“Hoesik” วัฒนธรรมสังสรรค์หลังเลิกงาน ถูกท้าทายโดยคนรุ่นใหม่ “เกาหลีใต้”

“Hoesik” วัฒนธรรมสังสรรค์หลังเลิกงาน ถูกท้าทายโดยคนรุ่นใหม่ “เกาหลีใต้”

ทำความรู้จัก “Hoesik” (โฮซิก) วัฒนธรรมสังสรรค์หลังเลิกงานในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนทำงานรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบัน วัฒนธรรมดังกล่าวกำลังถูกท้าทายและต่อต้านจากคนรุ่นใหม่ เพราะถือเป็นการทำงานล่วงเวลาและรบกวนเวลาชีวิตส่วนตัว

การสังสรรค์กันหลังเลิกงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องในออฟฟิศ ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีภายในทีม แต่ว่า วัฒนธรรม Hoesik (โฮซิก หรือที่อ่านแบบเกาหลีว่า “ฮเวซิก”) ของเกาหลีใต้เป็นมากกว่านั้น

ปกติแล้ว Hoesik เป็นการสังสรรค์หลังเลิกงาน ซึ่งมักจะไปรับประทานอาหารหรือไปร้องคาราโอเกะกัน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ เหล้าจำนวนมากที่พร้อมเติมอย่างไม่มีพร่อง ด้วยเงินของบริษัท เพื่อให้คนในทีมได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น แต่จุดประสงค์หลักจริง ๆ คือการพูดคุย วิเคราะห์การทำงานของทีม ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้น Hoesik จึงถือเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมการทำงานของเกาหลีใต้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเข้าร่วมกิจกรรมนี้ พนักงานหลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่รู้สึกถูกกดดันที่ต้องเข้าร่วมสังสรรค์ ซึ่งการหลีกเลี่ยงบ่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้

มันไม่ได้เป็นกฎ แต่คุณจำเป็นต้องไป ถ้าคุณยังอยากเลื่อนตำแหน่งและได้รับการประเมินที่ดี เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่า Hoesik เป็นส่วนหนึ่งของงาน สามารถสร้างความประทับใจให้กับหัวหน้างานได้” ซง จอง-ยอบ อดีตพนักงานออฟฟิศ วัย 38 ปี ตอนนี้เปิดร้านฮาร์ดแวร์ในย่านแทกู กล่าวกับสำนักข่าว Korea Harald

 

วัฒนธรรมดั้งเดิมที่คนรุ่นใหม่ไม่ชอบ

การสำรวจเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์หางาน Incruit พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีเพียง 34.4% ในช่วงอายุ 20 ปี และ 28.8% ในช่วงอายุ 30 ปี ชอบ Hoesik ที่เป็นสังสรรค์พร้อมดื่มหลังเลิกงาน ขณะที่ 65.6% ของกลุ่มช่วงอายุ 20 ปีและ 71.2% ของกลุ่มช่วงอายุ 30 ปี ชอบรับประทานอาหารกลางวันโดยไม่ต้องดื่มกับที่ทำงานมากกว่า

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี กว่า 68.7% ชอบทานอาหารเย็นพร้อมเครื่องดื่ม มีเพียง 31.3% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาชอบอาหารกลางวันที่ปราศจากแอลกอฮอล์

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Hoesik ถูกพูดถึงในด้านลบว่าเป็นงานสังสรรค์ที่ต้อง “เมาหัวราน้ำ” (drink till you drop) มากกว่างานกระชับความสัมพันธ์ภายในบริษัท

ชิน กวาง-ยอง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยจุงอังกล่าวว่าคนเจน Z และวัยรุ่นมิลเลนเนียล มีมุมมองกับ Hoesik ที่แตกต่างออกไป "ในอดีต Hoesik ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมความสามัคคีของกลุ่ม แต่ทุกวันนี้คนงานรุ่นใหม่ถือว่า Hoesik เป็นการทำงานล่วงเวลา"

กวาง-ยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า วัฒนธรรมในที่ทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีความเป็นปัจเจกบุคคลที่มากขึ้นและให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัว

เอริค โซ ผู้จัดการฝ่ายขายวัย 30 ปีของบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งบอกกับสำนักข่าว Insider ว่าเขาโชคดีที่ไม่ต้องเจอกับวัฒนธรรม Hoesik "พวกเราส่วนใหญ่ยังอายุไม่เยอะและไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อเราจะออกไปข้างนอกกัน คุณสามารถปฏิเสธได้หากไม่ต้องการไป เป็นเรื่องปกติ"

แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อ Hoesik แต่ ซู ยง-กู ศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัยสตรีซุกมยองในกรุงโซล กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่า "พนักงานอาวุโสหลายคนยังคงเชื่อว่า Hoesik มีความจำเป็นต่อการสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน"

“Hoesik ไม่ใช่แค่การไปดื่มหนักหลายชั่วโมงโดยเปล่าประโยชน์ แต่ยังเป็นวิธีการสื่อสารและช่วยเสริมสร้างการทำงานเป็นทีม” พนักงานวัย 40 ปีคนหนึ่งกล่าวกับ สำนักข่าว Korea Harald

Hoesik ตามสถานะทางกฎหมาย

ในทางกฎหมาย Hoesik ไม่ถือว่าเป็นการทำงานตามแนวทางอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน เมื่อปี 2561 พนักงานจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แม้ว่านายจ้างหลายแห่งจะถือว่าเป็นข้อบังคับก็ตาม อย่างไรก็ตาม มีการตัดสินคดีความที่ถือว่า Hoesik เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน

เมื่อเดือนพ.ค. 2564 ศาลในกรุงโซลได้ตัดสิน คดีที่ชายคนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ หลังจากที่เขาเข้าร่วม Hoesik กับบริษัทจนถึงเวลา 22:50 น. ว่าเป็นอุบัติเหตุจากการทำงานภายใต้กฎหมายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย 

“เนื่องจากผู้เสียชีวิตได้รับการว่าจ้างเพียง 70 วันก่อนเกิดอุบัติเหตุ เขาจึงไม่สามารถจะปฏิเสธการสังสรรค์กับหัวหน้างานของเขา ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะบอกว่าการเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับงานของผู้ตาย” ศาลกล่าวในการพิจารณาคดี

อีกหนึ่งคดีตัวอย่างเกิดขึ้นในกรุงโซลเช่นกัน เป็นคดีที่พนักงานเสียชีวิตระหว่างทางกลับบ้านหลังจากไปสังสรรค์กับหุ้นส่วนของบริษัท ศาลได้ตัดสินให้เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานทำเช่นกัน แม้ว่าบริษัทจะอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้จัดงาน Hoesik ก็ตาม

ศาลมีความเห็นว่า “แม้บริษัทจะไม่ได้เป็นผู้จัด Hoesik และไม่ได้บังคับให้พนักงานเข้าร่วม แต่ผู้ตายจำเป็นต้องอยู่ที่นั่นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหุ้นส่วน

แต่ไม่ใช่ทุกคดีที่ศาลพิจารณาว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการไป Hoesik จะเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น ในการพิจารณาคดีในปี 2559 ศาลปกครองกรุงโซลได้ตัดสินคดีที่ภรรยาได้ยื่นฟ้องบริษัทของสามีหลังจากที่สามีไปสังสรรค์แล้วประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

“ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ตายดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ด้วยความประสงค์ของตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับให้ดื่มของที่ทำงานแต่อย่างใด” 

 

ภัยร้ายที่แฝงมากับ Hoesik

แม้ว่า Hoesik จะเป็นการสังสรรค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานในบริษัท แต่ในด้านหนึ่ง หลายคนก็ใช้ Hoesik เป็นพื้นที่ในการฉวยโอกาสคุกคามทางเพศทั้งทางกายและวาจา

กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานทุก ๆ 3 ปี พบว่า ในปี 2558 และ 2561 มีการล่วงละเมิดทางเพศระหว่าง Hoesik มากที่สุด

ขณะที่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดที่จัดทำในช่วงปลายปี 2564 ถึง ต้นปี 2565 ระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศพนักงานระหว่าง Hoesik นั้นลดลงเหลือ 4.8% จากปี 2561 ที่สูงถึง 8.1% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถออกไปสังสรรค์กันได้ แต่ไม่ได้ลดลงเพราะคนมีจิตสำนึกมากขึ้น

เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลแขวงอินชอนได้ตัดสินให้อดีตคณบดีมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค แพ้คดีที่เขายื่นฟ้องมหาวิทยาลัยว่าไล่เขาออกอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการจับต้องร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่รับความยินยอม และบังคับให้พนักงานต่างเพศดื่มเลิฟช็อต (Love Shot) ระหว่าง Hoesik ในเดือนก.ค. 2562

เลิฟช็อต เป็นธรรมเนียมการดื่มรูปแบบหนึ่ง ที่ให้ผู้ดื่ม 2 คนประจันหน้ากัน แล้วเอามือคล้องแขนกันหรือกอดกัน เพื่อดื่มเครื่องดื่มนั้น

“ในฐานะคณบดีมหาวิทยาลัย เขาไม่ควรล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานและต้องห้ามไม่ให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว แต่เขากลับใช้ตำแหน่งที่สูงกว่าเพื่อบังคับผู้ใต้บังคับบัญชาแทน” ศาลกล่าวและเห็นว่าเขาสมควรถูกเลิกจ้างแล้ว

 

โควิด-19 ทำให้ Hoesik ถูกตั้งคำถามอีกครั้ง

ในเดือนก.ค. 2564 ทางการเกาหลีใต้ออกคำสั่งจำกัดพื้นที่ระดับ 4 ในกรุงโซลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา มีการสั่งผิดบาร์ และอนุญาตให้ประชาชนรวมตัวกันหลัง 6 โมงเย็นได้ไม่เกิน 2 คน และพนักงานอย่างน้อย 30% ต้องทำงานจากที่บ้าน

นี่จึงเป็นข้อดีเพียงข้อเดียวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และการบังคับมาตรการดังกล่าว สำหรับชาวเกาหลีใต้บางคน เพราะก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ ชาวเกาหลีทำงานอย่างน้อย 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังคงต้องออกไปร่วม Hoesik หลังเลิกงาน

แต่เมื่อทางการเกาหลีใต้เริ่มผ่อนคลาย ทำให้ Hoesik กลับมาอีกครั้ง คราวนี้วัฒนธรรม Hoesik เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากการสำรวจในปี 2564 โดยเว็บไซต์เลือกตั้งออนไลน์ท้องถิ่น Embrain สำหรับกลุ่มทำงานอายุ 19-59 ปี พบว่า ราวครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50.5% รู้สึกดีกับ Hoesik โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ได้บังคับให้ร่วมดื่ม” (41.8%), “มีแนวโน้มที่งานจะจบเร็ว” (34.5%); และ “ไม่ได้บังคับให้เข้าร่วมงาน” (31.5%)

กวาง-ยอง กล่าวว่า เหล่าพนักงานอาวุโสเริ่มยอมรับได้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการจะเข้าไม่อยากเข้าร่วม Hoesik และเริ่มไม่มีการบังคับ

"ผู้อาวุโสเริ่มตระหนักดีว่าคนรุ่นใหม่ค่อนข้างแตกต่างจากตัวเอง" กวาง-ยองกล่าวทิ้งท้าย


ที่มา: CNBCInsider, Korea Herald