ย้อนรอย “โฟร์โมสต์” ก่อนจะหยุดขาย “นมพาสเจอไรซ์” เพราะขาดทุน 1.3 พันล้าน
รู้จัก "โฟร์โมสต์" แบรนด์นมพร้อมดื่มที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่ปี 2499 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฟรีสแลนด์คัมพิน่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อ “โฟร์โมสต์” ออกประกาศผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า ยุติการจัดส่งสินค้านมพาสเจอไรซ์ โดยมีคำชี้แจงว่า “ขอแจ้งว่าเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบตามแนวทางการดำเนินธุรกิจเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยบริษัทจะมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่หลากหลาย สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ยังได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ที่บริษัทกำลังเผชิญ และนำมาสู่การตัดสินใจ “ปิดโรงงานหลักสี่” ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดยปิดฉากลงเมื่อ 30 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา
โฟร์โมสต์ คือแบรนด์นมพร้อมดื่มที่อยู่คู่คนไทยมากกว่า 60 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกผูกพันกับนมยี่ห้อนี้ ทั้งนี้มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับโฟร์โมสต์ที่น่าสนใจ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอพาไปรู้จัก “โฟร์โมสต์” ให้มากขึ้น
- ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ทุ่งหญ้าแห่งนมคุณภาพ
ปัจจุบัน “โฟร์โมสต์” เป็นของ บริษัทฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) มีกลุ่มทุน “เนเธอร์แลนด์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2537 โดยบริษัทแห่งนี้เป็นหนึ่งในสหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเกษตรกรที่ร่วมถือหุ้นกว่า 12,000 ราย ในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม ปัจจุบันมีบริษัทในเครือกว่า 34 ประเทศทั่วโลก
สำหรับ "ฟรีสแลนด์" คือพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งรู้จักกันดีในด้านทุ่งหญ้าเขียวขจี ทะเลสาบสุดสวย ท้องฟ้าสีครามสดใส และฝูงโคพันธุ์ฟรี เซียนที่สมบูรณ์
ส่วน “คัมพิน่า” เป็นชื่ออีกย่านที่อุดม สมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้และทุ่งหญ้าในประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งขึ้นโดยชาวโรมันเมื่อ 20 ศตวรรษมาแล้ว ทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้จึงกลายเป็นฟาร์มอีกแห่งหนึ่งที่สามารถผลิตนมโคอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี ค.ศ.1871 เกษตรกรได้ร่วมมือกันสร้างชุมชนขึ้นโดยมีพันธะสร้างฟาร์มโคนมอย่างยั่งยืนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้น
- ความทรงจำต่อ "โฟร์โมสต์"
ถ้าหากดูแค่ปีที่ "โฟร์โมสต์" จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ก็นับได้แค่ 28 ปีเท่านั้น แต่ทำไมถึงบอกว่าโฟร์โมสต์อยู่คู่คนไทยมากกว่า 60 ปี? คำตอบคือ ก็เพราะว่านมโฟร์โมสต์ในตอนแรกเริ่ม ก่อกำเนิดขึ้นมายาวนานกว่านั้น โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้
- ปี 2499 โฟร์โมสต์ เป็นแบรนด์อิมพอร์ต โดยมีนักธุรกิจชาวไทยและอเมริกัน ภายใต้ชื่อบริษัทโฟร์โมสต์อาหารนม (กรุงเทพฯ) จำกัด เน้นขายผลิตภัณฑ์ไอศกรีมและนมคืนรูป
- ปี 2512 เพิ่มผลิตภัณฑ์นมข้นหวานและนมข้นจืด
- ปี 2521 เริ่มผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศในแถบทวีปเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และลาว
- ปี 2527 เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมยูเอชที
- ปี 2535 โฟร์โมสต์ ขายธุรกิจไอศกรีมให้แก่วอลล์ และเปิดร้านไอศกรีมชื่อ “ศาลาโฟร์โมสต์” ซึ่งเปิดสาขาอยู่กับโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เช่น ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์สยาม
สรุปแล้ว จนถึงปัจจุบันแบรนด์โฟร์โมสต์ มีอายุรวมประมาณ 66 ปี และแบรนด์นี้ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ขายเท่านั้น แต่โฟร์โมสต์เป็นหนึ่งในผู้รับซื้อน้ำนมดิบรายใหญ่จากสหกรณ์โคนมไทยกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี และมีการกระจายความรู้ฟาร์มโคนมจากเนเธอร์แลนด์สู่ฟาร์มคนไทย
- นมพาสเจอไรซ์เลิกผลิตแล้วเหลืออะไร ต่างกันยังไง?
หลังจากที่ โฟร์โมสต์ยุติการจัดส่งสินค้านมพาสเจอไรซ์ แต่ก็ใช่ว่าจะงดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบันมี 5 ไลน์สินค้าหลักๆ คือ นม UHT นมข้นหวาน นมข้นจืด โยเกิร์ตพร้อมดื่ม
นมยูเอชที = นมที่ผ่านการให้ความร้อนสูงมากในระยะเวลาสั้นมาก เก็บรักษาได้นานหลายเดือน
นมพาสเจอไรซ์ = ผ่านการให้ความร้อนเพื่อกำจัดจุลินทรีย์ที่ก่อโรคทั้งหมด และจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียเกือบทั้งหมด เหมือนนมสดมากที่สุด
นมข้นหวาน = นมสดระเหยน้ำ และใส่น้ำตาล
นมข้นจืด = นมสดระเหยน้ำ
โยเกิร์ตพร้อมดื่ม = รู้จักในชื่อนมเปรี้ยว มาจากนมสดที่หมักกับจุลินทรีย์
โดยหนึ่งในวิธีการแบ่งประเภทนมโคพร้อมดื่ม คือ การแยกตามกระบวนการให้ความร้อน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ นมสเตอริไลซ์ (sterilized milk) ที่มีการให้ความร้อนในระดับสูงสุด ตามด้วย นมยูเอชที (UHT milk) และนมพาสเจอไรซ์ (pasteurized milk) ซึ่งการให้ความร้อนถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเก็บรักษานม เนื่องจากเป็นการทำลายจุลินทรีย์ทั้งที่ก่อให้เกิดโรค และจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย เพื่อให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพราะนมเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
นมสเตอริไลซ์ มักอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระป๋องโลหะ และมีอายุการเก็บได้นานถึง 12 เดือน อย่างไรก็ดีถึงแม้จะมีอายุการเก็บนานที่สุด แต่ด้วยผลิตภัณฑ์ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิที่สูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการเปลี่ยน แปลงในรสชาติ สี และสูญเสียวิตามินบางชนิด
นมยูเอชที มีการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงแต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า ดังนั้นการสูญเสียวิตามินจะมีเพียงเล็กน้อยอย่างไม่มีนัยสำคัญมีอายุการเก็บประมาณ 6-8 เดือน
นมพาสเจอไรซ์ มีการให้ความร้อนที่ระดับต่ำและมีอายุการเก็บต่ำที่สุดประมาณ 10 วัน โดยต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ข้อดีของการให้ความร้อนในระดับนี้คือรสชาติและสีของนมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้ทั้งนั้นการสูญเสียวิตามินจะมีเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับนมยูเอชที
- โฟร์โมสต์กับวิกฤติที่เผชิญอยู่
บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เฟรช (ประเทศไทย) จำกัด ตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจนมพาสเจอไรส์ในประเทศไทย และ ปิดโรงงานผลิตที่หลักสี่ โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
โดยมีเหตุผลเพื่อเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ บริษัทฯ จะให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ แก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานดังกล่าว
เมื่อย้อนดูบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตนมยี่ห้อ “โฟร์โมสต์” นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 ขาดทุนกว่า 1.3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรราว 289 ล้านบาท ถือว่าผ่านไปแค่ปีเดียว ขาดทุนหนักถึง 180% และนับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 8 ปี ซึ่งการขาดทุนของบริษัทอาจจะเป็นสาเหตุของการปรับตัวในที่สุดเพื่อให้โฟร์โมสต์ได้ไปต่อ
---------------------------------------
อ้างอิง : foremostthailand