"นักเขียนไทย" ไปไม่ถึง "ตลาดโลก" อะไรคือจุดอ่อน
การเสวนาพูดคุยเจาะลึกถึงการทำงานและสถานการณ์ "วรรณกรรมไทย" ที่นักเขียน-นักแปลไทย มองเห็นปัญหาการไปไม่ถึงตลาดหนังสือโลก
ในงาน Book & Beer 2022 เทศกาลหนังสือและกิจกรรมจาก 50 สำนักพิมพ์ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565
มีการพูดคุยเสวนา Book talk “นักเขียนไทยกับตลาดอินเตอร์ : ใครว่าการแปลไม่สำคัญ” ณ ตึกสิงห์ คอมเพล็กซ์
เมื่อ นวนิยายเล่มแรก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2558 และเล่มสอง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2561 ของ วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์
ทั้งสองเล่มถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน นักแปล และนักวิจารณ์ภาพยนตร์
Cr. Book Festival
- วรรณกรรมไทยมีความเป็นตัวของตัวเอง
ก้อง กล่าวถึงสถานการณ์หนังสือไทยในตลาดโลก ว่า วรรณกรรมไทยมีเอกลักษณ์และสีสันที่น่าสนใจ
“คนแปลต้องพยายามรักษา โทนเรื่อง อารมณ์ของเรื่อง และ เอกลักษณ์ ไว้ให้ครบ ถ้าใช้คำง่าย ก็ใช้คำง่าย ถ้าใช้คำยาก ก็ต้องใช้คำยาก ภาษาไทยไม่มีวรรคตอน แต่ภาษาอังกฤษต้องขึ้นต้องจบ
อย่างเล่มแรก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ใช้ชื่อว่า The Blind Earthworm in the Labyrinth เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต้องใช้คำเจาะจงตัวละครให้ชัด
ส่วนเล่มสอง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” มันยาวมาก ต้องตัดชื่อแค่ครึ่งหลังเป็น MEMORIES of the MEMORIES of the BLACK ROSE CAT เพราะปริศนาของเรื่องและความเป็นไทย ต้องรักษาไว้"
Cr. Book Festival
- อยากให้โลกรู้จัก ต้องมีคนพูดถึง
เมื่อวรรณกรรมไทยถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษออกสู่ตลาดโลกแล้ว วีรพร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการรีวิวแล้ว
“ถ้าหนังสือไม่ถูกรีวิว ไม่ถูกพูดถึงอะไรเลย ก็ถือว่ามันไม่มีอยู่ อย่าง ไส้เดือนตาบอดฯ มีการรีวิวประมาณเกือบสิบ ส่วนเล่มสองเพิ่งรีวิวออกมา 3 ครั้งแล้ว แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว”
ทางด้าน ก้อง มองว่า วรรณกรรมไทยไม่ค่อยมีพื้นที่ในตลาดโลก
“เล่มแรกมีสื่อต่างชาติรีวิวค่อนข้างเยอะ เพราะหนังสือดังมากในเมืองไทย เล่มที่สอง อาจมีการรีวิวช้านิดหนึ่ง เพราะหนังสือยากกว่าแล้วก็หนา
การรีวิว ทำให้หนังสือเป็นที่รู้จักในตลาดโลก เป็นระบบที่สำนักพิมพ์ทำกัน ถ้าเราเล่นเกมใหญ่สู่ตลาดโลก มันก็ยิ่งยาก
ถ้าอยากให้มีรีวิวใน นิวยอร์คไทม์ เราต้องส่งหนังสือให้เขา ต้องมีการผลักดัน และมีทีมประชาสัมพันธ์”
ก้องมองว่า วรรณกรรมไทย ไม่ค่อยมีที่ทางในตลาดหนังสือโลก ต่างจากวรรณกรรมญี่ปุ่น ที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษมานานแล้ว ล่าสุด ผลงานนักเขียน Murakami ก็มีคนพูดถึงเยอะ ไม่ต่างจากเกาหลี
“เกาหลีจะมีหน่วยงานหรือองค์กรผลักดันเรื่องหนังสือ ส่วนประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม เช่น อินเดีย, มาเลย์, สิงคโปร์ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็มีที่ทางในโลก แต่นักเขียนไทยยังไม่มี ก็ยากหน่อยที่เราจะแทรกเข้าไป”
Cr. Book Festival
- วรรณกรรมไทย รัฐไทยไม่ส่งเสริมสู่ตลาดโลก
วีรพร กล่าวว่า เราไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่จัดการด้านนี้
“ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรามีหน่วยงานเยอะ มีสมาคมเกี่ยวกับการเขียนเยอะมาก นักเขียนนักแปลก็หวังพึ่ง เรามีกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ซึ่งไม่ได้มีกันทุกประเทศ แต่พวกเขาก็ไม่ทำอะไร
มีกลุ่มคู่สมรสของทูตต่างๆ เขามี Book Club ก็เลือกหนังสือของเราไปอ่าน แล้วแฮปปี้ที่จะมาเจอนักเขียน เราก็ได้ไปร่วมงานด้วย
ในต่างประเทศ ถ้าเขาสนใจประเทศไหน สิ่งแรกที่เขาทำคือ อ่านวรรณกรรมของประเทศนั้น
วรรณกรรม เป็นสิ่งเดียวที่บอกว่า ชนชาตินี้กินอะไรเป็นอาหาร คิดและทำอย่างไร สองวันก่อนมีท่านทูตยูเอ็น อ่านหนังสือเราแล้วอยากรู้จักนักเขียน จึงเป็นเกียรติอย่างยิ่ง”
ก้อง มองภาพลักษณ์วรรณกรรมไทยในตลาดโลกว่า ค่อนข้างเจือจาง
“ถ้าเราจะอ่านหนังสือของนักเขียนอินเดีย, นักเขียนจีน, นักเขียนญี่ปุ่น, นักเขียนเกาหลี เขามีภาษาอังกฤษให้อ่านเยอะ
แต่พอพูดถึงนักเขียนไทยนึกไม่ออก ที่นึกออกเล่มแรก ๆ ก็ สี่แผ่นดิน กลายเป็นภาพลักษณ์วรรณกรรมไทยในโลก แปลมาหลายสิบปีแล้ว พูดถึงการประกอบสร้างของสังคมไทยในยุคหนึ่ง
ในอินเตอร์เน็ทจะมีการแชร์วรรณกรรมหลายประเทศที่ทุกคนต้องอ่าน ถ้าเป็นอังกฤษ, อินเดีย, ญี่ปุ่น ก็แนะนำให้อ่านเล่มนั้นเล่มนี้ แต่ถ้าเป็นประเทศไทยคือ สี่แผ่นดิน จากนั้นก็ขาดช่วงไป
ช่วง 20 ปีหลัง วรรณกรรมไทย ถูกแปลออกมาน้อยมาก มีหนังสือของ แดนอรัญ แสงทอง ที่ มาร์แซล บารังส์ แปล นอกนั้นก็มีประปราย
ภาพของวรรณกรรมไทยในตลาดโลก จึงไม่มีแบรนด์นี้ ต้องใช้เวลาสร้างขึ้น ไม่ว่างานแปลของ ปราบดา หยุ่น, อุทิศ เหมะมูล เราต้องรวมกันเป็น PACK แล้วส่งออกไปให้ชัด เพื่อให้คนนึกภาพออก
อย่าง หนังไทย ที่คนในโลกรู้จักก็มี เจ้ย อภิชาติพงษ์, เป็นเอก รัตนเรือง, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เมื่อพูดถึงดนตรีก็มี มิลลิ ก่อนหน้านั้นก็ สล็อตแมชชีน, ทาทา ยัง
ทั้ง ๆ ที่วรรณกรรมควรเป็นเสาหลัก แต่กลับด้อยที่สุด
เราจึงต้องผลักดันเรื่องวรรณกรรมมากกว่า เพราะหนัง, ดนตรี, ละครเวที เนื้อหาและรูปแบบมันไปด้วยกัน
แต่วรรณกรรมฝังรากในวัฒนธรรมตัวเองผ่านภาษา พอถูกแปลก็ต้องการฝังไปสู่อีกภาษาที่มีวัฒนธรรมที่ลึกพอ ๆ กัน”
Cr. Book Festival
- ต้องผนึกกำลังส่งวรรณกรรมไทย ไปสู่ตลาดโลก
ทางด้าน วีรพร มองว่า ถ้าตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะนำวรรณกรรมมาทำหนัง
“มันพลอยทำให้หนังสือขายได้ไปด้วย จีนเคยซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรีส์ มีมูลค่ามหาศาล คุณภาพวรรณกรรมไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าวรรณกรรมเกาหลี ๆ ไม่ได้ดีทุกเล่ม ในโลกนี้มี 8,000 ล้านคน เราจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชอบหนังสือเราอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่งไปต่างประเทศ มีเด็กผู้หญิงจีนสองคนอายุ 22-23 เดินเข้ามาหาบอกว่า อ่านหนังสือเราทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตอนไปฮัมบวร์กก็มีนักศึกษามาถามว่า
ทำไมนิยายของคุณวีรพรถึงเป็น magical realism (สัจนิยมมหัศจรรย์) เป็นเพราะประเทศคุณวีรพรมีการเมืองแบบเมจิกคอลเรียลลิสซึ่มหรือไม่
โลกเขาอยู่กันอย่างนี้ ในหลาย ๆ ที่เขาอ่านภาษาไทยแล้วก็อ่านภาษาอังกฤษ โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก”
ก้อง ฤทธิ์ดี บอกว่า วรรณกรรมไทย คงต้องรีบสร้างที่ทางของเราในตลาดโลกตั้งแต่บัดนี้
“เราขาดช่วงไปนาน จากยุค สี่แผ่นดิน มาถึงตอนนี้ 40 ปีที่หายไป เราจะไปหวังพึ่งนักแปลที่อินงานเราอย่าง มาร์แซล บารังส์ ที่แปลเองไปขายสิทธิ์เองที่เมืองนอก แดนอรัญถึงมีชื่อเสียงที่ยุโรป อย่างนั้นไม่ได้
มันต้องมีระบบส่งเสริม อย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน นักแปลไม่ต้องทำอะไร นั่งแปลไป ขายได้ขายไม่ได้ เข้าไปสู่ระบบ
อย่าง ฮันคัง นักเขียนเกาหลีใต้ที่ได้รางวัล Men Booker International Prize เพราะเขามีระบบในการผลักดันเรื่องนี้”
อย่างไรก็ตาม ก้อง บอกว่า ตลาดหนังสือในโลกนี้ ถูกควบคุมโดยอเมริกาเป็นหลัก รสนิยมของคนพวกนี้ไม่ต่างจากฮอลลีวูด
“วรรณกรรมไทยควรแปลเป็นภาษาอื่นเยอะ ๆ และควรไปไกลกว่านี้ ระบบทุนสามารถทำได้ รัฐควรให้เงินนักเขียน นักแปล เหมือนศิลปะแขนงอื่น ๆ เอาเงินไปพัฒนาบท พัฒนาหนัง แล้วต้องแฟร์ ไม่ใช่รับใช้อุดมการณ์บางอย่างเท่านั้น”