ฟัง "ท่าพระ ภาพยนตร์" เล่าเรื่อง "หนังกลางแปลง" วิถีบันเทิงที่ถูกต่อลมหายใจ
ฟังเรื่องเล่าของคนทำ “หนังกลางแปลง” อีกหนึ่งธุรกิจที่ซบเซาเพราะโควิด-19 และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง แต่กำลังถูกต่อลมหายใจขึ้นใหม่จาก “กรุงเทพกลางแปลง” และบรรดาอีเวนท์ที่กำลังกลับมา
สายลมของเดือนกรกฎาคม มาตรการสาธารณสุขที่เริ่มคลี่คลาย และบรรยากาศความหวังของคนกรุงเทพฯ ทำให้เทศกาล “‘กรุงเทพกลางแปลง’ คืออีกกิจกรรมที่หลายคนอยากมีส่วนร่วม แบบเดียวกับ “เทศกาลดนตรีในสวน” ที่จัดขึ้นมาก่อนหน้า และต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์
ความไพเราะของเสียงดนตรี หรือความสนุกของการฉายหนัง แม้จะเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของกิจกรรมข้างต้น แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับความมีชีวิตชีวาของเมือง และความแข็งแรงของเศรษฐกิจเล็กๆ ที่ผู้คนอยากเห็น และกล่าวโดยเฉพาะหนังกลางแปลง นี่คือช่วงเวลาที่ธุรกิจนี้กำลังถูกพูดถึงอีกครั้ง ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้กำลังโรยแรง ทั้งจากพฤติกรรมของผู้ว่าจ้างและจากโควิด-19
บรรยากาศงาน กรุงเทพกลางแปลง เมื่อคืนวันที่ 7 กรกฎาคม 2565
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” สนทนากับ สุทิน วังไพบูลย์ (คุณหนุ่ม ท่าพระ) เจ้าของ “ท่าพระ ภาพยนตร์” ซึ่งทำธุรกิจหนังกลางแปลงมามากกว่า 30 ปี
“แต่ก่อนสนุกมากนะ ฉายหนังที มีของกินอร่อยๆ อ้อยควั่น ลูกชิ้นปิ้ง ไส้กรอกทอด ขนมสายไหม เจ้าของงานบางคนจ้างเราไปฉายตรงศาลเจ้า ก็เฝ้าตรงนั้นกันทั้งคืน ครั้งละ 3-5 วัน แต่เดี๋ยวนี้พอกรรมการศาลเจ้าเปลี่ยนรุ่น จากอาก๋ง อาม่า เป็นลูกหลาน เขาก็จะลดวันจัดงาน จากที่ต้องฉลอง มีดนตรี มีหนังกลางแปลง ก็จะเหลือวันทำบุญอย่างเดียว ไม่ต้องจ้างหนังไปฉาย” หนุ่ม ท่าพระ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อธุรกิจฉายหนัง
คุณหนุ่ม ท่าพระ เจ้าของธุรกิจท่าพระ ภาพยนตร์ รับฉายหนังกลางแปลง
- หนังกลางแปลงก่อน “กรุงเทพกลางแปลง”
“กรุงเทพกลางแปลง” ทำให้ผู้คนในเมืองกรุงฯ คึกคักขึ้น เช่นเดียวกับชื่อของ “หนังกลางแปลง” ที่คนรุ่นใหม่เริ่มพูดถึงและค้นหา
แต่ถึงเช่นนั้นเมื่อย้อนกลับไป 4-5 ปีก่อน คนทำธุรกิจฉายหนังกลางแปลงล้มหายตายจากไปมาก เพราะไหนจะพฤติกรรมการดูหนังที่ย้ายไปสู่โรงภาพยนตร์ การเปลี่ยนแลด์สเคป (Land Scape) ของเมือง จากชุมชนในตรอกซอกซอย เป็นหมู่บ้านรั้วรอบขอบชิด ตึกสูงคอนโด ไม่นับการมาของโควิด-19 ที่ทำเอางานรื่นเริงต้องหยุดชะงักเพราะการเว้นระยะห่างทางสังคม
“ชุมชนเปลี่ยนไปมีผลอย่างมาก เช่น แต่ก่อนมีศาลเจ้าอยู่ในชุมชน บ้านจะอยู่ชิดกัน อยู่กันเป็นซอย เวลาฉายคนก็จะมามุงอยู่ในซอยนั้น แต่ปัจจุบันชุมชนบางที่ถูกรื้อ เป็นสร้างคอนโด อยู่ในหมู่บ้านแทน คนจ้างไปก็คิดว่าคงไม่มีใครดู นี่ยังไม่นับรวมคนที่เป็นกรรมการที่เปลี่ยนรุ่นไป เขาก็อยากให้พิธีงานทำบุญกระชับที่สุด ไม่ต้องมีความบันเทิงมาก”
“หรืออย่างงานวัด ช่วงก่อนเข้าพรรษาจะเป็นช่วงที่ธุรกิจหนังกลางแปลงขาขึ้นมากๆ เพราะช่วงเข้าพรรษาก.ค.-ก.ย.ก็จะพัก ไม่มีงานเลย แต่พอมีโควิด-19 งานตรงนี้ก็หายไป เนี่ยอย่างเวลานี้เดือนกราฎาคมก็ต้องคึกคักมาแล้ว แต่ปีนี้ก็ยังไม่มากเท่าไร แต่ก็ดีกว่าปีก่อน”
สุทิน บอกว่า ธุรกิจหนังกลางแปลงในปัจจุบันจึงอยู่ได้ด้วยอีเวนท์ เป็นการจัดงานในกลุ่มเฉพาะ เช่น งานเปิดตัวสินค้า งานเลี้ยงให้กับลูกบ้านในคอนโด ซึ่งต้องการหนังกลางแปลงมาช่วยสร้างสีสัน
“มันไม่ใช่การจ้างเหมือนก่อน แต่จ้างไปเพื่อ ออกงานในกลุ่มเฉพาะ เรามีจอกลางแปลงตั้งแต่ 4 เมตร 8 เมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ 16 เมตร แต่ทุกวันนี้สเกลงานใหญ่ขนาดนี้หายาก งานอีเวนท์ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ราวๆ 6-8 เมตร ให้เหมาะกับสถานที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะอยู่ที่หลักพัน ประมาณ 5,000-8000 บาท ต่อวัน ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะเป็นทีมงาน ที่ต้องมีขั้นต่ำประมาณ 3-5 คน แล้วก็นำเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าลิขสิทธิ์กับค่ายหนัง ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท ต่อเรื่อง ในระยะเวลา 2-3 ปีขึ้นอยู่กับสัญญา
รูปแบบการจ้างงานอีเวนท์ ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของนักกลางแปลงในช่วงนี้
- บันเทิงสะท้อนรสนิยมคนดู
ลองจินตนาการถึงตอนไปเสนองาน ที่เมื่อมีอีเวนท์ปุ๊บ แล้วเจ้าของงานต้องการหนังกลางแปลงมาฉาย วิธีแรกคือบรรดาธูรกิจหนังกลางแปลงต้องเอาผลงาน หรือ Portfolio เข้าไปเสนอกับผู้จัดงานทิ้งไว้ หรือไม่ก็ชักชวนกันแบบปากต่อปาก ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคนทำธุรกิจหนังกลางแปลงจะหอบเอารายชื่อภาพยนตร์ลิขสิทธิ์ที่ตัวเองมีเข้าไปเสนองาน ไม่ต่างอะไรกับการพิชชิ่ง (Pitching) งานทั่วๆไป
“ถ้าเขาต้องการและเรียกเราไปนำเสนอ เราจะเอาหน้าหนังของเราให้เขาดู เป็นรายชื่อภาพยนตร์ที่เรามีลิขสิทธิ์ เราจะดูก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาเป็นใคร เช่น ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าคอนโด งานอีเวนท์ในเมือง เราจะเน้นหนังของค่าย GDH เช่น แฟนฉัน รถไฟฟ้ามาหานะเธอ น้องพี่ที่รัก พี่มากพระโขนง ฯลฯ เก่าใหม่สลับกัน แต่ทุกเรื่องต้องดูแล้วคลายเครียด อมยิ้มได้ ดูแล้วมีความสุข”
ส่วนถ้าเป็นกลุ่มเป้าหมายต่างจังหวัด เช่น งานวัด งานในภูมิภาค สุทิน บอกว่า หัวใจหลักคือต้องเป็นหนังแอ๊คชั่น ดูง่าย เน้นฉากแบบระเบิดภูเขา เผากระท่อม (หัวเราะ) ซึ่งทำให้คนดูรู้เรื่องด้วยภาพ แม้จะไม่ได้ฟัง ไดอะล็อคสนทนาของตัวละครเลยก็ตาม
“หนังกลุ่มนี้ผมยกตัวอย่าง Fast & Furious ทุกภาค ที่ต้องมีในลิสต์ให้ลูกค้าเลือก เพราะดูง่าย คนหลายวัยเข้าใจ” เจ้าของธุรกิจหนังกลางแปลง กล่าว
Keys การลงทุนของคนทำธุรกิจในประเด็นนี้ ต้องมองหน้าหนังให้ออก ต้องรู้ว่าภาพยนตร์เรื่องไหนที่ควรจะซื้อลิขสิทธิ์เก็บไว้ และเป็นสะพานให้สามารถต่อไปถึงลูกค้าได้
“เราพยายามซื้อเก่าใหม่สลับกัน ซื้อมาตุนมากก็เสี่ยงมาก ผมพยายามหาที่คนกลุ่มไหนก็ดูได้ อย่างตอนนี้ผมซื้อ 4 Kings ไว้ สำหรับลูกค้าที่อายุไม่เยอะมาก ถือว่าเป็นหนังใหม่ที่ออกโรงมากกว่า 90 วัน ซึ่งเอามาฉายหนังกลางแปลงได้”
เครื่องฉายหนังแบบฟิล์ม ที่เห็นได้ในการฉายหนังกลางแปลง (ภาพจากท่าพระ ภาพยนตร์)
- วิถีที่ถูกต่อลมหายใจ
แม้จะหอมหวน และโรแมนติกเพียงใดเมื่อนึกถึง แต่ในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าหนังกลางแปลงไม่ใช่ไลฟ์สไตล์หลักของผู้คน จะมีแค่เพียงตามหัวเมือง และเทศกาลต่างๆ ที่เจ้าของงานผู้มีกำลังจ้างจะเลือกหนังกลางแปลงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกสนาน
พ่อค้า แม่ขาย และบรรดาธุรกิจบริการเล็กๆน้อย คือบรรยากาศที่เห็นในหนังกลางแปลง เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ “กรุงเทพกลางแปลง” ที่เราอยากให้เห็นบรรยากาศนั้นกลับคืนมา
สุทิน มองว่า คนทำธุรกิจหนังกลางแปลงในปัจจุบัน ไม่สามารถยึดอาชีพนี้เพียงอาชีพเดียว และการคงไว้ของธุรกิจส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์และหล่อเลี้ยงทีมงาน
“กระแสของกรุงเทพกลางแปลง ผมว่าช่วยได้มากเลยนะ นโยบายของท่านผู้ว่าฯ ทำให้คนมาพูดถึงหนังกลางแปลงมากขึ้น พอเป็นกระแส ผมเชื่อว่านั่นหมายถึงโอกาสที่การจัดงานต่างๆ จะเอาหนังกลางแปลงไปเป็นส่วนหนึ่ง”
ลมหายใจของความบันเทิงแบบไทยๆประเภทนี้ จึงถูกต่อออกไปอีก