“วันอีโมจิโลก” ส่องอีโมจิยอดนิยม ใน “เอเชียแปซิฟิก”
เปิดที่มา ทำไม 17 ก.ค. ถึงเป็น “วันอีโมจิโลก” (World Emoji Day) และแต่ละประเทศใน “เอเชียแปซิฟิก” รวมถึงประเทศไทย นิยมใช้ “อีโมจิ” แบบใดกันบ้าง พร้อมอัปเดตอีโมจิใหม่ที่จะมาให้ใช้ในเร็ว ๆ นี้
ในหลาย ๆ ครั้ง เพียงแค่การพิมพ์ข้อความเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้สามารถช่วยให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างมีอรรถรส อีโมจิที่เป็นรูปแสดงอารมณ์ และทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจถึงอารมณ์ของผู้ส่งข้อความได้ชัดเจน จึงเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงยุค 2010 เป็นต้นมา
อีโมจิ (Emoji) คือ รูปภาพ สัญลักษณ์ โลโก้ ที่ใช้กันในข้อความอิเล็กทรอนิกส์และเว็บเพจ โดยอีโมจิมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงสีหน้าและกิริยาอาการ อาชีพต่าง ๆ วัตถุ สถานที่ สภาพอากาศ สัตว์ พืช ตลอดจนธงชาติและสัญลักษณ์
อีโมจิ มาจากการรวมคำศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น 2 คำด้วยกัน คือ อี (e, 絵) ที่แปลว่า รูปภาพ (picture) รวมกับ โมจิ (moji, 文字) ที่แปลว่า อักขระ (character) เกิดขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2542 โดยชิเกตากะ คูริตะ พนักงานออกแบบของ NTT DoCoMo บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงสภาพอากาศในรายการพยากรณ์อากาศ
คูริตะและทีมออกแบบใช้เวลาพัฒนาอีโมจิชุดแรกจำนวนทั้งหมด 176 สัญลักษณ์ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ทันทีอีโมจิเริ่มออกใช้ก็ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก จนเริ่มแพร่ไปยังประเทศฝั่งตะวันตก ผ่านโปรแกรมแชทอย่าง MSN และ ICQ แต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากหลังจากที่อีโมจิถูกนำมาใส่ในสมาร์ทโฟน จน Oxford Dictionaries ได้ประกาศให้คำว่า “ขำจนน้ำตาไหล” 😂 (Face With Tears of Joy) ซึ่งเป็นหนึ่งในอีโมจิที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นคำแห่งปี 2558
17 ก.ค. วันอีโมจิโลก
เจเรมี เบิร์จ ผู้ก่อตั้ง Emojipedia เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอีโมจิ กำหนดให้วันที่ 17 ก.ค. ของทุกปีเป็นอีโมจิโลก เมื่อปี 2557 โดยกำหนดวันตามอีโมจิรูปปฏิทินบนระบบปฏิบัติ iOS ที่เป็นรูปวันที่ 17 ก.ค. เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันเปิดตัวแอปพลิเคชันปฏิทิน iCal ของ Apple Inc. เมื่อปี 2545
เมื่อวัน 17 ก.ค. เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันแล้วว่าเป็น วันอีโมจิโลก ทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่อีโมจิรูปปฏิทิน พร้อมใจกันเปลี่ยนรูปอีโมจิปฏิทินเป็นวันที่ 17 ก.ค. ทั้งหมด (ยกเว้น Microsoft) เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานสับสนวันอีโมจิโลก นอกจากสำนักข่าว The Washington Post ยังแนะนำให้ผู้อ่านร่วมเฉลิมฉลองวันนี้ด้วยการใช้เพียงอีโมจิในการสื่อสาร
ปรกติแล้วในวันอีโมจิโลก จะเป็นวันที่บริษัทเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีอีโมจิ จะใช้วันนี้เป็นวันประกาศแผนงานที่เกี่ยวกับอีโมจิทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Apple ใช้วันนี้ของทุกปีประกาศอีโมจิใหม่ที่จะมาให้ใช้งานในการอัปเดต iOS ครั้งต่อไป ตั้งแต่ปี 2560
โดยในปีนี้ มีอีโมจิใหม่ทั้งหมด 31 สัญลักษณ์ เช่น อีโมจิส่ายหน้า, สัญลักษณ์มือหยุด, กวางมูส, ห่าน, นกเดินดงสีดำ, แมงกะพรุน, หัวใจเฉดสีใหม่, สัญลักษณ์ Wi-Fi, ขิง, พัด เป็นต้น
ประเทศในเอเชียแปซิฟิกนิยมใช้อีโมจิอะไรบนทวิตเตอร์
ในปัจจุบันมีอีโมจิอยู่บนระบบยูนิโค้ดมาตรฐานทั้งสิ้น 3,633 สัญลักษณ์ แต่มีเพียงไม่กี่ตัวที่ถูกใช้อย่างเป็นประจำ มีอีโมจิหลายตัวที่แทบไม่เคยถูกใช้ และไม่รู้ว่ามีอยู่ด้วยซ้ำ
เว็บไซต์ Crossword Solver ทำการวิเคราะห์ทวีตจำนวน 9 ล้านทวีต จากทุกประเทศในโลก เพื่อประเมินว่าแต่ละประเทศใช้อีโมจิใดมากที่สุด ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า อีโมจิ “ขำจนน้ำตาไหล” 😂 (Face With Tears of Joy) ถูกใช้มากที่สุดใน 75 ประเทศทั่วโลก
ตามมาด้วยอีโมจิรูปธงชาติของแต่ละประเทศที่ถูกใช้มากที่สุดถึง 48 ประเทศ ส่วนรูปหัวใจที่ถูกใช้มากที่สุดใน 44 ประเทศ โดยมี 2 ประเทศที่ใช้หัวใจสีม่วงมากที่สุด เกาหลีใต้ คาซัคสถาน
จากกระแส Wordle เกมทายคำศัพท์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อีโมจิสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีเขียวและสีเทา ที่มาจากการแชร์ผลลัพธ์ของเกม Wordle ติดใน 10 อันดับ อีโมจิที่ชาวสหรัฐนิยมใช้มากที่สุด
ขณะที่ อีโมจิที่ใช้มากที่สุดในกลุ่มประเภศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนมากยังคงเป็นรูปธงชาติของแต่ประเทศ เช่น กัมพูชา เกาหลีเหนือ สิงคโปร์ และเวียดนาม ตามมาด้วยอีโมจิรูปหัวใจ เช่น ไทย และ เมียนมา ส่วนอีโมจิขำจนน้ำตาไหลถูกใช้มากที่สุดใน จีน มาเลเซีย และ ออสเตรเลีย
อีโมจิที่ใช้มากที่สุดในประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น อีโมจิพนมมือ (Pray) 🙏🏼 ใช้มากที่สุดในอินเดีย
ด้านอินโดนีเซียใช้อีโมจิขำกลิ้ง 🤣 มากที่สุด ส่วนลาวนิยมใช้อีโมจิใบหน้ายิ้มพร้อมรูปหัวใจ (Smiling face with hearts) 🥰 มากที่สุด และญี่ปุ่นใช้อีโมจิวิ้งวับ (sparkles) ✨ มากที่สุด
ไลน์สติกเกอร์ อีโมจิรูปแบบหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ครีเอเตอร์
แอปพลิเคชันส่งข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทยคงจะหนีไม่พ้น “LINE” ซึ่งจุดเด่นอย่างหนึ่งของ LINE คือ สติกเกอร์และอีโมจิที่ให้ศิลปินและคนทั่วไป ที่เรียกว่าครีเอเตอร์ สามารถวาดสติกเกอร์และอีโมจิของตนเองวางจำหน่ายผ่าน LINE Creators Market ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งครีเอเตอร์ จะได้รับส่วนแบ่ง 50% จากยอดขายสติกเกอร์และธีม (หลังหักค่าธรรมเนียม 30% ของ Apple, Google หรืออื่น ๆ แล้ว)
แม้ว่ายอดขายของสติกเกอร์ LINE ในปี 2563 จะทำรายได้ไปกว่า 200 ล้านดอลลาร์ โดย 10 อันดับแรกของครีเอเตอร์ที่มียอดขายสูงสุดทำรายได้ไปแล้วกว่า 10 ล้านดอลลาร์ ตลอดการวางจำหน่ายสติกเกอร์ แต่ครีเอเตอร์หลายคนได้เปิดเผยกับ Rest of World เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีว่า ตลาดสติกเกอร์ LINE เริ่มอิ่มตัว ทำให้ครีเอเตอร์รายใหม่เจาะตลาดได้ยาก อีกทั้งยังมีครีเอเตอร์กว่า 4 ล้านราย ที่วางขายสติกเกอร์อยู่ในระบบ
“สติกเกอร์ไลน์ใหม่ ๆ ออกวางจำหน่ายทุกวัน แต่สติกเกอร์ที่ติดอันดับก็มีแต่ตัวละครที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว” ซาซากิ ซากิจิ กล่าวกับ Rest of World
ไม่เพียงแต่ต้องแข่งกับตัวละครจากครีเอเตอร์ด้วยกันเท่านั้น แต่ครีเอเตอร์ยังต้องสู้กับเหล่าบรรดาตัวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมระดับโลก ทั้งจากดิสนีย์ มาร์เวล การ์ตูนญี่ปุ่น รวมไปถึง “UNIVERSTAR BT21” ตัวการ์ตูนที่ออกแบบโดยศิลปินบอยแบนด์ “BTS” ตลอดจนตัวละครจาก “LINE Friends” รวมถึงสติกเกอร์จากเหล่าคนดัง
โคสุเกะ นาชิดะ ครีเอเตอร์ที่มีสติกเกอร์จำหน่ายมากกว่า 500 ชุด แต่กลับทำรายได้ไม่ถึง 900 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น เปิดเผยว่า “ผมอยากให้คนรู้จักสติกเกอร์ของผมมากกว่านี้ แต่มันคงเป็นไปได้ยาก เพราะ Creators Market ไม่อำนวยให้ผู้ซื้อมองเห็นสติกเกอร์ได้หลากหลาย”
นี่จึงเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ครีเอเตอร์ยุคใหม่ไม่สามารถสร้างรายได้จาก LINE Creators Market แต่ทาง LINE เองก็รับรู้ถึงปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหานี้
นาโอโตโม วาตานาเบะ ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสติกเกอร์ของ LINE กล่าวว่า “บริษัทได้เปิดตัวชุดโปรแกรมสนับสนุนครีเอเตอร์ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มจำนวนครีเอเตอร์ระดับบนและระดับกลาง และพยายามขยายเศรษฐกิจของครีเอเตอร์โดยรวม”
ที่มา: Belfastive, Digg, Emojipedia, Mashable, Nikkei, PBS, Rest of World, The Verge, Washington Post
กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี