"วันเข้าพรรษา" 2565 รู้จัก "ดอกเข้าพรรษา" สัญลักษณ์สำคัญแห่งฤดูฝน
เปิดประวัติ "วันเข้าพรรษา" และอานิสงส์จากการถวายเทียนพรรษา พร้อมทำความรู้จัก "ดอกเข้าพรรษา" สัญลักษณ์แห่งประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาที่ได้ชื่อว่าเป็น "ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก" อีกทั้งยังถือเป็นพืชประจำฤดูฝนอีกด้วย
สำหรับ "วันหยุดยาว" ช่วงแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ มีวันสำคัญทางศาสนาซ่อนอยู่ 2 วันด้วยกัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา" และ "วันเข้าพรรษา" ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปเปิดประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬบูชาไปแล้ว คราวนี้ชวนมาเจาะประวัติ "วันเข้าพรรษา 2565" กันบ้าง พร้อมชวนทำความรู้จัก "ดอกเข้าพรรษา" สัญลักษณ์แห่งประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก" อีกทั้งยังถือเป็นพืชประจำฤดูฝนอีกด้วย
1. "วันเข้าพรรษา" พระสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า อยู่)
พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
2. ประวัติ "วันเข้าพรรษา" ในพระพุทธกาล
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์ได้พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ทำให้เหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย
เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น "ขาดพรรษา"
แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยความจำเป็นที่ยกเว้นให้ ได้แก่
- การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
- การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
- การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
- หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้
3. ประเพณีแห่เทียนพรรษา และอานิสงส์ของการถวายเทียน
ในวันเข้าพรรษาของทุกๆ ปี มักมีประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ "ประเพณีหล่อเทียนพรรษา" สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ ซึ่งเทียนพรรษามักจะเป็นเทียนขนาดใหญ่อยู่ได้นานตลอด 3 เดือน
ประเพณีหล่อเทียนพรรษา เกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้เหมือนในปัจจุบัน เมื่อพระภิกษุจำพรรษารวมกันมาก ๆ และต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่างในการจุดไฟบูชาพระรัตนตรัย อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
สำหรับ "อานิสงส์ของการถวายเทียนพรรษา" เชื่อกันว่า ผู้ที่ทำบุญถวายเทียนพรรษานั้นจะห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสะอาดผ่องใสทั้งกายใจ มีความสง่างาม มีดวงตาแจ่มใส และก่อนการนำเทียนไปถวายที่วัด ก็จะจัดให้มีการหล่อเทียนให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วจึงจัดขบวนแห่เทียน เรียกว่า “ประเพณีแห่เทียนพรรษา” โดยมักจะมีการ "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดด้วย โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
4. รู้จัก "ดอกเข้าพรรษา" ดอกไม้ประจำเทศกาลเข้าพรรษา
ในวันเข้าพรรษาของทุกๆ ปี ชาวอำเภอพุทธบาท จ.สระบุรี จะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งใช้ตักบาตรจนกระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ เรียกกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างาม
หงส์เหิน (Globba Winiti) เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อน เกิดขึ้นในป่าร้อนชื้นซึ่งพบได้ในประเทศไทย พม่า และเวียดนาม ต้นเข้าพรรษาเป็นไม้ล้มลุก ส่วนใหญ่มักมีดอกมีสีเหลืองสดใส สีขาว และสีม่วง มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย สีของกลีบดอกแต่ละสีมีความหมาย ดังนี้
- สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา
- สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์
- สีม่วง หมายถึง ได้บุญกุศลแรงที่สุด (เป็นสีที่หายากที่สุด)
เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้ว ก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดอกเข้าพรรษา หรือดอกหงส์เหิน 1 ปี จะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้น โดยผู้คนในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท จะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาแล้วนำมาจัดรวมกับธูปเทียน เพื่อตักบาตรถวายพระในวันเข้าพรรษา
5. ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา "หนึ่งเดียวในโลก"
จังหวัดสระบุรีมีการจัดพิธี "ตักบาตรดอกเข้าพรรษา" ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทะบาท จังหวัดสระบุรี เป็นประจำทุกปี โดยที่นี่เป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา มีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่งดังกล่าว
ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่สำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน ประชาชนชาวอำเภอพระพุทธบาทและพื้นที่ใกล้เคียง จะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปี (ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) เป็นวันตักบาตรดอกเข้าพรรษามาโดยตลอด เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น กระทั่งมาเป็นประเพณีของจังหวัดสระบุรี และปัจจุบันเป็นประเพณีระดับประเทศ ได้ชื่อว่า “เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก”
แต่เดิมจัดงานเพียง 1 วัน แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญตักบาตรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดสระบุรีจึงได้เพิ่มจำนวน
วันตักบาตร จาก 1 วัน เป็น 3 วัน มีพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาวันละ 2 รอบคือ รอบเช้า เวลา 09.00 น. และรอบบ่าย เวลา 15.00 น.
การเข้าร่วมประเพณีนี้นอกจากผู้ร่วมงานจะได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่กับการถวายดอกเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินรับบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชนแล้ว พระภิกษุสงฆ์จะนำดอกเข้าพรรษาไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญกุศลให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามความเชื่ออีกด้วย
-----------------------------------------