ตามไปดู “ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก” จ.ตาก
กินเนสส์ เวิร์ล เรคคอร์ด (Guinness World Records) เดินทางมาไทย เพื่อจดบันทึกสถิติโลกครั้งใหม่ “ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก” ณ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย จังหวัดตาก
นับเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อได้เห็น “ต้นไม้กลายเป็นหิน” ขนาดสูงเทียบเท่าตึก 20 ชั้น ที่ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง เขื่อนภูมิพล และ ตัวจังหวัดตาก ในพื้นที่ 12,500 ไร่ โดยรอบเป็นป่าเต็งรังโปร่ง พื้นดินเป็นชั้นกรวดทราย
ท่อนไม้ขนาดใหญ่ถูกฝัง แต่มีบางส่วนโผล่ออกมา จากการตรวจสอบในปี 2546 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ขุดค้นพบว่า ท่อนไม้ที่ฝังอยู่กลายเป็นหิน
มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร ยาว 72 เมตร จึงได้จัดตั้งพื้นที่แห่งนี้เป็น “วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน” และต่อมาได้ดำเนินการสำรวจขุดค้น 7 หลุม พบไม้กลายเป็นหินจำนวน 8 ท่อน
สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายจาก กรมทรัพยากรธรณี ประสานงานกับ กินเนสส์ เวิร์ล เรคคอร์ด (Guinness World Records : GWR) ในเดือนมิถุนายน 2564
เพื่อขอรับรองสถิติโลกอย่างเป็นทางการ โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกิจกรรม
ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก จ.ตาก
- ไม้กลายเป็นหิน เรื่องธรรมชาติครั้งแรกของไทย
ที่ผ่านมา เรื่องราวในประเทศไทยมีการบันทึกลงกินเนสบุ๊ค ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง ต้มยำกุ้งใหญ่ที่สุดในโลก, ข้าวเหนียวมะม่วงใหญ่ที่สุดในโลก, เดินทางด้วยเท้าบนกลีบดอกไม้ที่ยาวที่สุดในโลก,
บุฟเฟ่ต์ใหญ่ที่สุดในโลก, ล้างจานได้เยอะเร็วที่สุดในโลก แต่ครั้งนี้เป็นการบันทึกสถิติโลกที่เกิดจากธรรมชาติครั้งแรกของประเทศไทย
Swapnil ผู้แทน กินเนสส์ เวิร์ล เรคคอร์ด (Guinness World Records : GWR) เดินทางมาประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อจดบันทึกสถิติโลกครั้งใหม่
ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 69.70 เมตร หรือเทียบเท่าความสูงของตึก 20 ชั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 เมตร แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติในอดีตของ จ.ตาก มีความอุดมสมบูรณ์
นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าของสถิติโลกจากมรดกทางธรรมชาติ ไม่ใช่จากฝีมือมนุษย์หรือสิ่งประดิษฐ์ใดๆ
จตุพร บุรุษพัฒน์ กับ Swapnil จาก Guinness World Records Cr.Kanok Shokjaratkul
- บันทึกอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 65 จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานรับมอบเอกสารรับรองในงานบันทึกสถิติโลก “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” จาก กินเนสส์ เวิร์ล เรคคอร์ด (Guinness World Records : GWR)
“ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีทรัพยากรธรณีที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาเรียนรู้
และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยา เพื่อสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย” จตุพร กล่าว
ขณะที่ พงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานบันทึกสถิติโลกครั้งนี้ว่า เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรณี
“เพื่อให้คนรู้จักไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวกว่า 69.70 เมตร มากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยา ในจังหวัดตาก ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ สร้างเครือข่าย ยุวมัคคุเทศก์ ตั้งแต่ระดับนักศึกษาไปถึงนักเรียน เพื่อให้เกิดความรักและความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการอนุรักษ์การจัดการทรัพยากรธรณีเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป”
ทางด้าน สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า การรับรองสถิติอย่างเป็นทางการในวันนี้ ทำให้จังหวัดตากเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
“ส่งผลดีด้านการท่องเที่ยวและวิชาการ ในอนาคต จังหวัดตากจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็น อุทยานธรณี หรือ GEO PARK โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ชุมชน ซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรงกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น”
ในส่วนของ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะ ผู้อำนวยการอุทยานธรณี ไม้กลายเป็นหินตาก กล่าวว่า การบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้ จะทำให้ชุมชนและประชาชนรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของแหล่งทรัพยากรธรณี
“ตระหนักถึงความสำคัญของ ไม้กลายเป็นหิน เกิดการอนุรักษ์ พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวระดับสากล เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการบูรณาการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่จังหวัดตาก”
- เบื้องหลังของการจดบันทึก
กนก อินทรวิจิตร นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรับรองสถิติในครั้งนี้ สมาคมฯ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อการขอรับรองจาก GWR
“การขุดค้นพบ ไม้กลายเป็นหิน ทำให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหินมากขึ้น นอกจากไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกในหลุมที่ 1 แล้ว เรายังค้นพบไม้กลายเป็นหินที่เป็นต้นไม้ใหญ่แบบนี้อีก 6 ต้น
ความยาว 30-45 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-2.0 เมตร คาดว่าน่าจะมีไม้กลายเป็นหินอีกจำนวนมากในบริเวณนี้ นับเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะไม่มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ใดในโลกที่มีการพบไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่รวมกันเช่นนี้มาก่อน"
- ค้นพบครั้งแรกเมื่อ 18 ปีที่แล้ว
จากการสำรวจและขุดค้นที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546-2548 โดย กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรธรณี ได้ค้นพบไม้กลายเป็นหินจำนวน 7 หลุมขุด
ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก เป็นหลุมที่ 1 มีความยาวถึง 69.70 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร มีอายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี แสดงให้เห็นว่า พื้นที่จังหวัดตากแห่งนี้ ในอดีตมีสภาพเป็นป่าดึกดำบรรพ์
และต้นไม้ที่กลายเป็นหินคือ “ต้นทองบึ้ง” ปัจจุบันไม่พบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว แต่พบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้และบริเวณคาบสมุทรมาลายู
นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังพบ ไม้กลายเป็นหิน อีกกว่า 100 จุด ซึ่งยังไม่ได้ขุดค้น จึงได้ประกาศให้แหล่งซากไม้กลายเป็นหินอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน ตามพรบ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ปี พ.ศ. 2551 โดยครอบคลุมทั้ง 7 ต้น ที่ค้นพบเป็นเนื้อที่กว่า 40 ตารางกิโลเมตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาซากดึกดำบรรพ์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
- คุณค่าและความสำคัญ
แหล่งไม้กลายเป็นหิน เป็น แหล่งซากดึกดำบรรพ์ ที่มีคุณค่า เพราะไม่มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ใดในโลกที่มีการพบ ฟอสซิล ต้นทองบึ้ง และ มะค่าโมง ขนาดใหญ่ในแหล่งนี้มาก่อน อีกทั้งพรรณไม้เหล่านี้เป็นไม้ใน ป่าดิบชื้น ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เป็นหลักฐานแสดงว่าบริเวณนี้ในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอดเวลา
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวทาง นิเวศวิทยา ธรณีวิทยา บรรพชีวินวิทยา ในระดับสากล สามารถพัฒนาเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การขายสินค้าชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน
ไม้กลายเป็นหิน ที่พบในประเทศไทย ยังมีความสมบูรณ์มาก ควรได้รับการคุ้มครอง อนุรักษ์ พัฒนาชุมชนร่วมกับภาครัฐและเอกชนให้เป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานธรณีจังหวัดตาก ผลักดันไปสู่รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีระดับโลกตามมาตรฐานของ UNESCO ต่อไป
- โครงสร้างเซลล์ไม้
จากการศึกษาชิ้นตัวอย่าง ไม้กลายเป็นหิน ในพื้นที่พบว่า โครงสร้างเซลล์ไม้ ถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อม เป็นผลจากการ กดทับของชั้นตะกอนกรวดด้านบน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนับแสนปี
มีการยืดและหดตัวของเซลล์ตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิรอบข้าง ผลจากกระบวนการแปรสัณฐาน สามารถใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในอดีตสู่การพยากรณ์และอธิบายปรากฎสภาพอากาศในปัจจุบันและอนาคต
- กระบวนการเกิดไม้กลายเป็นหิน
เมื่อต้นไม้โค่นล้มแล้วถูกพัดพาไปโดยกระแสน้ำหลาก การทับถมของกรวด ตะกอนน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เกิดการซึมผ่านของสารละลายแร่เข้าไปในช่องว่างของเนื้อเยื่อของไม้
แร่ตกผลึกแยกออกจากสารละลายและเติมเต็มช่องว่าง เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และ ลิกนิน ที่อยู่ในผนังเซลล์เนื้อเยื่อไม้ทำหน้าที่เป็นแบบพิมพ์รักษาโครงสร้างของไม้เอาไว้
แม้จะมีแร่หลายชนิดสามารถแทนที่ได้ในเนื้อไม้ แต่ ซิลิกา เป็นแร่ที่พบมากที่สุดและรักษาสภาพโครงสร้างของเซลล์ได้ดีที่สุด จนทำให้เกิดเป็น ไม้กลายเป็นหิน ที่ยังคงสภาพรูปร่างและโครงสร้างเดิมของต้นไม้
- การอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน
ไม้กลายเป็นหิน ถือเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็น ซากดึกดำบรรพ์ หากค้นพบในประเทศไทยจะได้รับการดูแลและบริหารจัดการโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่ามีความสำคัญตามหลักเกณฑ์ก็จะได้รับการประกาศเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน หรือเป็น แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน
ซึ่งจะได้รับการบริหารจัดการตามกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ มีแนวทางในการบริหารจัดการอยู่ 4 ประเด็น 1) ด้านการอนุรักษ์ 2) ด้านวิชาการและการเรียนรู้ 3) ด้านการท่องเที่ยว 4) ด้านการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรอบ