ไขข้อสงสัย "สภาพอากาศ" มีผลต่ออารมณ์อย่างไร

ไขข้อสงสัย "สภาพอากาศ" มีผลต่ออารมณ์อย่างไร

ไขความลับ เหตุใด “สภาพอากาศ” ถึงมีผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ และรู้หรือไม่ว่า ฤดูฝนยิ่งทำให้คนรู้สึกเศร้า แต่ในทางกลับกัน ทำไมบางคนถึงยังใช้เสียงฝนเพื่อช่วยกล่อมให้หลับ

หลังจากที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ บวกกับเป็นช่วงสุดท้ายของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายคนก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ออกจากบ้าน ฝ่าฝนไปทำงานตอนเช้า และออกจากที่ทำงาน ฝ่าฝนกลับบ้านในตอนเย็น สภาพอากาศชื้นแฉะ รถติด หรือน้ำท่วม ก็คงจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หงุดหงิดอยู่ไม่น้อย รู้หรือไม่ว่า นอกจากการดำเนินชีวิตจะยุ่งยากเพราะมีฝนเป็นสาเหตุแล้ว สภาวะจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ยังเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะ “ฝน” หรือ “สภาพอากาศ” อีกด้วย

โดยทั่วไป เวลาที่ฝนตกมักทำให้คนรู้สึกเครียดหรือเกิดอารมณ์ทางลบ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนมากมายที่ชอบเสียงฝนตก รวมถึงใช้เสียงฝนเป็นตัวช่วยให้นอนหลับสบายในยามค่ำคืน สองสิ่งนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกันอยู่เล็กน้อยว่า ถ้าฝนทำให้เครียด แต่ทำไมเสียงฝนถึงดูเหมือนทำให้หลับง่ายขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ ชวนไขความลับของ "สภาพอากาศ" "ฤดูฝน" และ "อารมณ์ของมนุษย์" ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร

มนุษย์กับฤดูกาลต่าง ๆ

โดยธรรมชาติแล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนมีความสัมพันธ์กับฤดูกาล เห็นได้ชัดจากการที่พืชต้องการแสงแดดเพื่อเจริญเติบโต หรือการที่สัตว์เข้าสู่ภาวะจำศีลในฤดูหนาว ฤดูกาลสรรสร้างพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติให้สิ่งมีชีวิตมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สภาวะอากาศจะส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อธิบายไว้หลายอย่าง

ข้อมูลจากบทความของ เทคเซีย อีแวนส์ นักจิตวิทยาคลินิกในซานฟรานซิสโกของสหรัฐ อธิบายไว้ว่า การที่สภาวะอากาศส่งผลต่อความรู้สึกของมษุย์ โดยหลักแล้วเป็นเพราะร่างกายมนุษย์จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เซโรโทนิน (Serotonin)” เป็นสารเคมีที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ เซโรโทนินจะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับคาร์โบไฮเดรตหรือแสงแดด และจะลดลงเมื่อมีท้องฟ้ามืดครึ้มหรืออยู่ในช่วงฤดูหนาวที่กลางวันมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางคืน

อุณหภูมิที่เย็นจัดจะลดการตอบสนองทางประสาทสัมผัส ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสมดุลและการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย อาจทำให้รู้สึกเฉื่อยชา ตรงกันข้ามกับวันที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีแสงแดด ซึ่งจะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า  

ผลการศึกษาจากสถาบันสังคมวิทยาของเยอรมนีปี 2556 พบว่า ผู้ที่ทำแบบสำรวจในวันที่มีแสงแดดจัดเป็นพิเศษ ระบุว่า พึงพอใจในชีวิต “มากกว่า” ผู้ที่ตอบแบบสอบถามในวันที่มีสภาพอากาศที่ไม่ค่อยมีแสงแดด แม้ว่าความรู้สึกเหล่านี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นชั่วครู่และแปรผันไปอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน แต่ก็บ่งบอกว่า สภาพอากาศที่ดีอาจส่งผลต่ออารมณ์โดยรวมของมนุษย์

วารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคมอเมริกา ปี 2522 ระบุว่า ชาวรัฐมินนิโซตา ให้ทิปในร้านอาหารมากขึ้นในวันที่มีแสงแดดจ้า รวมถึงนักลงทุนที่อาจจะได้รับประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน เพราะผลตอบแทนของหุ้นรายวันจะดีขึ้น หากวันนั้นมีสภาพอากาศแจ่มใส

ในทางกลับกัน การขาดแสงแดดยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้พักอาศัยในประเทศที่มีฤดูหนาวยาวนาน รวมถึงประชากรในแถบเส้นศูนย์สูตรที่ย้ายที่อยู่ไปยังประเทศแถบดังกล่าว มีคนบางส่วนที่ประสบกับ “ความผิดปกติทางอารมณ์ตามฤดูกาล (Seasonal affective disorder: SAD)” ซึ่งเป็นสภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่เพิ่มขึ้นและลดลงตามฤดูกาล โดยสมิทธา บันดารี แพทย์มหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐอธิบายว่า สภาพอารมณ์ของผู้ที่มีอาการ มักเริ่มแย่ลงในฤดูใบไม้ร่วง คงอยู่ตลอดฤดูหนาว และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิ 

หน้าฝนทำให้คนเศร้า?

ผลการศึกษาของวารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคมอเมริกา ปี 2522 ยังพบว่า แสงแดดมีประโยชน์อย่างมากและเป็นตัวช่วยให้มนุษย์หลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งในวันที่ไม่มีแสงแดดและมีฝนตก ก็มีผลการศึกษาเช่นกันว่าส่งผลกระทบต่อมนุษย์หลายประการ 

อันดับแรกคือ เมื่อมีฝนตกจะทำให้เกิดความชื้นสูง อากาศชื้นๆ จะทำให้ร่างกายภายนอกของมนุษย์เหนียวเหนอะหนะไม่สบายตัว ส่งผลให้การควบคุมอารมณ์เป็นไปได้ยากมากขึ้นและใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากปกติ 

บรรยากาศของฝนทำให้คนต้องการที่จะ “กิน” มากขึ้น จูดิธ เวิร์ทแมน อดีตนักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐ กล่าวว่า เมื่อฮอร์โมนเซโรโทนินลดลง ร่างกายจะส่งสัญญาณโดยกระตุ้นให้เกิดความหิวและความรู้สึกอยากคาร์โบไฮเดรต เพื่อที่จะให้คาร์โบไฮเดรตเข้ามากระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซโรโทนินเพิ่มขึ้น แม้ว่าเซโรโทนินที่ถูกผลิตขึ้นจากคาร์โบไฮเดรตจะมีอายุสั้นๆ ก็ตาม

อากาศเย็นๆ และละอองฝนยังทำให้มนุษย์รู้สึกเจ็บปวดในร่างกายได้มากขึ้นด้วย โรเบิร์ต เจ เฮดายา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ให้ความเห็นว่า เมื่อมีฝน ความดันบรรยากาศจะลดลง ทำให้ของเหลวในร่างกายที่เคลื่อนจากหลอดเลือดไปยังเนื้อเยื่อเกิดแรงกดลงบนเส้นประสาทและข้อต่อ ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้น กล่าวอย่างง่ายคือ ช่วงฝนตกอาจทำให้ปวดข้อมากขึ้น รู้สึกเจ็บปวดแผล กล้ามเนื้อ รวมไปถึงเคลื่อนไหวลำบากมากกว่าเดิม

ขณะเดียวกันยังมีบทความทางการแพทย์อีกชิ้นจาก ดร.ชาร์ลส แพททริก เดวิส ศาสตราจารย์คลินิกเวชศาสตร์ฉุกเฉินชาวอเมริกัน ที่ยืนยันว่า ฝนตกอาจทำให้คนรู้สึกแย่และมีความสุขน้อยลง โดยพบว่า 1 ใน 10 ของชาวอเมริกันมีความรู้สึกกลัวสภาพอากาศอย่างฟ้าร้องและฟ้าผ่า ตลอดจนมีความรู้สึกกลัวปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา เช่น น้ำท่วมและพายุทอร์นาโด

นอกจากนี้ยังพบว่า ในประชากรมนุษย์มีเกือบ 9% ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้เกลียดฝน” ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกโกรธและมีความสุขน้อยลงในวันที่ฝนตก โดยแพทย์เชื่อว่า สภาพอากาศที่แย่ อาจทำให้คนรู้สึกไม่สบายใจและเครียดมากขึ้น

ในปี 2540 ยังได้มีผู้ศึกษาพฤติกรรมของเด็กเกี่ยวกับสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยรัฐยูทาห์ ซึ่งพบว่า พวกเขาขาดความตั้งใจหรือจดจ่อ รู้สึกกระสับกระส่าย หงุดหงิด และหุนหันพลันแล่นมากขึ้นเมื่อความกดอากาศลดลงจากฝนที่กำลังตก

"เสียงฝน" ช่วนให้คนหลับง่าย?

แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ฝนทำให้คนเครียดและเศร้า แต่ในขณะเดียวกัน “เสียงฝน” ก็ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนมักใช้ช่วยให้นอนหลับ เรื่องนี้ก็มีความสัมพันธ์กับแสงแดดและฮอร์โมนเช่นกัน 

เพราะในทางตรงกันข้ามกับที่ร่างกายหลั่งเซโรโทนินในเวลาที่มีแสงแดด ร่างกายก็จะหลั่ง “เมลาโทนิน (Melatonin)” หรือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ออกมามากขึ้นในช่วงเวลาที่มืดมิดและมีแสงน้อย เพื่อรักษาสมดุลของระบบร่างกายขณะหลับ คล้ายโปรแกรมนาฬิกาชีวภาพที่ร่างกายมนุษย์ตั้งเอาไว้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์นั้นรู้สึกง่วง และต้องการนอนในเวลากลางคืน

เสียงฝนตกยังมีความสามารถช่วยให้หลับลึกและเพิ่มความจำได้ดี เนื่องจากลักษณะของเสียงฝนขณะที่กำลังตกนั้น เป็นคลื่นเสียงในรูปแบบเดียวกับเสียงที่เรียกว่า “Pink Noise” หรือเสียงสีชมพู ซึ่งมีลักษณะความถี่แบบต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้สมองไม่สามารถเพ่งความสนใจไปยังจุดใดจุดหนึ่งได้ เมื่อไม่มีการโฟกัสไปที่สิ่งใดเลย สมองจะค่อยๆ ผ่อนคลายและร่างกายก็จะเข้าสู่การหลับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ-เวสท์เทิล มหาวิทยาลัยการแพทย์ในรัฐชิคาโกของสหรัฐ ค้นพบว่า เสียงสีชมพู สามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยหลับได้ลึกขึ้น และมีความจำที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน ผู้เข้าร่วมทดลองมีระยะเวลาที่หลับลึกเพิ่มขึ้นมากถึง 22.2% และเมื่อทำการทดสอบความจำหลังจากที่ได้รับการกระตุ้นแล้ว พบว่า ราว 60% ของผู้เข้าร่วมทดลองมีผลการทดสอบความจำที่ดีขึ้นมาก

ฝนตกส่งผลอย่างไรต่อ "สภาวะอารมณ์"

ข้อมูลจากบทความทางวิทยาศาสตร์บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย มีข้อสังเกตบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะอารมณ์ยามฝนตก คือเสียงฝนตกโดยทั่วไปจะมีความถี่อยู่ที่ระหว่าง 0-20 kHz แม้ช่วยทำให้ผ่อนคลายและรู้สึกปลอดภัยได้ก็จริง แต่ถ้าหากมีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือเสียงอื่นใดแทรกเข้ามาอย่างกะทันหัน อาจส่งผลตรงกันข้าม เนื่องจากเสียงแทรกนั้นทำลายความถี่อันสม่ำเสมอที่กำลังกล่อมสมองให้ผ่อนคลาย และจะทำให้คนฟังเกิดความเครียดและนอนไม่หลับได้

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อฝนตกนั้นไม่ได้มีเพียงเรื่องของ “เสียง” เท่านั้น แต่ฝนตกยังมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศโดยรอบอีกหลายอย่าง เช่น แสงแดด ความชื้น อุณหภูมิ ในช่วงที่ฝนตก ไอน้ำในอากาศจะมากขึ้น ปริมาณออกซิเจนในอากาศจะลดลง ส่งผลให้สมองเริ่มทำงานช้าลงและเกิดความรู้สึกง่วงนอน ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าหากฝนยังคงตกอยู่ในช่วงก่อนตื่นนอน นั่นอาจทำให้ตื่นยากและง่วงนอนมากเป็นพิเศษ

ฝนที่ตกลงมาจากฟ้า ยังจำกัดพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เมื่อฝนตกกิจกรรมที่เคยทำได้ง่ายๆ อาจกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นหลายเท่า เช่น เมื่อต้องขึ้นรถสาธารณะ หรือเมื่อต้องเดินไปซื้อของที่ร้านค้า ดังนั้น ผู้คนจึงทำได้เพียงแต่อยู่ในที่ร่ม งดดำเนินกิจกรรมบางอย่าง และต้องรอจนกว่าฝนจะหยุดตก ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มปัจจัยของความอ่อนเพลียให้มากขึ้น ตลอดไปจนถึงอาการง่วงเหงาหาวนอน 

จึงเป็นข้อสรุปได้ว่า ฝนตกนั้นมีข้อดีและช่วยให้ผ่อนคลายได้อย่างมาก เมื่อคนกำลังจะนอนพักผ่อน แต่ไม่ส่งผลดีต่ออารมณ์มากนัก เมื่อต้องการทำกิจกรรมอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพอากาศและอารมณ์ในบทความทางการศึกษาของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ยังพบว่า สภาพอากาศอาจส่งผลต่ออารมณ์ด้านลบของมนุษย์จริง แต่กลับสร้างผลกระทบหรือมีส่วนในการตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ในเชิงลบไม่มากนัก เนื่องจากอารมณ์และแรงขับในการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์มีความซับซ้อน และสภาพอากาศมักไม่ใช่เหตุผลเดียวที่จะทำให้เกิดการแสดงออกทางอารมณ์

แน่นอนว่า เหตุผลที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ความมหัศจรรย์ในการปรับตัวของมนุษย์ ที่มนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการและพัฒนาเผ่าพันธุ์ให้ไม่จำเป็นต้องจำศีลในฤดูหนาว รวมไปถึงการปรับตัวทางสรีรวิทยาด้วยการผลิตความร้อนในร่างกายให้มากขึ้น หลังจากได้รับความหนาวเย็นเป็นระยะเวลานาน ยังไม่รวมถึงสิ่งประดิษฐ์อีกหลายอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนความไม่สบายตัวจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ วิวัฒนาการและการปรับตัวนี้ทำให้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลถึงมนุษย์ได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่น เพราะในขณะที่สัตว์อื่นได้รับผลกระทบ (ทางสภาพอากาศ) จนต้องหลบไปจำศีล มนุษย์ได้รับผลกระทบเพียงแค่มีสภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปตามอากาศเท่านั้น

การได้รับแสงแดดมากๆ ทำให้มนุษย์รู้สึกได้รับพลังงาน กระปรี้กระเปร่า แต่การได้รับแสงแดดมากเกินไป ก็ทำให้มนุษย์เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวได้ ฤดูฝนก็เป็นเช่นนั้น เสียงฝนและอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปเล็กน้อยมักทำให้ผู้คนหลับง่ายขึ้นด้วยอากาศที่เย็นสบาย แต่ระยะเวลาอันยาวนานหรือความรุนแรงของพายุฝน ก็สร้างความเครียดและความกดดันให้มนุษย์ได้เช่นกัน 

หากเมื่อถึงเวลาที่ฝนตกแล้วเกิดความรู้สึกเครียดหรือเหนื่อยล้า อาจลองเปิดไฟสว่างๆ กินอะไรที่มีคาร์โบไฮเดรต หรือนอนพักสักงีบ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสมดุลในอุณหภูมิและอากาศที่เปลี่ยนแปลง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

แหล่งอ้างอิง:

bustle, midcitytms, medicinenet, webmd, stylist, abstractfitness, sleephealthgroup, actionnews5, houstonmethodist, doi.apa, blogs.unimelb, webmd