เมื่อ “ต้นตะบัน” แห่ง “เกาะขายหัวเราะ” ต้องเสียหายหนักจากการท่องเที่ยว
เมื่อ "ต้นตะบัน" บนเกาะแห่งหนึ่งใน จ.ตราด ที่ถูกขนานนามว่า "เกาะขายหัวเราะ" กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักจากการท่องเที่ยว อะไรคือแนวทางที่จะทำให้สถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความทรงจำและความสุขนี้ยังอยู่
ถ้าคุณเคยอ่านการ์ตูน “ขายหัวเราะ” คุณก็น่าจะคุ้นเคยกับ “แก๊กติดเกาะ” ที่เป็นแก๊กตลกที่เคยเห็นประจำ ทั้งยังเป็นแก๊กในตำนานที่อยู่คู่กับการ์ตูนขายหัวเราะมาหลายสิบปี
แก๊กตลกติดเกาะ แตกต่างจากแก๊กคลาสสิคอื่นๆ อย่าง โจรมุมตึก, เมียหลวงเมียน้อย, แซว บ.ก. และอีกสารพัดแก๊กในการ์ตูน เพราะ “เกาะร้าง” ซึ่งเป็นที่มาของแก๊กติดเกาะนี้ มีอยู่จริงๆ และเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสัมผัสได้ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด ก็ได้ผนึกกำลังกับขายหัวเราะ โหมโรงเป็นสถานท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ
ถึงเช่นนั้น พลันที่เกาะแห่งนี้ฮอตฮิตติดตลาดนักท่องเที่ยว “ต้นตะบัน” ต้นไม้เพียงต้นเดียวของเกาะที่อยู่ท่ามกลางทะเลและเป็นไฮไลต์ของเกาะขายหัวเราะก็เริ่มมีปัญหา และมีรายงานล่าสุดว่า ต้นตะบัน ในปัจจุบันมีสภาพกิ่งหัก รากช้ำ ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินอย่างไม่ระมัดระวังของนักท่องเที่ยว เนื่องจากบนเกาะมีส่วนที่เป็นพื้นดินค่อนข้างน้อย
ภาพเกาะร้างจากการ์ตูนขายหัวเราะที่ผู้อ่านจำได้ติดตา
- การดูแลรักษา "ต้นตะบัน" บนเกาะหนึ่งเดียว
นายนิพนธ์ สุทธิธนากุล ประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก เคยให้สัมภาษณ์ว่า ต้นตะบัน บนเกาะขายหัวเราะ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าการได้รับความสนใจนี้ ทำให้ "เกาะขายหัวเราะ" เกิดความเสียหาย
"ความเสียหายนี้มาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยทางธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจำนวนมาก และไม่เข้าใจในการเดินทางเข้าไปชมแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่รู้ถึงการเข้าหาต้นตะบันอย่างถูกวิธี ทำให้กิ่งต้นตะบันหักรวมถึงรากช้ำเนื่องจากมีลมพัดกิ่ง และมีนักท่องเที่ยวมาโหนหรือเหยียบรากไม้เพื่อถ่ายรูป"
ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องกับนักท่องเที่ยว ที่มาเยือนเกาะหมากซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะขายหัวเราะแห่งนี้ โดยเฉพาะต้นตะบันต้นดังกล่าวซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 70 - 80 ปี
อีกทั้งในความจริงแล้วเกาะขายหัวเราะนั้นรับนักท่องเที่ยวได้เพียงรอบละ 5 คน เท่านั้น แต่เมื่อความโด่งดังแพร่หลายออกไปจึงไม่สามารถควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ ทาง ททท. ตราด และ อบต.เกาะหมาก จึงได้มีการพูดคุยหารือกันในเรื่องนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้ต้นเดียวของเกาะจะต้องสูญหายไป
- เรื่องราวของต้นตะบัน
ต้นตะบัน นั้นเป็นไม้ป่าชายเลนชนิดหนึ่งในจำนวนพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่มีในประเทศไทยมากกว่า 70 ชนิด มีลักษณะเป็นไม้ที่มีกิ่งก้านแผ่กว้างให้ร่มเงาเป็นอย่างดี รูปทรงมักบิดงอสวยงาม ชอบขึ้นตามชายหาดที่เป็นหาดทรายแนวโขดหิน ซึ่งในปัจจุบันจัดว่าเป็นไม้ป่าชายเลนที่หายากชนิดหนึ่ง
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตราด ได้นำเสนอ “เกาะขายหัวเราะ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยได้ทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทในเครือบันลือกรุ๊ป ผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ซึ่งเป็นเจ้าของคำว่า “ขายหัวเราะ”
ผู้เกี่ยวข้องได้ทำให้เกาะขายหัวเราะและต้นตะบันแห่งนี้ กลายเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวในจ.ตราด เป็น Soft Power ของจังหวัดที่ใครๆก็อยากมาเยี่ยมเยียนสักครั้ง
อย่าลืมว่าภาพชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนเกาะกลางทะเลโดยมีต้นไม้ซึ่งคือ “ต้นตะบัน” อยู่ฉากหลัง เป็นภาพที่ผู้คนจดจำขึ้นใจ เป็นภาพที่มีพลังแห่งอารมณ์ขันที่ห้วนนึกถึงและมีความสุข และกลุ่มคนอ่านการ์ตูนขายหัวเราะเมื่อครั้งในอดีตก็ได้กลายเป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกำลังทรัพย์ในการท่องเที่ยว
การมีเกาะขายหัวเราะ จึงถือเป็นการเชื่อมโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกของการ์ตูนที่คนไทยคุ้นเคยกันมายาวนาน เชื่อมโลกอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเกาะขายหัวเราะแล้ว การมี Soft Power เช่นนี้จะ ช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปตามเกาะอื่นๆ อาทิ เกาะหมาก เกาะกระดาด ได้อีกด้วย และแน่นนอนว่าจะเชื่อมโยงให้เกิดเส้นทางสร้างรายได้ลงสู่พื้นที่นั้นอย่างทั่วถึง
แม้ผู้คนจะยังอยากมาเที่ยว แต่ในวันที่ธรรมชาติกำลังบอบช้ำ นั่นก็ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงการดูแลสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นกระแส โดยเฉพาะต้นตะบันกลางทะเลที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์แห่งนี้ เพราะ ถ้าหากไม่เร่งรักษา เราอาจจะไม่มีต้นตะบันอยู่กลางทะเลแห่งนี้อีก
อาจเป็นจุดจบของ "เกาะขายหัวเราะ" และเป็นอวสานแห่งตำนานและแก๊กตลกคลาสสิคอันมีอยู่จริง ที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนไทยมาตลอดหลายสิบปี