแต่ละอย่างเป็นแสนล้าน หรือจะเอาเฉพาะแค่อาหารสัตว์เลี้ยง (pet food) ก็ไม่น้อยหน้าใครเขามากกว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท รวมๆ แล้วตัวเลขส่งออกกลุ่มอาหารมากถึงปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
- อาหารส่งออก มีต้นทุนทรัพยากร?
ในภาวะโลกผันผวนแบบนี้กลุ่มอาหารจะโตขึ้นอีก เป็นข่าวดีของ GDP และรายได้กลับมาประเทศ นโยบายครัวไทยครัวโลกเป็นนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพลิกมองอีกด้านหนึ่ง ทุกๆ ธุรกิจนั้นมีต้นทุน.. อาหารส่งออกก็เช่นกัน !
การส่งออกกุ้งมีต้นทุนเป็นทรัพยากรชายฝั่ง น้ำเสียจากเคมีและยาปฏิชีวนะจากฟาร์มกุ้งเป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย หมู ไก่ เลี้ยงระบบปิดก็จริง
เราส่งออกข้าว อ้อยน้ำตาล เป็นลำดับโลกด้วย ทั้งข้าวและอ้อยก็เผา เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นควัน pm2.5 แหล่งใหญ่สุดของประเทศด้วยซ้ำไป
มลพิษจากเผาฟางนาข้าว
คงนึกไม่ถึงใช่ไหมครับว่า นาข้าวเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ เพราะภาพจำของเราพุ่งเป้าไปที่การเผาที่คนรำคาญมากสุด เกิดเศษละอองดำน่ารำคาญ เช่น การเผาไร่อ้อย
แต่เขาได้พิสูจน์มาแล้วว่านาข้าวน่ะ แหล่งเผาใหญ่กว่าไร่อ้อย เพราะอ้อยนั้นถูกนโยบายสั่งให้ลดการเผาลงเรื่อยๆ ทุกปี ส่วนนาข้าวไม่มีมาตรการจริงจัง
เมื่อต้นปี 2565 มีรายงานจากคณะทํางานวิชาการเฉพาะกิจ เพื่อจัดทําข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 สํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า
“ในประเทศไทย การเผาฟางและตอซังข้าว เป็นต้นเหตุของมลพิษทางอากาศจากภาคเกษตรกรรมสูงสุด ในขณะที่อ้อยมีสัดส่วนน้อยกว่าที่เข้าใจเดิมมาก โดยการเผาซังตอข้าวเกิดขึ้นในกระบวนการเตรียมแปลงปลูกนาปี
โดยจังหวัดที่มีการเผาข้าว 5 อันดับแรก ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคอีสาน ได้แก่นครสวรรค์ พิจิตร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และพิษณุโลก ทั้งนี้ ข้าวมีพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากมากกว่าอ้อยถึง 12 เท่า มีน้ำหนักเชื้อเพลิงรวมกันมากกว่าอ้อยถึง 5 เท่า และมีระดับความเข้มข้นต่อไร่ของเขม่าดํา ซึ่งเป็น PM 10 สูงกว่าอ้อย”
อยากจะเพิ่มเติมจากที่คณะงานฯเขาเขียนไว้อีกสักประโยคว่า ปีไหนมีนาปรังปีนั้น ยิ่งเผามากขึ้นไปอีก เพราะทันทีที่เก็บเกี่ยวนาปีช่วงธันวาคม-มกราคม เขาจะเผาทันทีเพื่อเตรียมแปลงนาปรังในฤดูแล้ง
ดังนั้นช่วงมกราคมต้นกุมภาพันธ์ การเผาในนาจึงเกิดมากมายในประเทศไทย ทั้งภาคกลาง เหนือล่าง อีสาน เช้ามา hotspot ดาวเทียมแดงไปหมด ค่าอากาศก็แย่ แต่สังคมไม่เห็นเพราะไม่เป็นข่าว
และพื้นที่เหล่านี้ไม่ค่อยมีเครื่องวัดคุณภาพอากาศ หรือถ้ามีก็แค่ตัวใหญ่ของกรมควบคุมมลพิษตัวเดียวแถวๆ ศาลากลาง
สังคมไปสนใจปัญหามลพิษฝุ่นทางเหนือตอนบนที่วิกฤตต่อเนื่องยาวนานมากกว่าปัญหาการเผาภาคเกษตรในอีสาน กลาง เหนือล่าง ที่ไม่ค่อยมีข้อมูลเปิดออกมามากนัก
- เมื่อข้าวโพดราคาดี ปลูกมาก กระทบมาก
ข้าวโพดราคาดีต่อเนื่องสองปีแล้ว ก็สืบเนื่องจากยอดส่งออกอาหารสัตว์และการส่งออกปศุสัตว์ของไทยเพิ่มขึ้นด้วย การเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศก็ต้องใช้อาหาร
ปีนี้พื้นที่ปลูกขยายเพิ่มโดยเฉพาะบนดอยจังหวัดชายแดน แต่ราชการไม่มีข้อมูลข้าวโพดราคาดีพื้นที่ปลูกก็มากขึ้นทางการสำรวจจริงจัง รู้แต่เพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า ข้าวโพดราคาดีพื้นที่ปลูกก็มากขึ้น
แน่นอนการทำไร่ข้าวโพดก็ต้องใช้ไฟเผา มาตรการอุดหนุนชาวบ้านด้วยเครื่องจักรยังไม่มี ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนซ้ายขวาก็ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น
วิธีการดูว่า เขาปลูกข้าวโพดเพิ่มไม่ยาก เพราะภาพดาวเทียมยุคนี้ส่องลงตรงจุดความร้อนได้เพื่อดูว่าเป็นไฟในป่าหรือในแปลงเกษตร
ปรากฏว่า ไฟในแขวงทางเหนือของ สปป.ลาว ละแวกไซยะบุลี หลวงน้ำทา บ่อแก้ว เกิดเยอะมาในช่วงต้นเดือนเมษายน เพราะเป็นจังหวะเผาเตรียมแปลงที่เหมาะสมของลาวเหนือ (ลาวใต้เผาก่อนช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม)
และพื้นที่ภูเขาสูงทางโซนเหนือ เขาทำแปลงเกษตรใหญ่ๆ ไม่ได้ เลยต้องเป็นแปลงย่อมๆ บนเขา ทำแนวกันไฟแล้วก็เผา ในช่วงนั้นมากวันละเป็นหมื่นจุด hotspot ก็มี ผลกระทบจากข้าวโพดเพื่อนบ้านเป็นฝุ่นควันข้ามแดนข้ามมากระทบแพร่ น่าน และภาคเหนือ กลายเป็นอากาศแย่เกินมาตรฐานต่อเนื่องหลายวันก่อนสงกรานต์ ทั้งๆ ในบ้านเราช่วงนั้นมีฝน ไม่ค่อยมีเผา
ข้าวโพดเพื่อนบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งของครัวไทย และยอดการส่งออกไทยนะครับ !
ตามข้อตกลงอาฟต้า ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเพื่อนบ้านในอัตราภาษี 0% ในระหว่างกุมภาพันธ์-สิงหาคม เรามักจะเห็นภาพรถบรรทุกข้าวโพดจอดยาวเหยียดเป็นกิโลที่ด่านชายแดน ซึ่งต่อมาก็ตรงไปยังโรงงานอาหารสัตว์เพื่อส่งออก กระตุ้น GDP ครัวไทยนี่แหละ
เอาล่ะ การบุกเบิกป่าในประเทศเพื่อนบ้านเป็นต้นทุนของเขา แต่มลพิษฝุ่นควันที่ข้ามมาทำอันตรายคนไทยนั้น มันเป็นต้นทุนที่กระทบสังคมไทยเรานะ
- มองให้รอบด้าน ผลกระทบจากมลพิษ
ผลกระทบจากมลพิษฝุ่นควันมันแพร่ไปทั่วไม่ว่ายากดีมีจน ลองเดินถนน หากไม่สวมหน้ากาก ส่วนผลกระทบต่อทรัพยากรของเสียลงดินน้ำเปลี่ยนป่าเป็นไร่โล้นๆ กระทบยาวไปถึงชั้นลูกหลายด้วยซ้ำไป
ภายใต้ผลกระทบดังกล่าวนั้นมีผู้ได้รับประโยชน์ลดหลั่นลงมา !
ประเทศไทยนั้นได้ประโยชน์จากการผลิตและส่งออก เป็นความเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP และมีผู้ที่ร่ำรวยเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะบรรษัทส่งออก
คำถามก็คือ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่สังคมต้องจ่าย ได้มีการลงมาร่วมรับผิดชอบต่อต้นทุนที่ต้องจ่ายไปเพียงพอแล้วหรือยัง ?
รัฐกำลังเพลินกับยอดส่งออก ช่วยทำตัวเลขการปลูกข้าวโพด และแปลงไร่อ้อยที่ยังมีแต่อาหารที่เลี้ยงมาจากทรัพยากรป่าและมลพิษ
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดในระยะ 2-3 ทศวรรษมานี่ คือพื้นที่สีเขียวที่ถูกบุกเบิกกลายเป็นสีน้ำตาล แปลงข้าวโพดบนดอย เมื่อปลูกไปแล้ว มันก็จะเป็นเขาหัวโล้นอยู่เช่นนั้น เผาให้เป็นปัจจุบันด้วย เพราะในเว็บไซต์หน่วยเกี่ยวข้อง ถ้าไม่เอาเลขพวกนี้ออกไป ก็ทำให้เข้าไปไม่ได้ รวมไปถึงการเอาจริงเอาจังกับมาตรการแก้ปัญหามลพิษจากการเผาภาคเกษตร
จริงอยู่ เราไม่สามารถห้ามการเผาได้ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็มีแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ปรับเปลี่ยนวิธีไม่ต้องเผารวม ไปถึงส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นที่ไม่ต้องเผา
การเผาในประเทศนาข้าวนั้น ปล่อยปละให้เผาข้ามคืน เผาลามแปลงใหญ่ ซึ่งก่อมลพิษสูง หากยังห้ามไม่ได้ช่วยจัดระเบียบการเผา และใช้เทคโนโลยีเช่นระบบพยากรณ์ ระบบดูการยกตัวอากาศมาช่วย เพื่อบรรเทาเบาบางปัญหาลง ฯลฯ
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กัน ...
เรากำลังดีใจตัวเลขครัวโลก ส่งออกอาหารกำลังเบ่งบาน อย่าดีใจเพลิน ช่วยหันกลับมามองต้นทุนราคาที่ต้องจ่ายไปด้วย – จักขอบคุณมากขอรับ !!