6 กรกฎาคม "วันจูบสากล" ส่องการจูบจากทั่วโลกที่ไม่ได้มีแค่เรื่องใต้สะดือ
6 กรกฎาคมของทุกปี คือ "วันจูบสากล" โดยพบว่ามีวัฒนธรรมการจูบ 46% จากทั้งหมดทั่วโลก ถึงอย่างนั้นบางวัฒนธรรมไม่ได้มองว่าการจูบคือการแสดงออกทางเพศ โดยการจูบไม่จำเป็นต้องใช้ปากต่อปากเพียงอย่างเดียว
6 กรกฎาคมของทุกปี คือ “วันจูบสากล” (International Kissing Day) โดยจุดเริ่มต้นของวันนี้เกิดขึ้นจากประเทศอังกฤษ ก่อนจะขยายความรู้จักไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ช่วงสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีอัตลักษณ์ของการทักทายเพื่อน และคนรู้จักด้วยการจูบแก้ม ทำให้ต้องงดการ “จูบ” หรือการสัมผัสทางร่างกายไป
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปดูวัฒนธรรมการจูบที่ไม่ได้มีแค่เรื่องใต้สะดืออย่างเดียว
- วัฒนธรรมการจูบ
ผลวิจัยเรื่อง Sexual Kiss a Near Human Universal ของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ระบุว่าพบวัฒนธรรมการจูบ 46% จากทั้งหมดทั่วโลก ถึงอย่างนั้นบางวัฒนธรรมไม่ได้มองว่า "การจูบ" คือการแสดงออกทางเพศ โดยการจูบไม่จำเป็นต้องใช้ปากต่อปากเพียงอย่างเดียว
อย่างในธรรมเนียมปฏิบัติของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีอัตลักษณ์ของการทักทายเพื่อนและคนรู้จักที่ไม่ต้องใช้การจูบปาก แต่แทนที่ด้วยการจูบแก้ม การกอด และการจับมือ หรืออย่างในเมืองมาร์เซย์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ก็มีการ ‘bise’ หรือ การจูบที่แก้มซ้ายและขวา ซึ่งเป็นธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวฝรั่งเศส ซึ่งบางเมืองมีจำนวนการจูบแก้มแตกต่างกัน เช่น 2 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง
มีหลักฐานจากบันทึกเก่าๆ ย้อนหลังไปถึง 3,500 ปีก่อน เป็นบันทึกในภาษาสันสกฤตที่นิยามเอาไว้ว่า "การจูบ" เป็นการแลกเปลี่ยนจิตวิญญาณ และยังถูกพบในไบเบิล ซึ่งเรียกกันว่า “Holy Kiss” กามาสุตรา และอื่นๆ อีกมากมาย
- จูบนี้มีประโยชน์
ทางด้านวิทยาศาสตร์ การจูบกันก็มีเหตุผลมารองรับ โดยนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่า การจูบช่วยเพิ่มระดับออกซิโทซิน ซึ่งเป็นสารเคมีตามธรรมชาติที่ร่างกายหลั่งออกมา ทำให้เราใจเย็น สงบนิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มการหลั่งของสารแห่งความสุขอย่าง "สารเอนดอร์ฟิน" (Endorphin) รวมถึง "สารโดพามีน" ที่ทำให้คุณทั้งคู่มีความรู้สึกผูกพันแนบแน่นกันมากขึ้น
นอกจากนี้ DENTAL HEALTH MAGAZINE ระบุว่าการจูบอย่างดูดดื่มช่วยกระตุ้นน้ำลาย ที่ทำให้ช่องปาก เหงือก และฟันแข็งแรงขึ้น น้ำลายที่เพิ่มขึ้นยังช่วยขจัดเศษอาหารที่อาจตกค้างในซอกฟัน ทั้งยังกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายคุณตอบสนองและต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น
- ไม่ใช่แค่คน แต่สัตว์ก็ "จูบ" กันด้วย
พฤติกรรมจูบไม่ได้เกิดกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเกิดกับสัตว์ นักสัตววิทยาชั้นแนวหน้าชาวอังกฤษ Desmond Morris นำเสนอผลงานวิชาการในปี 1960 ว่า การจูบของมนุษย์มีวิวัฒนาการร่วมมาจากแม่ลิงในกลุ่มไพรเมทที่เคี้ยวอาหารให้อ่อนนิ่มก่อนจะป้อนให้ลูกน้อยแบบปากต่อปาก (Mouth to mouth feeding)
นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมของ "ลิงชิมแปนซี" ที่มีการจูบและกอดกันเพื่อเป็นการสงบศึก หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างกันและกัน และพบการจูบนี้ในลิงเพศผู้ด้วยกันเอง มากกว่าจะเป็นการจูบระหว่างเพศผู้และเมีย
-----------------------------------
อ้างอิง : คนเราจูบกันไปทำไม?, จู...จุ๊บวัฒนธรรมการจูบ จะได้จุ๊บแบบมือโปร, plookfriends.com/, healthaddict.com, labello.com, bbc.com