"วันแม่แห่งชาติ" 12 สิงหาคม 2565 รวมสถานที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ "พระพันปีหลวง" เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา

"วันแม่แห่งชาติ" 12 สิงหาคม 2565 รวมสถานที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ "พระพันปีหลวง" เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา

"วันแม่แห่งชาติ" รัฐบาลจัดงานเฉลิมพระเกียรติ "พระพันปีหลวง" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พร้อมเผยภาพ-ความหมายตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลที่กรมศิลปากรออกแบบ เช็กที่นี่รวมสถานที่จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ

12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ" รัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติ "พระพันปีหลวง" สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 รวมมาให้แล้วพื้นที่ไหนบ้างจัดโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่นได้เลย!
 

 

 

โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ "พระพันปีหลวง" สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว สรุปการจัดงาน ดังนี้
 

1. กำหนดชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า "การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565" และชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า "Celebrations on the Auspicious Occasion of Her Majesty Queen Sirikit The Queen Mother’s 90th Birthday Anniversary 12th August 2022" โดยกำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
 

2. มีตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งกรมศิลปากรดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์ พร้อมความหมาย โดยผู้ประสงค์ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ฯ จะต้องเป็นนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือ บริษัท ห้าง ร้าน ซึ่งการนำตราสัญลักษณ์ฯ เพื่อประดับหรือประดิษฐานบนสิ่งของใด ๆ จะพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องรูปแบบ วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ และจะต้องมีแผนดำเนินงานในระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

 

โดยสามารถยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 และส่งคำขออนุญาตไปยังคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2283 4789 - 91 หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.opm.go.th

 

 

3. การจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ การเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ ในระยะเวลาขอบเขตการจัดงาน ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานเสนอโครงการและกิจกรรมเข้าร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วกว่า 1,000 โครงการ/กิจกรรม โดยมีโครงการและกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
     

(3.1) รัฐบาลจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ "ด้วยรักแห่งแผ่นดิน : With Love  for the Nation" กำหนดระหว่างวันที่ 1 - 15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่

 

โซนที่ 1 จัดกิจกรรม ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดยการจัดนิทรรศการในรูปแบบ Live Exhibition ซึ่งมีแนวความคิดการจัดนิทรรศการเชื่อมโยงกับโครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

โซนที่ 2 จัดกิจกรรมการสาธิตและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และผลผลิตจากการน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และการจำหน่ายสินค้า รวมถึงสาธิตการทำขนม หรืองานประดิษฐ์ต่าง ๆ ณ ซอยดำเนินกลางใต้ (ฝั่งวัดราชนัดดาราม)

 

โซนที่ 3 จัดกิจกรรม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยการนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทยที่น้อมนำพระราชดำริเพื่อมาปรับใช้ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคต่าง ๆ

 

โซนที่ 4 จัดกิจกรรม ณ บริเวณป้อมมหากาฬ โดยจัดการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน (Free Space) ได้แสดงความสามารถและผลงานที่มีความสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในด้านต่าง ๆ

 

โซนที่ 5 จัดกิจกรรม ณ บริเวณป้อมมหากาฬและตลอดแนวคลองโอ่งอ่าง โดยจัดการออกร้านเลิศลิ้มชิมรส ซึ่งเป็นการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากร้านที่มีชื่อเสียงจากทุกเขตของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะสถานที่สำคัญ และร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ภายในวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม
        

(3.2) โครงการมหกรรมผ้าไหมไทย ไหมไทยสู่เส้นทางโลก เฉลิมพระเกียรติฯ กำหนดในวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีการจัดนิทรรศการผ้าไหมไทย การแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมไทย ซึ่งผู้เดินแบบเป็นผู้แทนจากรัฐบาลไทย คณะทูตานุทูตและคณะกงสุลจากประเทศต่าง ๆ รวม 100 ประเทศ
    

(3.3) โครงการหนังสือสมาร์ท - สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหมและผู้ประกอบการทั่วประเทศแบบดิจิตอลเฉลิมพระเกียรติฯ โดยนำรายชื่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าไหมเข้าสู่ระบบดิจิตอล เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลในรูปแบบ Social Media สื่อสิ่งพิมพ์ และ E-Book ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดทำสมุดรายนามฉบับพิเศษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย และเป็นของที่ระลึกแด่ผู้นำพร้อมคู่สมรส และผู้แทนจากต่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (APEC) ปี 2565
 

4. การจัดทำสารสารคดีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติฯ ในนามคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อเผยแพร่ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2565
 

5. การจัดพิธีทางศาสนา
     

(5.1) โครงการบรรพชาอุปสมบท 910 รูป เฉลิมพระเกียรติฯ กำหนดดำเนินการโครงการฯ ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ส่วนกลางกำหนดจัดพิธี ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร จำนวน 91 คน และส่วนภูมิภาคกำหนดจัดพิธี ณ วัดในจังหวัดต่าง ๆ ที่กำหนด จำนวน 819 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565
 

(5.2) พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 91 รูป จากโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ ถวายพระราชกุศล ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง เวลา 07.30 น. ส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
    

(5.3) พิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศล ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เวลา 09.09 น. ส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง พระสงฆ์ จำนวน 91 รูป ซึ่งเป็นพระสงฆ์จากโครงการพรรพชาอุปสมบทฯ และส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม
 

6. พิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. และเวลา 19.19 น. ตามลำดับ ส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง ส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
 

7. กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล เพื่อถวายพระราชกุศลในระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสามารถจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาได้ตามความเหมาะสม
 

ด้าน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดปี 2565 โดยร่วมจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายพระราชกุศลให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ ในโอกาสดังกล่าว

 

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมขอให้ดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตกแต่งสถานที่ประดับพระฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติคู่กับธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พร้อมประดับผ้าระบายสีฟ้าร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน จัดทำคำถวายพระพรชัยมงคลเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของหน่วยงาน และจัดการลงนามถวายพระพรชัยมงคลภายในหน่วยงานหรือทางเว็บไซต์ โดยดำเนินการตลอดเดือนสิงหาคม 2565

 

ความหมายตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

 

อักษรพระนามาภิไธย ส.ก. อยู่ภายในกรอบรูปหัวใจพื้นสีฟ้า อักษร "ส" สีฟ้า เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ อักษร "ก" สีขาวเป็นสีเดชของวันพระราชสมภพ พื้นกรอบสีชมพูลายดอกมะลิ สีชมพูเป็นสีแห่งศรีของวันพระราชสมภพ

 

ดอกมะลิเป็นดอกไม้มงคลสัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติ ด้านบนเป็นพระมหามงกุฎภายในประดิษฐานพระแสงจักรและพระแสงตรี สื่อถึงทรงอยู่ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ขนาบซ้าย ขวา พระมหามงกุฎด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ฉัตรขาว 7 ชั้น เป็นฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี-พันปีหลวง

 

การนำดอกมะลิมาร้อยเรียงเป็นมาลัยลายเกลียวรูปหัวใจรอบอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. สื่อถึงการร้อยเรียงดวงใจอย่างกลมเกลียวถวายพระองค์ผู้ทรงเป็นแม่ของแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจชาวไทยทั้งชาติและผู้ทรงพระคุณ อันประเสริฐยิ่งต่อลูกคือประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าให้พ้นจากความทุกข์ยาก และมีอาชีพเลี้ยงตน รูปลายหงส์ประคองฉัตร ซ้าย ขวา หมายถึงพระสิริโฉมสง่างามสูงค่าดังหงส์

 

ลวดลายไทย หมายถึงพระปรีชาชาญยิ่งด้านศิลปวัฒนธรรม พระราชทานกำเนิดศิลปาชีพ และทรงส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เลขไทย ๙o ภายใต้มาลัยหัวใจ หมายถึงเลขมงคลอันเป็นอภิลักขิตสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาบรรจบครบ 90 พรรษา ผ้าแพรแถบสีฟ้าอักษรบอกชื่องาน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

 

\"วันแม่แห่งชาติ\" 12 สิงหาคม 2565 รวมสถานที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ \"พระพันปีหลวง\" เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา