จากปาก "เบลล์ ขอบสนาม" เริ่มยังไง? ถึงเป็น "อินฟลูเอนเซอร์" ที่มีชื่อเสียง
เหล่า "อินฟลูเอนเซอร์" ชื่อดัง รวมถึง "เบลล์ ขอบสนาม" ร่วมงาน "Training The Influencer Challenge Contest" วันแรก ณ ห้อง Town Hall L ชั้น 7 อาคาร Pegasus True Digital Park ที่จัดขึ้นโดยทาง Nation, Spring และ คมชัดลึก เมื่อวันเสาร์ (20 ส.ค.) พร้อมแชร์ประสบการณ์จุดเริ่มต้นการเป็นอินฟลู
สำหรับงาน "Training The Influencer Challenge Contest" ในวันแรก ที่จัดขึ้น ด้าน "ช้าง สมชาย" หรือ "สมชาย มีเสน" รองประธานกรรมการบริหาร เนชั่น กรุ๊ป ได้เปิดใจพูดถึงโครงการ "อินฟลูเอนเซอร์" ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ว่า "คิดโครงการนี้เพราะว่า อินฟลูเอนเซอร์ คืออาชีพ หลายคนมีรายได้หลักล้าน มีรายได้มากขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้ ต้องทำให้ปัง และคิดติดตาม และการมีกติกา ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ แม้ว่า อินฟลูเอนเซอร์ บอกเป็นคนนอกกติกา เพราะถ้าไม่ตามกติกา รายได้ก็จะตกหล่น หรือ บางอย่างที่ผิดกติกาสังคม เพราะก็มีตัวอย่างให้เห็นหลายคนถูกสังคมบอยคอต ครั้งนี้ก็เลยอยากจะให้ความรู้ และทำให้ถูกต้องกับแพลตฟอร์ม ส่วนเงินรางวัล ไม่สำคัญเท่ากับการเปิดโอกาส ในนามเนชั่น อยากหาคนที่มาร่วมงานผ่านโครงการนี้ หวังว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ อย่างเป็นทางการ"
ด้าน "เบลล์ ขอบสนาม" ในฐานะที่เป็น "อินฟลูเอนเซอร์" ชื่อดังได้เปิดใจ พูดคุยพร้อมแนะนำในการเป็น "อินฟลูเอนเซอร์" จุดเริ่มต้น เริ่มยังไง? และในวันนี้เราต้องแคร์อุปกรณ์ หรือ คอนเทนต์กันแน่?
"เบลล์ ขอบสนาม" บอกว่า "สำหรับใครที่เริ่มอยากจะเป็น influencer เรื่องอุปกรณ์เป็นเรื่องรอง ถ้าเราอยากจะเริ่ม อยากจะให้คิดถึงคอนเทนต์หลักของเราที่จะทำก่อน
วันที่ผมเริ่มต้น 2558 เริ่มในห้อง มือถือ คอมพิวเตอร์ ธรรมดา ไม่มีลูกน้อง ทีมงาน อุปกรณ์ เป็นแสนเป็นล้าน ตอนนั้นมีแค่ความอยากทำ มันอยู่ที่แนวคิด ว่าตัวเราอยากทำอะไร งานที่ดี คืองานที่เราไม่ต้องรู้สึกว่าอยากให้ถึง เสาร์-อาทิตย์ ผมทำงานผมจำวันไม่ได้เลย เพราะเป็นความสุข เริ่มต้นคือการหาตัวเอง ทุกอย่างเป็นคอนเทนต์หมดแล้ว 7 ปีที่แล้ว ยังไม่มีคอนเทนต์ที่หลากหลายแบบนี้ มีกีฬา ภาพยนตร์ หนัง ออนไลน์ที่ 15 ปีก่อน เริ่มมีการเอาเทปบันทึกรายการให้คนดูย้อนหลัง แต่ผมเริ่มหาจากตลาดที่ยังไม่มีคนทำ ถ้าเราตามเขาแล้ว เราก็ต้องตามตลอด
อย่างคลิปกีฬา เปิดเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ เราควรหาตัวตนให้เจอ เรื่องที่ชอบ อย่างวันนั้นคนทำกีฬาเยอะแล้ว แต่ตนหยิบคำว่าตลกมาใช้ หาข้อมูลอยู่ 3 วัน บ้านเราอะไรประสบความสำเร็จเยอะที่สุด ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้ามีตลกไปใส่คนจะชอบ นั่นคือโจทย์ที่ผมทำ ไม่ได้มองว่าต้องหาโปรดักชั่น เราควรเข้าใจอุปกรณ์ แพลตฟอร์มที่เราทำ เช่น ติ๊กต๊อก เราก็ใช้มือถือดี อึด เร็ว อุปกรณ์แรกของผมคือ ไอโฟน 6 ซึ่งตอนนั้นดีที่สุด เลยเอาไอโฟนอัดเสียง ตัดต่อกับคอมพิวเตอร์ อยากให้เช็ก ไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์แพง ๆ หรือ เรียนรู้การตัดต่อ แพลตฟอร์ม เนื้อหาว่าเหมาะกับแพลตฟอร์มนั้นหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะ แต่ควรเรียนรู้กับอุปกรณ์ ไม่อยากแข่ง ไม่อยากสอบ แค่อยากทำในกรอบของตัวเอง
สมัยนี้ดีไม่ต้องง้อใคร นักร้องสมัยก่อน ต้องง้อค่าย ณ วันนี้แค่มีเสียงที่ดี หากล้อง กีต้าร์ ตัวเดียวจบเลย คือ อยากให้การหาตัวเอง เป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่ถ้าหาเจอก็ง่ายแล้ว เพราะ ณ วันนี้คอนเทนต์ไวมาก เราไม่สามารถค่อยๆ ไปแบบโลกหนังสือพิมพ์ไม่ได้แล้ว เห็นปุ๊บ! ต้องคิดเลย เช่น "โชค รถแห่" - "บอล เชิญยิ้ม" ดังนั้น ตอนนี้ เราทำอะไรโดนดึงแน่ เราก็ต้องบิดคอนเทนต์ หาอะไร มาโยงผูก ให้เกี่ยวข้องกัน เราต้องกระแส เกาะกระแสการเรียนรู้คอนเทนต์ หลักวัน หลักชั่วโมง เพราะทุกอย่างไปไวมาก อุปกรณ์แค่มือถือเครื่องเดียวก็เพียงพอแล้ว หลัก ๆ คือ หาตัวตน อุปกรณ์ กับมือถือ 1 เครื่อง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือว่าเราจะทำอะไร"
ขณะเดียวกัน "จ๊ะโอ๋ ณัฏฐ์อาภา" หรือ "ณัฏฐ์อาภา ผ่องทิพาภรณ์" คอนเทนต์ครีเอเตอร์ Spring ก็บอกว่า "ปีที่แล้ว เส้นทางออนไลน์ ก่อนหน้านี้เป็นผู้ประกาศข่าวทีวี และ รู้สึกว่าสมัยนี้ใครได้เล่นโซเชียลมีเดีย เราควรที่ไปอยู่ในออนไลน์ไหม เลยกระโดดออกมาทำออนไลน์ ถ้ามีใจมุ่งมั่นก็สามารถทำได้
การทำออนไลน์คือการสม่ำเสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะปังคลิปไหน บางทีเรา 10 คลิป พอมันไม่ปัง เราก็รู้สึกท้อ แต่มาปังตอนทำคลิปที่ 11 บางคลิปก็อัดธรรมดา แต่คนดูเป็นล้านคน ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราไปคิดท้อถอยเสียก่อน ก็คงไม่อาจมีวันนี้ อยากให้เป็นตัวของตัวเอง ปัจจุบันต้องการความเรียล สมจริง เนื้อหามีประโยชน์ นำมาใช้งานต่อยอดได้ ต่างจาก สมัยก่อนที่ ต้องการความเพอร์เฟค แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว"
สำหรับ "Training The Influencer Challenge Contest" เป็นโครงการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพของคนที่ฝันอยากจะเป็น "อินฟลูเอนเซอร์" โดยทุกท่านจะผ่านการอบรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ กับ เหล่า "อินฟลูเอนเซอร์" ที่ประสบความสำเร็จ ในช่วงระยะเวลา ตลอด 2 วัน คือ วันที่ 20-21 ส.ค. 2565 ที่ ทรู ดิจิทัล ปาร์ค และผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวด ยังคงสามารถส่งผลงานมาได้ จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2565 นี้ เพื่อให้กรรมการคัดเลือก และมอบโจทย์ในรอบชิงชนะเลิศ ในการ ชิงเงินรางวัล รวมมูลค่า 500,000 บาท