"วันเข้าพรรษา" วันไหน? เปิดประวัติความสำคัญ - อานิสงส์การถวายเทียน

"วันเข้าพรรษา" วันไหน? เปิดประวัติความสำคัญ - อานิสงส์การถวายเทียน

"วันเข้าพรรษา" วันไหน? เปิดประวัติ ที่มาความสำคัญ อานิสงส์ที่เชื่อว่าจะได้รับจากการถวายเทียนพรรษาหรือหลอดไฟ

"วันเข้าพรรษา" 2565 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝน ที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือเรียกว่า "จำพรรษา" (พรรษา แปลว่า ฤดูฝน , จำ แปลว่า พักอยู่)

 

สำหรับการเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์จะไม่จำพรรษาไม่ได้ เนื่องจากรูปใดไม่จำพรรษาถือว่าต้องอาบัติทุกกฏตามพระวินัย การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

 

 

วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง) หรือ เทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางศาสนาพุทธที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน

 

โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย

 

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่ "พระสงฆ์" นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้นเป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

 

\"วันเข้าพรรษา\" วันไหน? เปิดประวัติความสำคัญ - อานิสงส์การถวายเทียน

 

 

ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟ เทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีตชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

 

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ประกาศให้ "วันเข้าพรรษา" เป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมายังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

 

ความสำคัญของการเข้าพรรษา

 

  • ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้าหรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

 

  • หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8-9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน

 

  • เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

 

  • เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

 

  • เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

 

การเข้าพรรษาตามพระวินัย แบ่งเป็น 2 ประเภท

 

  • ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

 

  • ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

 

อานิสงส์การจำพรรษาของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา

 

เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ คือ

 

  1. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้)
  2. เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน
  3. ฉันคณะโภชน์ได้ (ล้อมวงฉันได้)
  4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ)
  5. จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)

 

ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

 

แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง ที่จะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้น อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่างทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา แต่ทั้งนี้ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ซึ่งเหตุที่ทรงระบุว่าจะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้น เช่น 

 

  • การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 มารดา บิดา
  • การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5
  • การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือการไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น
  • หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ก็จะไปค้างไม่ได้

 

ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า "ขาดพรรษา" และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)

 

ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายในเจ็ดวัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าวแล้ว

 

\"วันเข้าพรรษา\" วันไหน? เปิดประวัติความสำคัญ - อานิสงส์การถวายเทียน

 

ประเพณีเนื่องด้วยการเข้าพรรษาในประเทศไทย

 

ในประเทศไทยมีประเพณีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ไทยมาช้านาน ดังปรากฏประเพณีมากมายที่เกี่ยวกับการเข้าจำพรรษา เช่น ประเพณีถวายเทียนพรรษา แก่พระสงฆ์เพื่อจุดบูชาตามอารามและเพื่อถวายให้พระสงฆ์สามเณรนำไปจุดเพื่ออ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในระหว่างเข้าจำพรรษา ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าวัสสิกสาฏก แก่พระสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา เพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้สรงน้ำฝนในพรรษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่พุทธศาสนิกชนไทยถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีคือ ประเพณีถวายผ้ากฐิน ที่จัดหลังพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษา เพื่อถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ที่จำครบพรรษาจะได้กรานและได้รับอานิสงส์กฐิน เป็นต้น

 

อานิสงส์การถวายเทียนพรรษา

 

ตั้งแต่ในอดีตมีความเชื่อว่าการถวายเทียนพรรษาจะทำให้ชีวิตดีรุ่งเรืองโชติช่วงเหมือนดังแสงไฟจากเทียน หากเจอปัญหาก็จะพบทางออกที่เป็นเหมือนแสงสว่างของเทียน ต่อมาก็ได้มีการถวายเทียนเพื่อเป็นการเสริมดวงความรัก โดยนิยมถวายเป็นคู่ เพราะเชื่อว่าแสงเทียนจะช่วยส่องสว่างในชีวิต เสริมให้ดวงความรักดีขึ้น มีชีวิตคู่ที่ราบรื่น

 

  • ทำให้เกิดปัญญา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
  • ทำให้สว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมทำให้มีความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ
  • ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาในชีวิตให้ร้ายกลายเป็นดี
  • เจริญไปด้วยมิตรบริวาร
  • ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
  • เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
  • เมื่อลาลับโลกนี้ไปย่อมไปสู่สุคติสวรรค์
  • หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน

 

\"วันเข้าพรรษา\" วันไหน? เปิดประวัติความสำคัญ - อานิสงส์การถวายเทียน