“หนังสือ” เปลี่ยนชีวิต เล่มนี้คุณอ่านหรือยัง
เรื่องเล่าในวงสนทนาของนักอ่านและคนรักหนังสือ เกี่ยวกับ "หนังสือ" ที่น่าสนใจ เล่มที่ชื่นชอบ และหนังสือมีส่วนเปลี่ยนชีวิต
สำหรับบางคน หนังสือเป็นยิ่งกว่าเพื่อนสนิท บางเล่มให้มุมมองความคิดทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปได้อย่างน่าทึ่ง
ในงานนิทรรศการ Cultural District 2022 : Arts in the Hotel วันที่ 13-15 กรกฎาคม 2565 ในโรงแรม 15 แห่ง รอบเกาะรัตนโกสินทร์
หนึ่งในนั้น คือ กิจกรรม Talk : Books That Change Your Life แบ่งปันความสุขจากการอ่าน ส่งต่อแรงบันดาลใจจากหนังสือที่อ่านแล้วเปลี่ยนชีวิต
โดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (RPST) ร่วมกับ happening ณ Bangkok Bed and Bike เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
วิภว์ บูรพาเดชะ และ วรรณวนัช บูรพาเดชะ กับหนังสือที่ชื่นชอบ Cr.Kanok Shokjaratkul
- หนังสือเล่มแรกที่อ่าน "ซอยเดียวกัน"
วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหาร Happening เป็นอีกคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก ในวัยเด็กก็อ่านวรรณกรรมเยาวชน พอโตขึ้นการอ่านก็เปลี่ยนไป
“เล่มแรกที่อยากแนะนำให้อ่านคือ รวมเรื่องสั้น “ซอยเดียวกัน” ของ “วาณิช จรุงกิจอนันต์” ได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2527 เป็นเล่มที่ทำให้เราสนใจเรื่องสั้น ใช้สอนวรรณกรรมได้ มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องสังคม รักโรแมนติก หวานซึ้ง เรื่องผี เป็นหนังสือที่ครบเครื่องครบรส มีทั้งความเป็นอนุรักษ์นิยมและความสมัยใหม่
พอเป็นวัยรุ่นก็อ่าน “อาเพศกำสรวล” ของ “วินทร์ เลียววาริณ” ทำให้รู้สึกว่าเรื่องสั้นมีแบบนี้ด้วยหรือ ใช้กราฟฟิกเข้ามาช่วย มีการขีดฆ่า แบ่งเป็นสองข้าง ขณะที่ Message มันยังมีอยู่
เล่มต่อมาที่เปลี่ยนโลกคือ “พุทธธรรมกับสังคม” โดย “ประเวศ วะสี” ภาพประกอบโดย “ชัย ราชวัตร” มีภาพเยอะ เนื้อหาน้อย อธิบายธรรมะเข้าใจง่าย เรื่องบุญ เรื่องบาป พออายุมากขึ้น ก็อ่านหนังสือกว้างขึ้น วิชาการ ปรัชญา สังคม ประวัติศาสตร์
เล่มที่อ่านแล้วสนุกคือ “ลม ฟ้า อากาศ พลิกประวัติศาสตร์โลก” โดย “ลอรา ลี” ทำให้เราคิดว่าในสงครามวอเตอร์ลู ถ้าไม่มีฝนตกพวกเขาอาจชนะก็ได้ เล่มนี้สอนเรื่องการเมือง แต่เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ คนเขียนเก่งมาก สนุกดี
อีกเล่มที่ชอบคือ "เถ้าถ่านวารวัน" The Remains of the Day (1989) โดย “คาสึโอะ อิชิงุโระ” Kazuo Ishiguro นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2017 เขาเขียนบทความดีๆ ไว้มากมาย พอเขียนวรรณกรรมเรื่องแรกก็ได้รางวัลเลย
เล่าถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนผ่านรุนแรง ก่อนสงครามจักรพรรดิ์คือทุกสิ่งทุกอย่าง มีความเป็นชาตินิยม แล้วอเมริกาก็เข้ามาเปลี่ยนประเทศ ทำให้คนอ่านรู้สึกทั้งสุขและเศร้า
เมื่อ 6-7 ปีก่อน หนังสือ “เซเปียนส์” Sapiens A Brief History of Humankind โดย “Yuval Noah Harari” ดังมากๆ เล่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติในแง่มุมต่างๆ มนุษย์มีหลายพันธุ์ ที่อยู่ได้เพราะมีจินตนาการเล่าเรื่อง สร้างเรื่องขึ้นมา ทำให้คนเป็นกลุ่มก้อน ทำให้โฮโมเซเปียนมีชีวิตยืนยาว
มีอีกเล่มหนึ่งไปไกลกว่านั้น “ที่ผ่านมามนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ” Humankind : A HOPEFUL HISTORY เขียนโดย “Rutger Bregman” นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ที่เชื่อว่ามนุษย์มีพื้นฐานเป็นคนดี จิตใจดี
ทั้งผลการวิจัย การสัมภาษณ์ การอ้างอิง หักล้างงานวิจัยทางจิตวิทยาที่ว่า มีเด็กกลุ่มหนึ่งไปติดเกาะแล้วแบ่งฝ่ายทำร้ายกัน มีเด็กตาย แล้วมีเรือมารับ
แต่ในความเป็นจริงเคยมีเด็กติดเกาะจริง แต่ไม่มีการทำร้ายกัน มีแบ่งเวรกัน ถ้าทะเลาะกันให้เดินไปอีกฟากของเกาะแล้วค่อยกลับมาคุยกัน
ใน สงคราม คนส่วนใหญ่ที่ตายเพราะระเบิด ตายด้วยปืนน้อยมาก ทหารถือปืน แล้วยิงคนตรงหน้าไม่กี่คน ส่วนทหารที่สู้จนตัวตายก็สู้เพื่อคนในกลุ่ม
จริงๆ แล้วมนุษย์มีความเป็นมิตรโอบอ้อมอารี แต่เรื่องเล่า ความเชื่อ รัฐบาล สื่อ ชอบเล่าเรื่องด้านลบ ทำให้คนเชื่อว่าสังคมมันแย่ หนังสือเล่มนี้ทำให้เรามีความคิดเปลี่ยนไป"
จุฬวิศว์ ศานติพงศ์ กับหนังสือที่เปลี่ยนชีวิต Cr.Kanok Shokjaratkul
- นวนิยายไซไฟ “สถาบันสถาปนา” เปลี่ยนชีวิต
ต้น-จุฬวิศว์ ศานติพงศ์ อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย เล่าว่า ชีวิตเปลี่ยนไป เพราะหนังสือนวนิยายไซไฟ “สถาบันสถาปนา” Foundation โดย “Isaac Asimov” มีอิทธิพลต่อชีวิตมาก
“คุณพ่อจบวิศวะจุฬาฯ ผมต้องแบกความหวังของพ่อไว้ ตอนป.5 ผมไปเจอหนังสือเล่มนี้ อ่านครั้งแรก มันดึงดูดผมเข้าไปในโลกนั้นเลย แล้วช่วงนั้นมีหนัง สตาร์วอร์ สตาร์แทร็ค ทำให้ผมสนใจมากขึ้น Isaac Asimov เขียน 6-7 เล่มแล้วเสียชีวิต จากนั้นมีคนเขียนต่อ เล่มที่สนุกที่สุดคือสามเล่มแรก
คณิตศาสตร์เป็นกฎของจักรวาล ฟิสิกส์บนโลกเป็นแบบหนึ่ง พอไปอยู่บนดาวอังคาร ฟิสิกส์จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่ตัวเลขคำนวณไปได้ทั่วจักรวาล
มีนักคณิตศาสตร์คนหนึ่งใช้ทฤษฎีของเขาทำนายอนาคตของคนหมู่มากไว้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับประชากรพันล้านหมื่นล้าน จักรวาลปกครองด้วยจักรพรรดิ์แต่จะล่มสลาย แล้วเป็นยุคมืดอยู่หมื่นปี ถ้าเชื่อเขาย้ายวิทยาการทั้งหมดไปดาวอีกดวง ยุคมืดจะลดลงเหลือพันปี
หนังสือชุดนี้มีหลายเวอร์ชั่นมาก แต่ที่เปลี่ยนชีวิตผมเป็นเวอร์ชั่นแรก ผมสนใจภาพปกโดยศิลปิน “Roger Dean” (ปี 2013 เขาฟ้องผู้กำกับเจมส์คาเมรอนว่า เอาภาพของเขามาสร้างเป็นหนัง Avatar) เป็นภาพที่สวยมาก ผมสนใจศิลปะอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ขอพ่อไม่เรียนวิทย์คณิตที่จะเป็นหมอ, สถาปนิก,วิศวะ ไปเรียนนิเทศเลย นี่คือจุดเปลี่ยน
เล่มสองที่อยากแนะนำคือ “ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า ชะตากรรมของสังคมมนุษย์” GUN, GERMS and Steel The Fates of Human Societies โดย “Jared Diamond” อ่านแล้วจะรู้เลยว่าสังคมเรามาถึงตรงนี้ได้ยังไง
เล่มสาม “แน่ใจหรือว่าช่วยโลก” The Coundrum เขียนโดย “David Owen” ปัจจุบันมีกระแสช่วยโลกเกิดขึ้นมากมาย เราก็อยากเป็นคนดี
พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย เพียงแต่การจัดการกับพลาสติกไม่ดีพอ หรือการใช้ขวดแก้วแทนพลาสติกก็ไม่ได้ช่วย หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนชีวิตผมในการมองปัญหาต่างๆ ทั้งหมดอยู่ที่พฤติกรรมของคนเรามากกว่า"
ดุสิตา อิ่มอารมณ์ กับหนังสือที่ชื่นชอบ Cr.Kanok Shokjaratkul
- “ติสตู” นักปลูกต้นไม้ ช่วยเปิดมุมมองความคิด
ส้ม-ดุสิตา อิ่มอารมณ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ Happening กล่าวว่า หนังสือทำให้ความคิดของเราได้โลดแล่นออกไป ตอนเรียนชั้นประถม ใต้โต๊ะเรามีหนังสือไว้แอบอ่าน
“ตอนมัธยมได้อ่านวรรณกรรมเรื่อง “ติสตู นักปลูกต้นไม้” ทำให้ค้นพบว่า โลกใบนี้ต้องการใครสักคน หรือหลายๆ คนที่จะโอบกอดความงดงาม
เป็นเรื่องของเด็กชายติสตู ลูกของผู้ชายค้าอาวุธ ไม่สามารถเรียนในระบบได้ เพราะอยู่ไม่นิ่ง เลยมาอยู่ที่บ้าน หาครูมาสอน คนแรกเป็นคนทำสวน ที่ไม่เป็นมิตรเลย ไม่พูดไม่จา ชอบดุคนว่า ห้ามจับนะ หยุดเดี๋ยวนี้ อย่าทำให้ดอกไม้ช้ำ
ติสตู ได้เรียนการเตรียมดิน เอาดินใส่กระถาง แล้วกดลงไป ทำไปเรื่อยๆ จนสุดกำแพง ทันทีที่เขาหันกลับมาปรากฎว่ามีต้นไม้ดอกไม้เติบโตขึ้นเต็มไปหมด ทำให้เขาค้นพบว่าเขามี นิ้วสีเขียว สิ่งพิเศษที่สามารถค้นพบเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ได้
เวลาที่เขากดนิ้วลงไปบนดินหรือบนสิ่งต่างๆ เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะงอกงามขึ้นมา ไม่ว่าที่เรือนจำหรือสลัมที่ผู้คนเคร่งเครียด ติสตูแค่เอานิ้วไปแปะตามที่ต่างๆ
ก็ปรากฎพรรณไม้ดอกไม้ขึ้นมาเต็มสถานที่นั้น ทำให้คนที่อยู่ตรงนั้นมีสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เวลาจะเกิดสงคราม เขาก็เอานิ้วไปแตะอาวุธต่างๆ ที่พ่อผลิต มันเป็นความกล้าหาญของเด็กคนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้บอกว่า...
ไม่ว่าโลกจะเกิดสิ่งดีงามมากแค่ไหน ทุกคนก็ไม่ได้โหยหาความดีงามนั้น แต่ถ้าเราได้ค้นพบสิ่งที่ดีงามแล้วเราควรที่จะโอบกอดมัน ไม่ใช่ปฏิเสธมัน เพราะมนุษย์สร้างความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ทำไมไม่สร้างสิ่งที่สวยงาม
เล่มต่อมาที่อยากแนะนำคือ “เจ้าชายผู้มีความสุข และเรื่องคัดสรรอื่นๆ” รวมเรื่องสั้นของ “Oscar wilde” นักเขียนบทละครจิกกัดคนชั้นสูงได้อย่างมีชั้นเชิง
คำที่พูดออกมาเป็นคำคมได้หมดเลย เขาเกิดที่ดับบลิน ไอร์แลนด์ เป็นคนฉลาด มีไหวพริบ เจ้าสำราญ รักผู้ชายเหมือนกัน สมัยนั้นผิดกฎหมายต้องเข้าคุก
เขาเขียนจดหมายถึงคนรัก กลายเป็นหนังสือชื่อว่า “ที่ใดมีความเศร้า” De Profundis อ่านแล้วรู้ถึงความเจ็บปวดของเขาที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ส่วนรวมเรื่องสั้นอ่านแล้วสนุก ครบรส ขบขัน ดราม่า ลึกซึ้ง"
ส่วนหนังสืออีกเล่มที่ช่วย ส้ม-ดุสิตา มากในขณะที่บ้านเมืองกำลังขัดแย้งอย่างหนัก
“หนังสือ “พวกฉัน พวกมัน พวกเรา” เขียนโดย “Joshua D.Greens” เป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตส้ม มาในจังหวะที่ถูก เราค้นพบเล่มนี้ตอนบ้านเมืองมีความขัดแย้ง
บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นมนุษย์ที่มีความคิดแตกต่างกันแบบง่าย ๆ อธิบายให้เห็นภาพ ถ้าเราได้เจอคนที่คิดไม่เหมือนเรา จากเราที่เป็นคนมีเมตตาเราอาจเป็นคนอีกคนหนึ่งไปได้เลย
เราไม่สามารถเรียกร้องให้จริยธรรมของเรากับของเขาเท่ากันได้ ทำให้เราปล่อยวางอะไร ๆ ได้มากขึ้น ถ้าจริยธรรมเขาเป็นแบบนั้นก็ปล่อยเขาไป
ในเล่มมีการใช้ผลวิจัยเยอะมาก บอกว่าความขัดแย้งของมนุษย์เกิดขึ้นมาได้ยังไง แล้วการที่เรายึดติดกับความคิดใดหนึ่งเพราะเราต้องการเอาตัวรอด มันทำให้เราเข้าใจคนที่คิดเห็นต่างจากเรา
จริง ๆ แล้วเขาก็แค่อยู่ในกฎระเบียบแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างจากเราแล้วจริยธรรมของเราไม่เท่ากัน เรามองความดีแบบหนึ่ง อีกคนมองอีกแบบหนึ่ง เป็นหนังสือที่ทำให้เราสามารถเข้าใจคนอื่นได้"
- "เงียบ"หนังสือสร้างประสบการณ์ใหม่
วรรณวนัช บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหาร ร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ Happening กล่าวว่า หนังสือบางเล่มทำให้มีประสบการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน
“หนังสือเรื่อง “เงียบ” Silence In the Age of Noise เขียนโดย “Erling Kagge” เป็นนักปรัชญา นักผจญภัย นักสำรวจพิชิตสามขั้วโลก ขั้วโลกเหนือ, ขั้วโลกใต้, ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ นักสะสมผลงานศิลปะ นายแบบนาฬิกาโรแลกซ์
พูดถึงความเงียบในมิติต่างๆ มันดูว่างเปล่า ดูเศร้า วิธีการเขียนก็น่าสนใจ ใช้วิธีตั้งโจทย์ แล้วตอบคำถามด้วยบทความสั้นๆ 30 ชิ้น เหมือนคุยกับตัวเองแล้วเล่าให้ฟัง เราอยู่ในยุคที่ขาดความเงียบ
ความเงียบคืออะไร มันอยู่ที่ไหน ทำไมเวลานี้มันถึงสำคัญ การรับฟังสิ่งที่คนเขียนกำลังบอก ก็เป็นความเงียบแบบหนึ่ง ทำให้ประสบการณ์การอ่านหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างพิเศษ ไม่ใช่แง่จิตวิญญาณ แต่เป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
อีกเล่มหนึ่งของเขาคือ “ก้าวเดิน” Walking One Step at a Time อ่านแล้วเข้าใจตัวเองมากขึ้น บางทีมนุษย์ไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ หรืออยู่นิ่งๆ ได้ไม่กี่นาที เราดิ้นรนทำอะไรไปข้างหน้าตลอด ทำให้ตัวเองยุ่งตลอด"