ฟื้นฟูต้นยางนาเพื่อ“นกแก้วโม่ง” ฝูงสุดท้ายที่วัดสวนใหญ่
เคยเห็นนกแก้วโม่งกันไหม...เป็นนกที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ที่มีความสูง 20-30 เมตร ในกรุงเทพฯไม่เห็นแล้ว ส่วนปริมณฑลยังพอได้เห็นบ้าง แต่ลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ ตามต้นไม้ที่หายไป
กิจกรรมฟื้นฟูต้นยางนาให้กับ นกแก้วโม่ง วัดสวนใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งในงานเปิดโครงการ “พายเรือเพื่อลุ่มแม่น้ำสามคลอง : คลองอ้อมนนท์ คลองบางกรวย คลองบางกอกน้อย” ณ วัดบางอ้อยช้าง อ.บางกรวย จ. นนทบุรี
โดยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สมาคมรุกขกรรมไทย และ มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา
- ฟื้นฟูต้นยางนา ให้นกแก้วโม่ง
ศิลป์ชัย อ้นอยู่ แพทย์แผนไทย สาขาเภสัชกรรมไทย ปราชญ์ชุมชน ประธานวิสาหกิจชุมชน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี คนในพื้นที่วัย 50 ปี เห็น นกแก้วโม่ง ในวัดสวนใหญ่ ตั้งแต่เกิด มันอยู่ที่นี่มาเนิ่นนาน
Cr. Kanok Shokjaratkul
“นกอาศัยบน ต้นยางนา สองต้นนี้มาร้อยปีแล้ว ดูจากอายุของต้นยาง 200 กว่าปี ผมได้ทำแผนที่เดินเท้า สืบทอดเรื่องอาหาร อัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งชมรมอนุรักษ์ นกแก้วโม่ง วัดสวนใหญ่ขึ้นมา
เพื่อให้ข้อมูลในเพจ นกแก้วโม่งฝูงสุดท้ายวัดสวนใหญ่ สามารถสร้างพลังการรับรู้ในสื่อโซเชียลได้มาก ได้รับการบูรณาการความรู้จากคุณ ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ นักอนุรักษ์สัตว์ป่านอกเขตอุทยาน
โครงการอนุรักษ์นกแก้วได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เช่น กฟผ. เราอยู่ในเขตพื้นที่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ก็ได้รับความสนใจที่จะร่วมอนุรักษ์โดยตรง
Cr. Kanok Shokjaratkul
เดิม บางกรวย มีพืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์ต้นไม้มาก พอมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ามา ทำให้ต้นไม้ค่อย ๆ หายไป
ในปี 2563 เรานำ รังเทียม มาติดตั้งจาก 4 รังเป็น 8 รัง ส่วนอีกต้นหนึ่งมีโพรงรังธรรมชาติ มากกว่าต้นนี้ แต่อยู่ในชุมชน
ทำให้ค่อนข้างเป็นห่วง เลยประสานทีม รุกขกร ให้ช่วยเอา ไทร กาฝากที่อยู่หลายปีออกไป ไม่งั้นต้นไทรจะไปดูดธาตุอาหารของต้นยางหมด
Cr. Kanok Shokjaratkul
ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของ ลูกนกแก้ว ต้นยางสองต้นนี้สมบูรณ์กว่าที่อื่น ๆ บางวัดที่มี ต้นยาง อย่าง วัดสนามนอก, วัดเกตุ ต่อไปก็อาจจะมีการติดตั้ง รังเทียม แต่ยังไม่มีนกมาอยู่ เพราะมันไม่มี โพรงตามธรรมชาติ
อยากให้ประชาชนตระหนักรู้ ให้ความสำคัญว่า นกแก้ว พวกนี้ไม่ใช่นกเลี้ยง เป็น นกตามธรรมชาติ และเกิดความภาคภูมิใจ เราเป็นชาวบางกรวย จ.นนทบุรี นกแก้วโม่ง อยู่ที่ วัดสวนใหญ่ ของเรานี่เอง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- นกแก้วโม่ง เป็นนกหายาก
ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ นักอนุรักษ์อิสระ กล่าวว่า ถ้าต้นยางนาเป็นอะไรไป มันหมายถึง นกแก้วโม่ง ทั้งหมดด้วย
“ผมดูแลเรื่อง นกแก้วโม่ง และต้นไม้เป็นหลัก ติดตามพฤติกรรมของนกแก้วโม่ง วัดสวนใหญ่ และ จ.นนทบุรี ว่านกมีพฤติกรรมอะไรยังไง ทำรัง วางไข่ ตอนไหน ไปอยู่ที่ไหน
จุดเริ่มต้นมาจากความสนใจดูนก เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เป็นนักดูนกอิสระ เราเห็นว่าที่นี่มี นกแก้วโม่ง อาศัยอยู่ ก็ติดตามมาเรื่อย ๆ ดูพฤติกรรมมาตลอด มาจริงจังเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
เฝ้าดูพฤติกรรม การเดินทาง การออกไปหากินของพวกมัน แล้วขี่มอเตอร์ไซค์ตามดูด้วย ใช้ทั้งกล้องถ่ายภาพและกล้องสองตาดู
เอาข้อมูลมาเผยแพร่ในเพจ นกแก้วโม่งฝูงสุดท้ายวัดสวนใหญ่ ทำร่วมกับชุมชน ให้เขาเห็นคุณค่าแล้วช่วยกันอนุรักษ์
ตอนนี้นกกระจายตัวออกไปข้างนอกไม่กลับมารวมกัน ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มันจะกลับมา ช่วงนั้นเราก็จะติดกล้องตามดูละเอียดอีกที
Cr. เพจ นกแก้วโมง ฝูงสุดท้าย#วัดสวนใหญ่
นกแก้วโม่ง เป็นนกที่หายาก พบในพื้นที่ภาคกลางไม่กี่แห่ง เช่น อยุธยา ที่บางประหัน, บางไทร เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ จ.ปทุมธานี ก็มีกลุ่มเล็กๆ เช่นกัน
ส่วนที่เป็นกลุ่มใหญ่ อยู่ใน จ.นนทบุรี มีประมาณหลักร้อยตัว พบเห็นได้ง่ายที่สุดที่ วัดสวนใหญ่ จำนวนอาศัยอยู่ประจำ 30 กว่าตัว เป็นกลุ่มใหญ่ที่ดูง่ายที่สุด
ต้นยางนา ต้นแรก มีรังธรรมชาติอยู่ 10-11 รัง เป็นต้นที่มีลูกนกแก้วเยอะที่สุด แต่มี ไทร กาฝาก กินรังนกไปหนึ่งรัง
ส่วนต้นที่สอง มี รังแท้ อยู่แค่รังเดียว ทางชมรมก็มาติด รังเทียม ให้ 8 รัง เพื่อให้นกได้ใช้รังเทียมขยายพันธุ์
ปีที่ผ่านมามีนกมาวางไข่ออกลูกสองตัว ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกและรังแรกที่รอมาสองปี
Cr. เพจ นกแก้วโมง ฝูงสุดท้าย#วัดสวนใหญ่
- นกแก้วโม่ง เป็นสัตว์สังคมชอบอยู่รวมกัน
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า นกแก้วโม่ง ใน จ.นนทบุรีมีหลายกลุ่ม มักจะบินไปมาหากันและจับกลุ่มกัน
“นกจะมีการสื่อสารกัน บินไปโน่นมานี่ แล้วก็มารวมกันเป็นร้อยตัว ก่อนที่จะเข้ารังนอน เช้าก็ออกหากินไปทั่ว จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี
จุดที่นกมารวมตัวกัน เราจะไม่เปิดเผยว่าที่ไหน นกจะไปพบกันช่วงก่อนฟ้ามืด ร้องเสียงเซ็งแซ่เลย แจ๊ก ๆ
จากทางเหนือทางใต้ จากทุกทิศทุกทาง มารวมกันก่อนแล้วแยกย้ายเข้ารังนอนบนต้นไม้
นกแก้วโม่ง มีอายุเฉลี่ย 25-28 ปี จากข้อมูลที่ไม่ยืนยัน ไอคิวของมันเหมือนเด็กอายุ 5-7 ปี มีความฉลาดอยู่พอสมควร
เป็นนกที่กินทุกอย่างที่เป็นพืชผล ยอดอ่อน ลูกไม้ ผลไม้ ดอกไม้ เช่น ลูกกรวย ต้นมะกอกน้ำ”
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ความเสี่ยงของนกแก้วโม่ง
นักอนุรักษ์อิสระ กล่าวว่า ต้นยางนา สูงใหญ่ที่นกแก้วโม่งชอบอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่มีแล้ว
“เหลือแค่ชายขอบกรุงเทพฯกับ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี เท่านั้น แล้วก็เหลือน้อยเต็มที เพราะส่วนใหญ่ต้นยางนาถูกโค่นทิ้งหมด
เราจึงขอความร่วมมือไปที่ สมาคมรุกขกรรมฯ ว่าเราเป็นห่วง ที่มีกาฝากต้นไทรกินต้นยางนาอายุ 200 กว่าปี
ถ้าต้นยางนาต้นนั้นเป็นอะไรไป มันไม่ใช่แค่ต้นยางนาอย่างเดียว มันหมายถึงฝูงนกแก้วโม่งทั้งหมดด้วย
เพราะว่า นกแก้วโม่ง จะไม่อยู่บนต้นไม้เตี้ย มันจะทำรังบนต้นไม้สูงใหญ่ 20-30 เมตรขึ้นไปเท่านั้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
ความเสี่ยงตอนนี้ก็คือ ไทร ที่เกาะต้นยางนาต้นนั้นต้นเดียว ในอนาคตถ้ามันจะไม่มีรังจริง ๆ เราก็ทำวิธีสุดท้าย คือติดตั้ง รังเทียม
เคยมีเคสตัวอย่าง ที่วัดหนึ่งมีต้นยางอายุร้อยปียืนตายซากอยู่ ไม่มีใบเลย ปรากฎว่า มีรังถึง 6 รัง ที่นกยังสามารถใช้รังได้อยู่
ช่วงเวลาที่สามารถเห็นนกได้ง่ายที่สุด คือ หลังสี่โมงเย็นเป็นต้นไป มันจะเริ่มทยอยกลับจากที่ออกไปหากิน
Cr. Kanok Shokjaratkul
นอกจากนี้บนยอดต้นยางนาต้นนี้ยังเป็นจุดนัดพบของ นกแขกเต้า นับร้อยตัว อีกด้วย
ตอนกลางวันมันจะอยู่ทั่วจ.นนทบุรี หรือชายขอบกรุงเทพฯ พอได้เวลาห้าโมงกว่า จะเริ่มทยอยมาเป็นกลุ่มๆ ละ 5-10 ตัว
มารวมตัวกันบนยอดเป็นร้อยตัว พอครบจำนวนเมื่อไร ก็จะแตกฮือกลับเข้ารังที่พระราชฐานในเขตดุสิต มีให้เห็นทุกวัน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ปฏิบัติการช่วยเหลือนกแก้วโม่ง
ศิวพงษ์ เหมะรัชตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเซฟตี้ แอนด์ เทรนนิ่ง จำกัด อาจารย์ด้านกู้ภัย หัวหน้าทีมปฏิบัติการบนต้นไม้ (Tree Worker) กล่าวว่า ได้รับการติดต่อให้มาดูแล ต้นยางนา ที่มีกาฝากและกิ่งแห้งที่มีอันตราย และมีโพรงรังของนกแก้ว
“อันดับแรก ต้องประเมินความเสี่ยง ว่าอันตรายมีอะไรบ้าง ไม่ว่าต้นไม้ รากต้นไม้ ความสูงของต้นไม้ ประชาชนที่อยู่ด้านล่าง
อย่างต้นไม้ต้นนี้ค่อนข้างแข็งแรง ด้านล่างมีปูนตรงโคนต้นเป็นอันตรายต่อรากของต้นไม้
Cr. Kanok Shokjaratkul
ต้นไม้มีความสูง 25-30 เมตร ด้านบนมีพวก กาฝาก ขึ้นอยู่บนต้นไม้ ไปปิดรังของนกแก้ว
ด้านการทำงาน เราจะปีนด้วย ระบบเชือก ขึ้นไปเซ็ทอัพระบบด้านบน แล้วใช้เลื่อยมือ เป็นหลัก เพราะนกแก้วไม่ชอบเสียงดัง ด้านบนจะมีกิ่งแห้ง ตอแห้ง ถ้ามีรังนกก็ต้องใช้เชือกยึดไว้ก่อน
ความยากของต้นนี้ หนึ่ง.เรื่องความสูง สอง.บ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ชิดกับต้นไม้ ต้องระวังไม่ให้หล่นใส่หลังคาบ้าน ต้องใช้ระบบเชือกค่อย ๆ หย่อนลง ที่ผ่านมาเคยเจอลักษณะนี้แต่ว่าไม่สูงขนาดนี้”