1 กรกฎาคม "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ทำไมเด็กไทยยังต้องใส่ชุดลูกเสือ?
1 กรกฎาคม "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ชวนย้อนรอยประวัติต้นกำเนิด "ลูกเสือ-เนตรนารี" ในประเทศไทย พร้อมส่องกระแสสังคมในประเด็นชุดลูกเสือ หลายคนตั้งคำถามในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ชุดเครื่องแบบราคาแพงยังจำเป็นไหม?
เนื่องใน "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ที่ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี ชวนทุกคนย้อนรอยต้นกำเนิดลูกเสือในประเทศไทยว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร? พร้อมส่องประเด็นล่าสุด.. กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ให้การสนับสนุนช่วยเหลือจัดหา "ชุดลูกเสือ" ให้เด็กที่ขาดแคลน
1. "ชุดลูกเสือ" มหาดไทย ชี้ เด็กไทยยังต้องสวมใส่
จากกรณีที่ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง การแต่งเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี โดยเห็นว่า การแต่งกายด้วยชุดลูกเสือและเนตรนารี เป็นการปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นลูกเสือและเนตรนารี
อีกทั้งเป็นเครื่องแบบพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาแห่งกิจการลูกเสือไทย ดังนั้นการสวมใส่ "ชุดลูกเสือ" จึงเป็นประโยชน์ต่อการปลูกฝังอุดมการณ์ลูกเสือ และหากผู้ปกครองรายใดมีฐานะยากจนขัดสน ไม่สามารถดำเนินการจัดหาชุดลูกเสือและเนตรนารีให้แก่บุตรได้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้การสนับสนุนช่วยเหลือ หากเกินความสามารถของจังหวัด ขอให้แจ้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบ
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หากเป็นคำสั่งก็ต้องทำ เห็นด้วยว่าเรื่องนี้อย่าให้เป็นภาระประชาชน เบื้องต้นเข้าใจว่าทาง กทม. มีชุดนักเรียนฟรีให้อยู่ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการ แต่ชุดลูกเสือและเนตรนารียังไม่มีรายละเอียด คิดว่าน่าจะแพงกว่าปกติ เพราะมีอุปกรณ์เยอะกว่า
“ต้องดูว่าจะปรับรูปแบบได้อย่างไร ให้ง่ายขึ้นได้ไหม หรือหากต้องเป็นแบบนี้ มีคำสั่งมา เป็นนโยบายต้องทำตาม แต่ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายคงต้องดูงบประมาณ อย่างที่บอกถ้าเป็นคำสั่งน่าจะมีงบประมาณมาให้เราด้วย” นายชัชชาติกล่าว
2. เปิดประวัติ "วันลูกเสือ" ครั้งแรกในโลก
"ลูกเสือ" ได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมกำลังพลไว้เป็นทหาร ในปี พ.ศ. 2451 ลอร์ด บาเดน เพาเวลล์ ได้แต่งหนังสือคู่มือการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า Scouting For Boys และคำว่า “Scout” จึงใช้เป็นคำเรียกผู้ที่เป็นลูกเสือ ซึ่งแต่ละตัวอักษรมีความหมายแฝงไว้ คือ
- S ย่อมาจาก Sincerity แปลว่า ความจริงใจ
- C ย่อมาจาก Courtesy แปลว่า ความสุภาพอ่อนโยน
- O ย่อมาจาก Obedience แปลว่า การเชื่อฟัง
- U ย่อมาจาก Unity แปลว่า ความเป็นใจเดียวกัน
- T ย่อมาจาก Thrifty แปลว่า ความประหยัด
ในปีเดียวกันนี้เอง ประเทศอังกฤษได้มีการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นกองแรก ซึ่งกิจการลูกเสือได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว จนต่อมาในปี พ.ศ. 2452 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงรับอุปภัมภก เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเห็นความสำคัญและประโยชน์ของลูกเสือ จึงได้ก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นประเทศที่ 2 ของโลก
3. เปิดประวัติ "วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ" ในไทย
ต้นกำเนิด "ลูกเสือ" ในประเทศไทยเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษา "เมืองมาฟิคิง" ของ พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) ที่มีการตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในสงครามบัวร์
เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย พระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้คนไทยได้มีโอกาสทำประโยชน์อันยอดเยี่ยมให้แก่ชาติไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "กองเสือป่า" ขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู
เมื่อกิจการของเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้ว พระองค์จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะได้มีการอบรมของเสือป่าในโรงเรียนต่างๆ ด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศใช้ข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือฉบับแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงถือเป็นวันจัดตั้ง "ลูกเสือ" ขึ้นในประเทศไทย และนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
4. รู้จักกฎของลูกเสือ 10 ประการ
"ลูกเสือ" กลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก เป็นสื่อผูกมิตรไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ สำหรับการผูกสัมพันธ์กันไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด ได้แก่
- ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
- ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
- ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่ทำประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
- ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
- ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
- ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
- ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
- ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
- ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
- ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ
5. ลูกเสือกองแรกของไทย คือ “ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1”
ลูกเสือกองแรกของไทยตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรียกว่า “ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1” ต่อมาขยายตัวออกไปจัดตั้งที่โรงเรียนอื่นๆ ด้วย ตามแต่สภากรรมการ "คณะลูกเสือแห่งชาติ" จะเห็นสมควร เด็กที่จะเป็นลูกเสือจะต้องทำพิธีเข้าประจำกอง และกล่าวคำปฏิญาณตนตามคำมั่นสัญญา
ในสมัยนั้นกิจการลูกเสือไทยเลื่องลือไปยังนานาชาติว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง” ถึงขนาดว่ากองลูกเสือที่ 8 ของประเทศอังกฤษ ได้มีหนังสือขอพระราชทานนามลูกเสือกองนี้ว่า “กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” ซึ่งพระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ โดยเอกลักษณ์ของลูกเสือกองนี้ จะติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเสื้อทั้งสองข้าง
6. ชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรกในสมัย ร.7
เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 7 ก็ทรงสืบสานกิจการลูกเสือต่อเนื่องมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นครั้งแรก ในบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อ พ.ศ. 2470 จากนั้นได้จัดให้มีการอบรมลูกเสืออีกหลายรุ่นกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2475 เป็นปีสุดท้าย
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว กิจการลูกเสือได้รับการปรับปรุงใหม่ ถูกเกณฑ์ไปช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่ข้าราชการทหาร ในการปราบจราจล รัฐบาลจึงจัดตั้งหน่วยยุวชนทหารฝึกวิชาทหารขึ้น โดยรับเด็กที่ได้เป็นลูกเสือมาแล้ว จากนั้นกองลูกเสือก็ซบเซาลง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้ฟื้นฟูกิจการลูกเสืออีกครั้ง มีการจัดชุมนุมของลูกเสือแห่งชาติ ส่งเจ้าหน้าที่ในกองการลูกเสือไปเข้ารับการฝึกอบรมวิชาลูกเสือตามมาตรฐานสากล และตามแบบนานาประเทศตามลำดับ และสืบต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน
-----------------------------------------
อ้างอิง : scoutthailand.org, สนง.ศึกษาธิการ กทม., สำนักหอสมุดกลาง ม.รามคำแหง