ตำนาน JSL ถึงเวลาต้องยุติธุรกิจบางอย่าง ขาดทุนสะสมหลักร้อยล้าน
"เจเอสแอล" (JSL)ผู้ผลิตรายการตั้งแต่ยุคอนาล็อก จนมาถึงแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ ต้องปรับตัวขนานใหญ่ เนื่องจากภาระขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 7 ปี
ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 43 ปี บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด(JSL)ก็ถึงเวลาต้องปรับตัวใหญ่อีกครั้ง เพราะทนขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 7 ปีไม่ไหว แม้จะพยายามปรับองค์กร ปรับรายการ ปรับความร่วมมือกับหลายสถานี ก็ยากลำบาก เนื่องจากรายได้บริษัทลดลงทุกปี และยังภาระหนี้สิน รวมถึงการแข่งขันที่หนักหน่วง ไม่คุ้มกับเม็ดเงินค่าโฆษณาที่ได้มา โดยแจ้งรายได้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไว้ว่า 7 ปีที่ผ่านมาเจอภาวะขาดทุนสะสม 188 ล้านบาท
จากสตูดิโอเล็กๆ ปี 2522
ตำนานเจเอสแอลก่อตั้งปี 2522 เริ่มจาก 3 ผู้ก่อตั้ง 3 คน คือ จำนรรค์ อัษฎามงคล (J) สมพล สังขะเวส นักแปลนวนิยายชื่อดัง (S) และลาวัลย์ ชูพินิจ (L)
โดยช่วงแรก ลาวัลย์ กันชาติ รั้งตำแหน่งประธาน, ปริพันธ์ หนุนภักดี รองประธาน ,จำนรรค์ ศิริตัน-ประธานกรรมการบริหาร ,รติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และวัชระ แวววุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อทำธุรกิจผลิตรายการและละครโทรทัศน์ให้แก่สถานีโทรทัศน์ต่างๆ รวมถึงการผลิตงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และเป็นอีเวนต์ ออแกไนเซอร์ชั้นนำของประเทศ
ปี 2529 ก่อตั้ง Studio Active
ในยุคที่ธุรกิจบันเทิงเฟื่องฟู ปี 2529 เจเอสแอลขยายงานในสายงานที่ถนัด Studio Active ให้บริการเช่าสตูดิโอ พร้อมเครื่องมือ เพื่อถ่ายภาพยนตร์ วิดีโอ ถ่ายโฆษณา จัดรายการ แสดงละคร บันทึกเทปวิดีโอ รวมทั้งการให้เช่า สถานที่เพื่อฝึกสอนนักแสดง ซึ่งสตูดิโอเหล่านี้ ยังคงใช้ในการบันทึกเทปรายการในปัจจุบัน
ปี 2538 ก่อตั้งฝ่ายกิจการพิเศษ
ในยุคที่คู่แข่งยังไม่มากเหมือนปัจจุบัน ปี 2538 เจเอสแอล รับจัดงานอีเวนท์ และได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐให้ดำเนินการจัดงาน งานแสดง แสงสีเสียง งานนิทรรศการและเปิดตัวสินค้า งานเลี้ยงในโอกาสสำคัญ ต่างๆ งานพิธีเปิด-ปิดระดับประเทศ การจัดการประชุม ในระดับต่างๆ อาทิ พิธีเปิด-ปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 การแสดงแสงเสียงประกอบกระบวนพยุหยาตราทางชล มารค เพื่อต้อนรับผู้นำเอเปค ปี พ.ศ. 2546 ซึ่งตอนนั้นสร้างชื่อให้กับเจเอสแอลมาก
การบริหารจากทายาทรุ่น 2 ปีพ.ศ.2558
เมื่อบริษัทเติบใหญ่ จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรเพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และได้ส่งต่อการบริหารงานจากรุ่น 1 สู่รุ่น 2
หนึ่งในผู้บริหารรุ่น 2 กรินทร์ ชูพินิจ ทายาทของลาวัลย์ กันชาติ ผู้ร่วมก่อตั้งเจเอสแอล โดยตอนนั้นรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เข้ามาพัฒนาธุรกิจใหม่ ภายใต้กลยุทธ์“พาร์ทเนอร์ชิพ”ซึ่งเป็น DNA ของเจเอสแอล ที่จะใช้ทำงานกับทุก“คู่ค้า” ทุกบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นหัวใจในการทำงานของเจเอสแอล ทั้งฝั่งทีวีธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ดัง “เอไอ ไทยแลนด์” แต่ผ่านไปไม่กี่ปี โลกออนไลน์ไปเร็วกว่าคิด
ปี 2561 เจเอสแอล ยุติการเช่าเวลา
ปลายปี 2561 บริษัท เจ เอส แอลฯ ยุติรายการที่จะออกอากาศกับช่อง 7 ทั้งๆ ที่ทำงานกับช่อง 7 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ผลิตรายการมากมาย อาทิ 07 ,จันทร์กะพริบ, ขบวนการจี้เส้น รายการกิ๊กดู๋สงครามเพลงเงาเสียง, รายการกิ๊กดู๋ ซุปตาร์เงินล้าน ฯลฯ
รายการ กิ๊กดู๋ สงครามเพลง เงาเสียง และ กิ๊กดู๋ ซุปตาร์เงินล้าน จึงย้ายจากช่อง 7 ไปอยู่ช่อง พีพีทีวี
แม้จะปรับตัวตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ปรับเปลี่ยนแนวทางมารับจ้างผลิต เพื่อความอยู่รอด แต่เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย ผู้ผลิตรายการต่างๆ ทั้งเกมโชว์ ควิซโชว์ เกมโชว์สำหรับเด็ก ทอล์คโชว์ วาไรตี้โชว์ วาไรตี้คอเมดี้โชว์ เรียลลิตี้โชว์ การประกวด ละครเวที สารคดี และรายการวันหยุดนักขัตฤกษ์ กว่า 100 รายการ ก็ถึงเวลาต้องปรับตัว
ส่วนจะทนขาดทุนสะสมได้นานแค่ไหน ก็ต้องติดตามต่อไป