ไม่ใช่แค่ "ลาพักใจ ลาแปลงเพศ" ส่อง 10 "สวัสดิการ" ที่มาแรงทั่วโลกปี 2022
เมื่อ "วันลา" สำคัญกับพนักงานออฟฟิศ ทำให้ผู้ประกอบการหลายองค์กรเริ่มปรับ "สวัสดิการ" ใหม่ให้เข้ากับความต้องการของลูกจ้างยุคใหม่มากขึ้น ทั้งการลาแปลงเพศ ลาพักใจ รวมถึงให้สวัสดิการแต่งงานเพศเดียวกันเทียบเท่าคู่ชายหญิง
เรียกเสียงฮือฮาในแวดวง "พนักงานออฟฟิศ" ได้ไม่น้อย กับกรณีบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ที่ประกาศปรับเพิ่มสวัสดิการ "วันลา" ให้กับพนักงานศรีจันทร์ ทั้งเพิ่มวันลาคลอด สูงสุด 180 วันต่อปี, ลาดูแลภรรยาหลังคลอดบุตร, ลาผ่าตัดแปลงเพศกลุ่ม LGBTQ+, ลาพักใจจากการสูญเสีย เป็นต้น
ด้าน LINE MAN Wongnai ก็ไม่น้อยหน้า มีการปรับสวัสดิการให้พนักงานตามแก่นหลักของวัฒนธรรมองค์กร คือ ส่งเสริม "ความเท่าเทียม" กันทุกด้านโดยไม่เลือกเพศหรืออายุ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกจ้างยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ โดยได้เพิ่มสวัสดิการ "เงินสนับสนุนสำหรับการแต่งงานเพศเดียวกัน 20,000 บาท" เทียบเท่าคู่ชายหญิง, สิทธิวันลารับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงสูงสุด 10 วัน, สิทธิวันลาสำหรับผ่าตัดแปลงเพศ สูงสุด 30 วัน
จากทั้งสองกรณีนี้ ดูเหมือนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการปรับปรุงสวัสดิการลูกจ้างขององค์กรไทย รู้หรือไม่? ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่องค์กรทั่วโลกก็มีการปรับปรุงเรื่อง "สวัสดิการ" ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพนักงานออฟฟิศยุคนี้มากขึ้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่อง 10 เทรนด์สวัสดิการมาแรงทั่วโลก อัปเดตล่าสุดในปี 2022 มาดูกันว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกับองค์กรในไทยข้างต้นอย่างไรบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
มีข้อมูลผลสำรวจจาก Ben Benefit Outlook ซึ่งได้สำรวจเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานในองค์กรภาคธุรกิจกว่า 300 แห่งว่าพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนสวัสดิการของลูกจ้างให้เข้ากับวิถีของคนยุคใหม่อย่างไร
รวมถึงผลสำรวจจาก The New World of Work ที่มีการศึกษาวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อนำผลสำรวจทั้งสองส่วนมาวิเคราะห์ ทำให้มองเห็นแนวทางและเทรนด์การปรับปรุง "สวัสดิการ" ให้ลูกจ้างในยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากอดีต ดังนี้
1. สวัสดิการด้านสุขภาพกาย
จากผลการสำรวจข้างต้นพบว่า หลายๆ บริษัทให้การสนับสนุนด้านสุขภาพร่างกายของพนักงานมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคโควิดพบว่าองค์กรเข้ามาดูแลสุขภาพลูกจ้างทั้งด้านตรวจสุขภาพประจำปี มอบประกันสุขภาพต่างๆ และยังเพิ่มการดูแลด้านฉีดวัคซีนป้องกันโควิด บางแห่งมอบการเป็นสมาชิกฟิตเนส หรือให้ค่าตอบแทนกรณีซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายที่บ้าน เป็นต้น
2. สวัสดิการด้านสุขภาพจิต
ผลสำรวจพบว่า 44% ของนายจ้างยุคนี้ ดูแลสวัสดิการพนักงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงปี 2020 - 2021 ที่ทั่วโลกเจอวิกฤติโควิดอย่างหนัก ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของพนักงานด้วย
เทรนด์ปีนี้จึงเห็นได้ว่านายจ้างหลายบริษัทหันมาให้สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพจิตพนักงานมากขึ้น เช่น การลงทุนจ้างนักจิตวิทยามาดูแลให้คำปรึกษาแก่พนักงาน หรือการนำแอปฯ ด้านสุขภาพจิตมาให้บริการแก่พนักงาน เพื่อให้พวกเขามีความสุขและสุขภาพจิตดี
3. จัดกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน
เมื่อโควิดทำให้พนักงานต้อง Work From Home ทำให้คนในทีมหายหน้าและขาดการเชื่อมต่อ หนึ่งในเทรนด์สวัสดิการยุคใหม่คือ การสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยอาจอยู่รูปแบบ "โซเชียล Zoom" มีการแจกรางวัลน้อยๆ ส่งให้ถึงบ้าน หรือการมอบรางวัลยกย่องพนักงานดีเด่น หรือไปทำกิจกรรมอาสาด้วยกัน ฯลฯ กุญแจสำคัญคือการหาวิธีที่มีความหมายเพื่อให้พนักงานมีความสุข มีส่วนร่วม และรู้สึกถึงความสำเร็จร่วมกัน
4. การช่วยเหลือดูแลบุตรหลาน
อีกหนึ่งสวัสดิการสำคัญสำหรับพนักงานที่มีครอบครัว คงหนีไม่พ้น สวัสดิการดูแลลูกหรือเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงโควิดสถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็กปิดตัวไปหลายแห่ง ดังนั้น บางบริษัทจึงมีการปรับสวัสดิการให้พนักงานที่มีลูก นำลูกมาฝากที่ศูนย์ดูแลเด็กที่ออฟฟิศได้
5. สวัสดิการเลือกเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น
อีกหนึ่งสวัสดิการที่ลูกจ้างหลายคนต้องการในยุคนี้คือ การทำงานที่ยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะพนักงานที่มีลูก พวกเขามักต้องการเวลาอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อเลี้ยงลูก แต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานไปด้วยได้ หลายองค์กรจึงมีการปรับสวัสดิการเรื่องนี้ โดยให้ลูกจ้างสามารถเลือกเวลาทำงานได้เอง ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของชีวิตแต่ละคน ถือเป็นการสนับสนุนให้ลูกจ้างมีความสุขในการทำงานได้อีกทางหนึ่ง
6. ให้พนักงาน Work From Home ได้ต่อเนื่อง
หลังยุคโควิด จะเห็นว่าหลายบริษัทออกประกาศเรียกพนักงานที่ WFH ให้เข้ามาทำงานในออฟฟิศ แต่นั่นกลับทำให้พนักงานจำนวนหนึ่ง "ลาออก" จากบริษัท เพราะรู้สึกว่าการทำงานในออฟฟิศไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตพวกเขาอีกต่อไป ทำให้องค์กรหลายแห่งเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ และมีการปรับสวัสดิการให้ลูกจ้างทำงานทางไกลได้ หรือมีตัวเลือกให้ WFH ต่อเนื่องได้ โดยกำหนดให้เข้าออฟฟิศเพียง 2-3 วันต่อสัปดาห์
7. ประกันสัตว์เลี้ยง
เมื่อผู้คนยุคนี้ไม่อยากมีลูก แต่เลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูก หรือเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นพนักงานยุคนี้จึงมองหา "ประกันสัตว์เลี้ยง" เป็นหนึ่งในสวัสดิการสำคัญ หากนายจ้างสามารถดูแลสวัสดิการตรงนี้ได้ ก็จะมีผลให้ลูกจ้างทำงานที่องค์กรได้อย่างมีความสุข และเห็นว่าองค์กรใส่ใจทุกคนอย่างเท่าเทียม
8. Paid Time Off ที่ยืดหยุ่น
Paid Time Off (PTO) หมายถึง การลาหยุดที่บริษัทยังคงจ่ายค่าจ้างให้ หลายบริษัทในยุคนี้มีการปรับสวัสดิการ "วันลา" ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ให้พนักงานลางานได้หลากหลายกรณีมากขึ้น โดยที่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้เช่นเดิม เพราะลูกจ้างแต่ละคนมีเหตุจำเป็นในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน
การปรับให้ PTO ยืดหยุ่นได้ จึงถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ขององค์กรที่จะได้ใจลูกจ้างไปเต็มๆ โดยอาจให้แต่ละคนกำหนดจำนวนวันลาในแต่ละกรณีที่ต้องการ (ภายใต้ความเหมาสม) เช่น เลือกลาหยุดในวันหยุดตามประเพณี วันเกิด หรือเมื่อสุขภาพจิตย่ำแย่ เป็นต้น
9. โปรแกรมสุขภาพทางการเงิน
สถานการณ์โรคระบาดโควิดทำให้พนักงานออฟฟิศหลายคนประสบกับภาวะการเงินย่ำแย่ และบางคนก็ไม่มีความรู้ทางการเงิน แต่ในฐานะบริษัท การให้สิทธิพิเศษแก่ลูกจ้างเป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อดูแลให้ลูกจ้างรอดจากวิกฤตินี้ไปด้วยกัน องค์กรหลายแห่งจึงมีสวัสดิการด้านการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกจ้าง ให้สิทธิพิเศษการเลือกซื้อหุ้นกับทางบริษัทและผลตอบแทน เป็นต้น
10. ตัวเลือกสวัสดิการเฉพาะส่วนบุคคล
บางครั้งการจัดทำสวัสดิการให้พนักงานทุกคนในรูปแบบเหมือนๆ กัน อาจเป็นสิ่งที่ยาก (เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลทุกกรณี) ดังนั้นบริษัทบางแห่งจึงเลือกที่จะมอบสวัสดิการแบบส่วนบุคคลแทน
โดยเสนอชุดสวัสดิการแบบแพ็กเกจให้พนักงานเลือกเองได้ตามที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น เลือกสวัสดิการการดูแลบุตร, เลือกสวัสดิการประกันภัยสัตว์เลี้ยง, เลือกสวัสดิการสิทธิซื้อหุ้นและผลตอบแทน เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำงานร่วมกัน
-------------------------------------
อ้างอิง : zenefits/workest, TheNewWorldofWork, benefits-outlook