ไหว้พระนอน-ขอพรพระอินทร์แปลง ที่ "วัดเสนาสน์" อยุธยา
ค้นหาความหมายของพระอินทร์แปลง ชมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อครั้ง รัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคา ในภาพจิตรกรรมฝาผนังล้ำค่าที่"วัดเสนาสน์"หรือ"วัดเสนาสนาราม" ตลาดหัวรอ "อยุธยา"
ไปอยุธยาเมืองเก่าคราวใดก็ได้เรียนรู้เรื่องใหม่กลับมาทุกครั้งไป ครั้งนี้ก็เช่นกัน ตั้งใจจะไปไหว้พระนอน ขอพรพระอินทร์แปลง เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต ที่วัดเสนาสน์ หรือ วัดเสนาสนาราม แถวตลาดหัวรอ พอไปถึงวัดเราจึงได้เรียนรู้เรื่องราวที่มีคุณค่ามากกว่านั้น
วัดเสนาสน์ เดิมมีชื่อว่า วัดเสื่อ เป็นวัดที่ตั้งอยู่คู่กับพระราชวังจันทรเกษมมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหลังจากถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรณ์ ขึ้นมาใหม่เป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตนิกาย พร้อมพระราชทานนามว่า ‘วัดเสนาสน์’ เพื่อให้มีความหมายตามชื่อเดิม
ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถนั้น วาดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 มีเนื้อหาว่าด้วยประเพณีสิบสองเดือน แสดงภาพบุคคลแต่งกายแบบชาวตะวันตกปรากฏอยู่ พร้อมทั้งการวางองค์ประกอบแบบทัศนียวิทยา (perspective) ชวนให้คิดถึงจิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชประดิษฐ์ เล่าเรื่องเดียวกันนี้ ต่างกันตรงที่ภาพทิวทัศน์บ้านเมืองในจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐ์ เป็นการจำลองภาพชีวิตจริงของผู้คนริมสองฝั่งเจ้าพระยาในขณะนั้นไว้
หากสิ่งที่เหมือนกัน คือ ฝาผนังด้านตรงข้ามพระประธานเขียนรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะชมสุริยุปราคาที่หว้ากอเช่นกัน ต่างตรงที่วัดเสนาสน์นั้นจะเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่กว่า
ภายในวิหารพระนอน
(ซ้าย) หลวงพ่อพุทธอุปถัมภ์ (ปางพยาบาลภิกษุไข้) เชื่อกันว่าถ้าอธิษฐานขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่จน
(ขวา) พระพุทธไสยาสน์ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ รัชกาลที่ 5 โปรดฯให้สร้างวิหารพระนอนขึ้นแล้วย้ายมาไว้ ณ วิหารแห่งนี้ ตามความเชื่อ การมากราบพระนอนเป็นการเสริมชะตาชีวิต เพิ่มสิริมงคลและสมปรารถนา
นอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังมีวิหารพระนอนซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังวาดรูปดอกมณฑารพ บนหน้าต่าง ประตูเขียนรูปม่านแหวก
ส่วนที่วิหารพระอินทร์แปลงนั้น ก็มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวของพระอินทร์ ภาพวาดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
พระอินทร์แปลง พระประธานในวิหารก็มีที่มาน่าสนใจ อินทร์แปลง คืออะไร ทำไมคนมาบนบานขอพรเมื่อสมปรารถนาแล้วต้องนำไข่ต้ม ส้มตำมาถวาย ขออธิบายเรื่องราวไว้ใต้คำบรรยายภาพเพื่อเป็นการเสริมอรรถรส
ส่วนใครที่มีรสนิยมในการชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในช่วงที่ช่างไทยได้รับอิทธิพลการวาดรูปแบบตะวันตก การเดินทางมาชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ และ วิหารพระอินทร์แปลง ที่วัดเสนาสน์ เป็นสิ่งที่ควรค่า หากพลาดไปคงน่าเสียดาย
วัดเสนาสนาราม หรือ วัดเสนาสน์
ที่อยู่ : ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โทร : 035 251 518
................
ผนังด้านตรงข้ามพระประธานในพระอุโบสถ โดยทั่วไปมักเขียนรูปมารผจญ แต่ที่วัดเสนาสน์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนภาพเหตุการณ์ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคา โดยเปลี่ยนฉากสถานที่เป็นพระบรมมหาราชวัง แทนสถานที่จริงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วิหารพระอินทร์แปลง ประดิษฐานพระอินทร์แปลงที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์
พระอินทร์แปลง หรือ พระอินทร์แปง มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อคราวที่สร้างพระพุทธรูปนั้น ชาวบ้านช่วยกันสร้างเท่าไหร่ไม่เสร็จเสียที พระอินทร์จึงแปลงร่างมาเป็นชีปะขาวมาช่วยหล่อพระจนสำเร็จ จากนั้นก็หายตัวไปทันใด
เชื่อกันว่าหากใครมาขอพรบนบานพระอินทร์แปลงองค์นี้เมื่อได้สมใจ ให้นำไข่ต้ม ส้มตำปลาร้า (ส่วนจะมีข้าวเหนียวไก่ย่างมาด้วยนั้นก็ไม่ผิด) มาแก้บน เนื่องจากพระท่านเสด็จมาจากเวียงจันทน์
พระสัมพุทธมุนี พระประธานในพระอุโบสถ ด้านหลังมีภาพจิตรกรรมเทพชุมนุมลอยอยู่เต็มท้องฟ้า ลวดลายประดับบนเสามีความงดงามมาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล้องเหนือเกยหน้าพลับพลา มีทหารเกียรติยศด้านหน้าพลับพลาเป็นหมู่ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ประทับอยู่ที่ฐานเกยตอนล่าง /อ้างอิง : http://watsenasanaram.blogspot.com
มุมผนังด้านข้างประตูทางเข้าพระอุโบสถวาดภาพอสุภกรรมฐาน พระสงฆ์ปลงซากศพ ด้านบนเป็นเทพชุมนุม
จิตรกรรมในพระอุโบสถ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระราชพิธีเดือน 4 หรือเดือนมีนาคม จัดติดต่อไปถึงเดือน 5 เป็นพิธีตรุษสุดปี
กำหนดให้พระสงฆ์สรงน้ำ มีตุ่มเรียกว่า นางเลิ้ง ตั้งไว้หลายใบ เป็นพิธีสวัสดิมงคลแก่พระนครและพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนราษฎร พระสงฆ์สวดภาณยักษ์ประกาศขับผีสาง ยิงปืนขู่ตวาดให้ผีตกใจ ในภาพมีขบวนทหารเตรียมยิงสลุต ตั้งพิธีนอกพระบรมมหาราชวัง
ห้องด้านหลังพระอินทร์แปลง พระประธานในวิหารพระอินทร์แปลง เป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ซึ่งถ้าจะให้ครบควรมีรูปหล่อลิงกับช้างวางข้างๆพระพุทธรูปด้วย แต่เนื่องจากขาดหายไป รัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯให้ช่างเขียนภาพลิงและช้างถูกนายพรานไล่ล่าไปจนหมด (ข้อมูลจากทางวัดกล่าวไว้)
ด้านนอกเขียนรูปตึกฝรั่งมีโคมไฟระย้า และชาวต่างชาติ ในมุมมองแบบทัศนียวิทยา (perspective)
จิตรกรรมบนบานประตูวิหารพระนอน
เป็นภาพม่านแหวกที่นิยมวาดกันในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ฉากหลังเป็นสีดำขับให้ภาพโต๊ะบูชา ซึ่งมีผลไม้จัดวางดูโดดเด่น
ฝาผนังวาดรูปดอกมณฑารพที่มีก้านอยู่ด้านบน เพราะว่าเป็นดอกไม้ที่โปรยลงมาจากสรวงสวรรค์ในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ดอกมณฑารพร่วงหล่นลงมา
พระอินทร์กับนางสุชาดา ภรรยาโฉมงามที่ตอนเป็นมนุษย์หลงติดอยู่ในความสวยงาม มิได้สร้างบุญดังนางสุธรรมา นางสุจิตรา และนางสุนันทา ภรรยาอีก 3 องค์ของพระอินทร์ เมื่อเกิดใหม่จึงกลายเป็นนกกระยาง พระอินทร์จึงออกอุบายให้นางรักษาศีล 5 ให้ครบ เมื่อนางปฏิบัติเคร่งครัด จึงได้ไปบังเกิดเป็นมเหสีของพระอินทร์บนสวรรค์
ข้อมูลย่อมาจาก (วิชาเทศนา, พระพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน ป.ธ. ๕, ค.บ., พธ.ด.กิตติมศักดิ์) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ 15 มีนาคม 2534
ภาพวัดเสนาสน์บนผนังวิหารพระอินทร์แปลง จะเห็นภาพอาณาเขตของวัดที่ประกอบไปด้วยพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า ตรงกลางเป็นเจดีย์ทรงลังกา วิหารพระนอน ด้านหลังเป็นวิหารพระอินทร์แปลง
ภาพวาดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เดินลงจากวิหารพระอินทร์แปลง ภายในวิหารพระอินทร์แปลง