สืบจากสัก! เมื่อ "รอยสัก" พูดแทน "คนตาย"
เพราะคนตายไม่มีเสียง "รอยสัก" จึงต้องทำหน้าที่พูดแทน กระบวนการสืบหาตัวตนของศพนิรนามจึงเป็นการทวงถามความยุติธรรมที่ต้องอาศัย “ช่างสัก” ร่วมไขคดี
หลายครั้งที่การตายมาพร้อมปริศนา และการไขคดีก็ไม่ได้มียอดนักสืบจิ๋วโคนันมาช่วย บางศพต้องตายฟรี บางศพไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร และญาติของเขาเป็นใคร
รอยสัก กลายเป็นอัตลักษณ์บุคคลที่จะระบุได้ว่าเจ้าของรอยสักเป็นใคร การ สืบจากสัก จึงเริ่มขึ้น และ ช่างสัก ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ตำรวจจะใช้ไขคดี
พนิษฐ์นันท์ นิ่มนวล หรือ ยิ่ง ยังเติร์ก อดีตประธานชมรมช่างสักแห่งประเทศไทย เพิ่งได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพถ่ายรอยสักบนศพถูกส่งมาให้เขาดู พร้อมกับคำถามว่ารู้หรือไม่ว่านี่เป็นรอยสักฝีมือช่างสักคนไหน เพราะสองศพล่าสุดนี้ถูกพบโดยไม่มีเอกสารใดๆ ระบุตัวตน
เพราะลายสักคือลายเซ็น
เหมือนจะเป็นคำถามง่ายๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำ หากเขาเป็นคนสักเองก็อาจจะจำเส้นสายลายสักของตัวเองได้ แต่ “ช่างสัก” มีกี่ร้อยกี่พันคนในประเทศนี้ หมายความว่านี่คือการสืบคดีที่ต้องอาศัยทั้งเครือข่ายช่างทั่วประเทศ และระบบหลังบ้านของ ร้านสัก ที่หลายคนไม่รู้
“เวลาใครสักลายไหน ช่างสักเขาจะถ่ายรูปไว้ตอนผลงานเสร็จแล้ว ตำรวจจึงมาสอบถามว่ามีลูกค้ามาทำที่นี่ไหม โดยตำรวจจะสอบถามร้านสักในพื้นที่ที่เจอศพก่อน ส่วนเคสล่าสุดเหตุเกิดที่โคราช ตำรวจเขาค้นชื่อผมเจอในอินเทอร์เน็ตว่าเป็นอดีตประธานชมรมช่างสักแห่งประเทศไทย ก็เลยติดต่อมาให้ช่วย ประกาศหาช่างสัก เพื่อตามหาญาติของผู้เสียชีวิตต่อไป”
เหตุผลสำคัญที่ตำรวจใช้ “รอยสัก” เป็นลายแทงตามหาที่มาของผู้เสียชีวิต เพราะเมื่อประกาศหา “ช่างสัก” แล้ว ส่วนมากช่างสักจะจำรอยสักของตัวเองได้ อย่างน้อยๆ ก็จดจำได้ว่าเคยสักลายนี้ในตำแหน่งนี้บนร่างกายของลูกค้า เพราะกว่าจะได้รอยสักหนึ่งลายต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง จึงผูกพันกับทุกผลงาน
ยิ่งไปกว่านั้น “ร้านสัก” ที่มีมาตรฐานหรือมีระบบที่ดีจะบันทึกข้อมูลลูกค้าไว้ ทั้งภาพถ่ายรอยสัก ตำแหน่งที่สัก ชื่อ-นามสกุลลูกค้า วันที่สัก ราคาค่าสัก เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ ซึ่งระบบแบบนี้ "ยิ่ง ยังเติร์ก" บอกว่าไม่ใช่ทุกร้านที่ทำ แต่สำหรับเขาเอาระบบเดียวกับต่างประเทศมาใช้ เพราะเป็นหลักฐานการทำงาน รวมถึงนำไปใช้เพื่อเป็นเอกสารประกอบธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วย รวมถึงป้องกันการแอบอ้าง
“มีบางคนลักไก่ สักแล้วเสียโดยที่เราไม่ได้เป็นคนสัก แต่ถ้าเราถ่ายรูปไว้ว่าสักลายนี้ ตรงนี้ คนที่ไปสักมาไม่ดีแล้วจะมาเคลมกับร้านเรา ก็เลยเป็นการป้องกันตัวเราเองด้วย
แต่นอกจากจะเป็นข้อมูลของร้าน ข้อมูลพวกนี้เป็นคีย์เวิร์ดที่ช่วยเขาได้ มันต่อเป็นจิ๊กซอว์ได้ ว่าเขาสักลายนี้ที่นี่ สักวันไหน ก็จะสืบย้อนไปได้ ซึ่งก็ต้องสักกับร้านที่มีมาตรฐาน เพราะอย่างน้อยๆ ก็ต้องคุยกับลูกค้าว่ามาจากไหน เดินทางมาอย่างไร การพูดคุยทั่วไปก็เป็นประโยชน์กับคดีทั้งหมด แต่ถ้ากับช่างที่ไม่ได้ใส่ใจอะไร ก็ต้องคลำหากันต่อไป”
ความยากของการสืบจาก “รอยสัก” อย่างหนึ่งคือรอยสักที่ปรากฏบนร่างกายผู้เสียชีวิตอาจไม่ได้เป็นลวดลายเฉพาะหรือออกแบบมาเป็นพิเศษ ถ้าเป็นรอยสักยอดนิยมที่สักเหมือนๆ กัน หากดูด้วยตาก็อาจแยกไม่ออก ทว่า “ช่างสัก” เจ้าของฝีมือส่วนมากจะจดจำลายมือตัวเองได้ เมื่อตำรวจมาสอบถามช่างสัก หากไม่ได้เป็นคนสักเอง ก็จะอาศัยเครือข่ายช่างสักที่ก็รู้จัก เชื่อมโยงถึงกัน
ปัจจุบันเครือข่ายช่างสักในประเทศไทยมีมากขึ้นตามความนิยม อดีตประธานชมรมช่างสักฯ เล่าว่าถึงจะไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อส่งต่อข้อมูลกัน แชร์รอยสักที่ต้องการตามหาไปอาจเป็นตัวช่างสักเห็นเอง หรือพวกพ้องพอจะคุ้นหูคุ้นตาก็ประสานต่อได้
มิติหลากหลายในลายสัก
จากศิลปะบนเรือนร่างสู่การเป็นอัตลักษณ์บุคคล “รอยสัก” ทำหน้าที่นี้ได้อย่างเหลือเชื่อ สำหรับ “ช่างสัก” ไม่เพียงแต่จดจำลายมือตัวเอง หรือการใช้ข้อมูลที่บันทึกไว้ แต่ธรรมเนียมปฏิบัติของช่างสักไทยยิ่งทำให้การไขคดีตีวงได้แคบลงด้วย เช่น กรณีล่าสุดที่มีชายหญิงต่างชาติถูกฆาตกรรมอำพราง ศพผู้ชายพอจะรู้ว่าเป็นชาวต่างชาติเพราะมีสีผิวแบบชาวแอฟริกัน แต่ผู้หญิงเป็นผิวแบบเอเชีย แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นคนไทยหรือไม่ แม้ว่าท้ายที่สุดตำรวจจะพบว่าซิลิโคนในร่างผู้หญิงคนดังกล่าวมีที่มาจากต่างประเทศจึงสรุปได้ว่าเป็นชาวต่างชาติ แต่ก่อนหน้านั้น “รอยสัก” ได้ส่งเสียงมาแล้วว่าเป็นไปได้ว่า ศพนี้ไม่ใช่คนไทย
“สไตล์การวางงานของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน รูปแบบงานก็ไม่เหมือนกัน อย่างคนไทยส่วนมากไม่นิยมสักที่หน้าตา แต่ก็ต้องดูหลายอย่าง รวมถึงรอยสักบางลายคนไทยก็ไม่น่าใช่ช่างคนไทยหรือลูกค้าเองก็อาจไม่ใช่คนไทย เช่น ลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างเคสล่าสุดมีลายพระพิฆเนศต้องดูว่าเขาสักไว้ที่ไหน ถ้าสักที่ขาหรือแขนล่าง เดาได้ว่าไม่น่าใช่คนไทย เพราะพระพิฆเนศคนไทยส่วนมากนับถือว่าเป็นเทพ จะสักไว้ที่สูง
นั่นเพราะวัฒนธรรมของเรากับต่างชาติต่างกัน เรานับถือเราบูชา แต่ฝรั่งหรือต่างประเทศเขาเฉยๆ ก็มองว่าเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง จะสักไว้ตรงไหนก็ได้บนร่างกาย ฝรั่งบางคนสักหน้าพระพุทธรูปไว้บนข้างขาหรือหลังเท้าก็มี เพราะเขาไม่รู้ บ้านเขาไม่ได้มีความเชื่อแบบเรา หรือแม้แต่คนเอเชียที่เคร่งๆ หรือถ้าเป็นตัวหนังสือภาษาอื่นหรือภาษาไทยสะกดแปลกๆ ก็ง่ายเลยว่าไม่ใช่คนไทย”
นอกจากอาศัยความจำ เครือข่าย ข้อมูล วัฒนธรรม และธรรมเนียมของช่างสัก การสืบจาก “รอยสัก” หาอัตลักษณ์บุคคลในต่างประเทศไปไกลถึงขั้นใช้เครื่องมือเพื่อดูรอยสักที่อาจจะถูกสักทับ ทำให้ยิ่งสืบไปได้ลึกขึ้นอีก แน่นอนว่าในอนาคตการสืบสวนของบ้านเราจะก้าวไประดับนั้นแน่นอน เพราะตราบใดที่ศพส่งเสียงไม่ได้ และความยุติธรรมอาจถูกทำให้หายไป รอยสักจึงยังต้องเป็นปากเป็นเสียงให้คนตายต่อไป