ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ปกป้อง"แม่น้ำโขง"ไม่ให้มีการระเบิดเกาะแก่ง
ปกป้องไม่ให้มีการระเบิดเกาะแก่ง ซอกหิน"แม่น้ำโขง" ทำงานขับเคลื่อนมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 65 เขาได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งเป็นกำลังใจส่วนหนึ่งในการทำงานต่อไป
หลายคนรู้จัก ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ในฐานะนักต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขง นักอนุรักษ์แห่งลำน้ำโขง เขาอยู่กับชุมชนและสายน้ำมาทั้งชีวิต จนมีบางคนบอกว่า “ครูตี๋รู้จักเกาะแก่งหินทุกเวิ้งน้ำในลำน้ำโขง”
เพราะรักถิ่นฐานบ้านเกิด อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในปี 2538 ครูตี๋ลาออกจากอาชีพครูที่มั่นคงมาทำงานอนุรักษ์ขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน ก่อตั้ง “กลุ่มรักษ์เชียงของ” ทำงานร่วมกับเครือข่ายมากมาย ทั้งในเชิงนโยบาย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงถ่ายทอดเรื่องราวแม่น้ำโขงและธรรมชาติให้เยาวชน
ที่ผ่านมาเขาได้ต่อสู้ เพื่อให้มีการยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำ โดยทางจีนมีแผนร่วมกับไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงปรับร่องน้ำในการเดินเรือพาณิชย์ เมื่อปี 2543 เป็นระยะทาง 886 กิโลเมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตันผ่านได้สะดวกทั้งปี
ตลอด 20 ปีที่เขาทำงานปกป้องแม่น้ำโขงร่วมกับชุมชนและเครือข่าย รวมถึงสื่อมวลชน กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เป็น 1ใน 6 ที่ถูกเลือกให้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับโลก Goldman Environmental Prize จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งรางวัลนี้ต้องการเชิดชูคนที่ทำงานปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และนี่คือบทสนทนากับครูตี๋...
(ภาพทั้งหมดจากเฟซบุ๊ค Niwat Roykaew)
อะไรทำให้ครูตี๋ต่อสู้ปกป้องแม่น้ำโขงมานานกว่า 20 ปี และยังสู้ต่อไป...
การเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ ก็คือเขื่อน ที่เราเห็นมากว่า 20 ปีมีผลกระทบหนัก ผมมองว่า เป็นวิธีคิดที่ผิดในการจัดการเขื่อนกักน้ำของจีน ในฤดูน้ำหลากพวกเขากักน้ำไว้ ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าสู่แม่น้ำสาขา ปลาจำนวนมากไม่สามารถวางไข่ จึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะน้ำไม่ไหลตามธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน
เมื่อก่อนฤดูน้ำหลาก น้ำไหลแยกไปตามแม่น้ำสาขา หลายปีที่ผ่านมา หลังจากมีเขื่อนที่จีนสร้างขึ้นก็ไม่เหมือนเดิม ปัญหาเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น เห็นได้ว่า จำนวนพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงลดลง เพราะน้ำไม่สามารถไหลหลากเหมือนเดิม ฤดูฝนน้ำถูกกักไว้ ฤดูแล้งปล่อยน้ำจากเขื่อนเยอะ
การปล่อยน้ำจากเขื่อนในฤดูแล้งมีผลต่อระบบนิเวศ นกที่หากินริมแม่น้ำโขง นกที่หนีหนาวมาวางไข่ตามเกาะดอนต่างๆ เมื่อมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนมาก็ท่วมเกาะดอน อันนี้เรื่องใหญ่
กลายเป็นปัญหาสะสม ไม่ได้รับการแก้ไข ?
ผมสรุปสามประเด็น ดังนี้
1. การจัดการน้ำของจีนตอนบนแม่น้ำโขงมีปัญหา
2. ระดับน้ำขึ้นลงในแม่น้ำไม่ปกติ เนื่องจากการปิดเปิดเขื่อน ทำให้ตลิ่งพังทลาย ระบบนิเวศเปลี่ยนไป มีผลกระทบต่อปลาที่วางไข่ นกและพรรณพืชต่างๆ และทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก
3 ตะกอนที่เป็นเสมือนปุ๋ย ค่อยๆ หายไปจากแม่น้ำโขง ทำให้สิ่งมีชีวิตเริ่มหายไปจากแม่น้ำโขง เพราะตะกอนถูกกั้นไว้เหนือเขื่อน เขื่อนมี 11 แห่งทั้งตอนบนและตอนล่าง
บางปีน้ำจากแม่น้ำโขงใสจนเป็นสีฟ้าคราม ปกติแม่น้ำโขงจะมีสีขุ่นๆ มีตะกอนเยอะ เพราะตะกอนมาจากน้ำไหลหลากตามแม่น้ำสาขา
ผลการศึกษาของนักวิชาการหลายคน ตะกอนมีจำนวนน้อยลง ถ้าเขื่อนทางตอนล่างเป็นแบบนี้ ปี 2040 ตะกอนจะหายไปจากปากแม่น้ำโขง 97% ถ้ายังไม่หยุดปล่อยน้ำจากเขื่อนลองคิดดูถ้าแม่น้ำโขงตะกอนเหลือแค่ 3 เปอร์เซ็นต์จะเกิดอะไรขึ้น
เราเป็นคนลุ่มแม่น้ำโขง ปัญหาของลุ่มน้ำเราพูดมาตลอด และพี่น้องชาวบ้านก็เห็นอยู่ ทั้งปัญหาโครงสร้างและการจัดการแม่น้ำโขงอยู่ในมือของรัฐและทุนขนาดใหญ่ตลอด โครงการใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น เราคิดเสมอว่าทำยังไงให้พี่น้องลุ่มน้ำโขงมีส่วนร่วมพัฒนาลุ่มน้ำโขงเชิงนโยบาย
แม้จะพยายามต่อสู้ทั้งทางนโยบายและการมีข้อมูลวิจัยยืนยัน แต่ก็ไม่อาจตกลงในเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อนทางจีนได้
มิติของชาวบ้านไม่ได้มีมิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียว อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผมมองอยู่เพื่อให้ชาวบ้านมีที่ยืนส่งเสียงแบบมีส่วนร่วม เราต้องขับเคลื่อนต่อ สิ่งที่เราเรียกร้องก็ไม่ใช่เรื่องเกินไป เราเรียกร้องตกลงเรื่องการปล่อยจากเขื่อนในจีน เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันในสายน้ำเดียวกัน ความเดือดร้อนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา
การขับเคลื่อนในเรื่องปริมาณการไหลของแม่น้ำโขงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้น้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของจีน ทำให้เราไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้
นอกจากหยุดยั้งการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงได้ ยังมีปัญหาเรื่องอื่นๆ อีก ?
อย่างน้อยๆ การระเบิดเกาะแก่งก็หยุดไป คนลุ่มน้ำโขงต้องลุกขึ้นมาปกป้อง แม้จะเป็นเรื่องยากลำบาก มันเป็นชีวิตของพวกเรา สิ่งที่เราจะปกป้องคือ แม่น้ำของเรา
เราห่วงวิธีคิดเก่าๆ ของรัฐบาล เวลาแม่น้ำมีปัญหาก็จะเยียวยาที่คน ไม่ได้เยียวยาแม่น้ำ ไม่ได้แก้ไขปัญหาของแม่น้ำ จะทำไงให้แม่น้ำโขงฟื้นคืนมา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าฟื้นฟูแม่น้ำกลับมาสมบูรณ์ คนในชุมชนก็อยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยแม่น้ำ พี่น้องของเราต้องไม่ลืมการต่อสู้เพื่อแม่น้ำโขง
ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง เป็นอีกปัญหาใหญ่ในระบบนิเวศ ?
ประเด็นสำคัญคือ เรื่องการจัดการลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง ถ้าทำไม่ถูกต้องความเสียหายจะเกิดขึ้น ซึ่งเราเห็นมาตลอด ลำน้ำสาขาถูกทำลาย ไม่ว่าแม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำกก แม่น้ำอิง ก็จะถูกลอก สร้างประตูระบายน้ำต่างๆ การทำแบบนี้ทำลายระบบนิเวศมาโดยตลอด
เห็นมีคนบอกว่า ครูตี๋รู้จักเกาะแก่งเกือบทุกเวิ้งน้ำในแม่น้ำโขง ?
เพราะเราอยู่ที่นี่ติดตามเรื่องนี้กว่า 20 ปี ประเด็นคือ จะมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างไร ระหว่างคนสร้างเขื่อนต้นน้ำกับคนใช้น้ำท้ายน้ำ รัฐบาลต้องออกมาจัดการ เพื่อให้ทางจีนลดการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้คนท้ายน้ำอยู่ได้
นอกจากต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขง หลายปีที่ผ่านมาครูตี๋ยังให้ความรู้เยาวชน ทั้งเรื่องการดูแลแม่น้ำโขงและการอนุรักษ์ธรรมชาติ ?
เมื่อเรารู้ว่าการต่อสู้เพื่อแม่น้ำโขงยาวนานและยาวไกล ชั่วชีวิตเราคงทำไม่เสร็จ เพราะเป็นการต่อสู้ที่ต้องทำความเข้าใจ สร้างการตระหนักรู้ เราเชื่อว่า เยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลแม่น้ำโขง
เพื่อให้พวกเขาเห็นคุณค่าของแม่น้ำ เราก็ทำโครงการต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยชาวบ้าน รวมถึงทำงานร่วมกับนักวิชาการและมหาวิทยาลัยต่างๆ เรามีโฮงเฮียนแม่น้ำของให้เด็กๆ มาเรียนรู้
การขับเคลื่อนในภาคประชาชน ตอนนี้ทำเรื่องอะไรอยู่
ตอนนี้เราพยายามขับเคลื่อนเรื่องสภาประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงประเทศไทย แม้จะมีอุปสรรคหลายอย่าง ต้องรวมคนจำนวนมาก 8 จังหวัด ก็ต้องทำ 2 เรื่องคือ เรื่องกฎหมาย และเรื่องความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร เพื่อไม่ให้ทรัพยากรถูกทำลาย
สิ่งที่ครูตี๋อยากทำ และยังไม่ได้ทำ ในวาระถัดไปเรื่องอะไร
สิ่งที่ผมอยากทำร่วมกับพี่น้องลุ่มน้ำโขงในเรื่อง การสร้างพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ป่าชุ่มน้ำ ป่าบนดอยก็ทำมามากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้ทำ และเป็นความฝันที่พยายามทำคือ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการจัดการน้ำ และทบทวนการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำสาขา เช่นน้ำอิง น้ำกก ทางตอนบน
ในช่วง 20-30 ปีการจัดการน้ำของรัฐ โดยการขุดลอก สร้างประตูระบายน้ำมากมาย งบหลายพันล้าน เรามองว่า แม่น้ำทุกสาขาก็ยังเป็นปัญหา ถ้าเราปล่อยไปกับวิธีคิดเก่าๆ ก็จะทำลายเรื่องการดูแลแม่น้ำของชุมชน
ยกตัวอย่างสักนิด?
ยกตัวอย่างชาวบ้านพยายามรักษาป่าชุ่มน้ำในแม่น้ำ เป็นป่าที่น้ำท่วมถึง แต่หน่วยงานของรัฐก็มาขุดหนอง ทั้งๆ ที่มีหนองอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำก็ขุดลึกลงไปอีก แล้วเอาดินที่ขุดถมข้างๆ ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง นี่คือวิธีคิดแบบชลประทาน โดยใช้นวัตกรรมเดิมๆ
การจัดการแม่น้ำสาขาต้องมีวิธีคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่คิดแบบเดิม ต้องมีการทบทวนเรื่องการดูแลแม่น้ำสาขา ผมกำลังพูดคุยกับนักวิชาการและคนที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
รางวัลที่ได้มา ทำให้ทำงานง่ายขึ้นไหม
อย่างน้อยๆ สร้างขวัญและกำลังใจคนท้องถิ่นในการปกป้องทรัพยากร กลุ่มรักษ์เชียงของเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ต่อสู้มา 20 ปีแต่หยุดยั้งการสร้างเขื่อนได้ เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นว่า ถ้าเราทำจริงมีองค์ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อน สร้างเครือข่ายไปเรื่อยๆ ก็ประสบความสำเร็จได้ นอกจากหยุดยั้งการระเบิดเกาะแก่งได้ พื้นที่ 2,000-3,000 ไร่ที่จะทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำนิคมอุตสาหกรรม เราก็ร่วมกับพี่น้องชาวบ้านขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย
ทุกวันนี้ ครูตี๋ยังออกเรือ ดูความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ?
ทำอยู่ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง รวมถึงให้ความรู้กับคนที่มาดูแม่น้ำโขง งานผมมีทั้งงานอนุรักษ์ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา ทำงานพัฒนาท้องถิ่นกับสภาวัฒนธรรม
.............
ภาพปกจาก : www.Goldman Environmental Prize.org