นักจิตวิทยาชี้ “ช้อปปิ้งออนไลน์” บันดาลสุขได้จริง แต่ระวังเสพติด!
งานวิจัยหลายชิ้นระบุ “ช้อปปิ้งออนไลน์” อาจช่วยให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้ชั่วครู่ แต่ขณะเดียวกัน หากเสพติดการซื้อของมากเกินไป อาจเสี่ยงเป็น “โรคคลั่งช้อปปิ้ง”
การซื้อสินค้าในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วผ่านระบบช้อปปิ้งออนไลน์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องฝ่าฟันรถติดเพื่อออกไปซื้อของตามร้านค้าอีกต่อไป แถมในทุก ๆ เดือน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่างแข่งกันจัดโปรโมชัน พร้อมมอบคูปองส่วนลดและค่าจัดส่งฟรี ซึ่งอาจจะถูกกว่าการออกไปซื้อสินค้าเองเสียอีก
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนทั่วโลกต้องกักตัวอยู่ภายในบ้าน ห้างร้านต่าง ๆ ถูกสั่งปิดตามมาตรการของภาครัฐ ยิ่งทำให้ธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์นั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนส่วนใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากรายงานของ Oberlo บริการช้อปปิ้งออนไลน์ พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วโลกกว่า 2.14 พันล้านคน หรือคิดเป็น 27.6% จากประชากรโลกทั้งหมด หมายความว่า 1 ใน 4 คนของคนทั้งโลกซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้น 90 ล้านคน หรือ 4.4% จากปี 2563 ที่มีผู้ใช้งานราว 2.05 พันล้านคน โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 4.938 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าในปีนี้จะมีมูลค่ามากกว่า 5.542 ล้านล้านดอลลาร์
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงเทคโนโลยีของประชากรก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน จากข้อมูลของ DataReportal ที่รวบรวมข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียของคนทั่วโลก พบว่า กว่า 60.1% ของการซื้อสินค้าออนไลน์นั้น สั่งจากสมาร์ทโฟน และคาดว่าในปี 2565 จะมีผู้ใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ราว 3.78 พันล้านคน
งานวิจัยหลายชิ้นยังระบุว่า การช้อปปิ้งออนไลน์สามารถช่วยใช้ในการเยียวยาจิตใจได้อีกด้วย ดังเช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Consumer Psychology เมื่อปี 2557 พบว่า การซื้อสินค้าช่วยให้ผู้ซื้อมีความสุขมากขึ้นในทันที และยังต่อสู้กับความเศร้าที่ทำให้เฉื่อยชาอีกด้วย เนื่องจากการตัดสินใจซื้อนั้นให้ความรู้สึกถึงการควบคุมตนเองและความเป็นอิสระ
ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychology & Marketing เมื่อปี 2554 ระบุว่า การซื้อของส่งผลกระทบเชิงบวกทางอารมณ์แก่ผู้ซื้อเป็นเวลานาน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเสียใจหรือรู้สึกผิดเกี่ยวกับการซื้อของแบบไม่ยั้งคิดแต่อย่างใด
จอร์จ บาร์ราซา ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการหลักสูตร ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาจิตวิทยาประยุกต์ แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อคนเราใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย จะส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์
“อารมณ์ด้านบวกอาจจะเพิ่มขึ้นเพียงชั่วครู่ หลังจากการที่คุณซื้อสินค้าบางอย่างที่ไม่จำเป็น แต่อย่างน้อยในขณะนั้นฟื้นฟูความรู้สึกแย่และลดความเศร้าที่เหลืออยู่ที่กำลังเผชิญอยู่ แม้ว่าภายหลังอาจจะกลับไปรู้สึกผิดจากการซื้อสินค้านั้นก็ตาม”
ทำไมการช้อปออนไลน์ถึงส่งผลให้เรามีความสุข
โจชัว คลาพาว นักจิตวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา ในเมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การช้อปออนไลน์เป็นหลักการทางจิตวิทยาที่ทรงพลังมาก เพราะมีแรงเสียดทานน้อยกว่า มีอุปสรรคน้อยกว่า ใช้พฤติกรรมต้นทุนน้อยกว่า มีสินค้าที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคลมากกว่า มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับการไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าด้วยตนเอง”
สิ่งที่ช้อปปิ้งออนไลน์เหนือกว่าการซื้อสินค้าที่ร้านค้าเป็นอย่างมาก คือ ความสะดวกสบายของผู้บริโภค เมื่อต้องการไปซื้อสินค้าสักอย่าง ปกติก็ต้องเดินทางไปยังร้านค้า จากนั้นยังต้องตามหาสินค้านั้น ๆ บนชั้นวางสินค้าอีก และแม้ว่าร้านค้าเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคด้วยการชำระเงินแบบไร้สัมผัส ซึ่งช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องทำธุรกรรมผ่านระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบนแอปพลิเคชัน หรือชำระผ่านบัตรเครดิตก็ตาม หลังจากนั้นจึงกลับบ้าน
“แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะดูเป็นความลำบากเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการไปซื้อสินค้าที่ร้านค้า แต่เริ่มทำให้มุมมองของผู้บริโภคหลายคนที่มีต่อการซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงไปแล้ว” คลาพาวเสริม
นอกจากช้อปปิ้งออนไลน์จะสะดวกสบายกว่าแล้ว ยังมอบความพึงพอใจในการเลือกสินค้าอีกด้วย เพราะไม่มีพนักงานมาคอยเดินตามกวนใจ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลว่าสินค้าจะหมด เนื่องจากมีหลายร้านค้าให้เลือกซื้อ ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกก็ตาม
ในทางจิตวิทยาแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นการไขว่คว้าหาความพึงพอใจในทันที (Immediate Gratification) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ “นี่เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในสังคมสัตว์โลก สัตว์ทุกชนิด รวมถึงมนุษย์ มักจะไม่มองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน นั่นหมายความว่าเราต้องการให้ปัจจุบันดีที่สุด มีความสุขมากที่สุด และเลี่ยงความยากลำบากให้เกิดขึ้นช้าที่สุด” โจเซฟ เคเบิล นักวิจัยด้านประสาทวิทยาด้านความรู้ความเข้าใจ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกล่าว
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง การช้อปออนไลน์ยังทำให้เกิดความอดทนรอคอย (Delayed Gratification) คือความสามารถที่จะอดทนต่อสิ่งล่อใจในปัจจุบันเพื่อรางวัลในอนาคต เปรียบเสมือนทำให้ทุกวันเป็น “วันคริสต์มาส” รอคอยว่าซานตาคลอสในคราบพนักงานส่งพัสดุ จะเอาของขวัญมาส่งเมื่อใด สอดคล้องกับความเห็นของคนทั่วไปจำนวนมากที่รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งกับการรอคอยให้พัสดุมาส่งที่หน้าบ้าน และบรรจงแกะหีบห่ออย่างเบามือเมื่อได้รับพัสดุเหล่านั้น
เมื่อสงสัยว่าตัวเองเสพติดการช้อปปิ้งควรทำอย่างไร
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ การการช้อปปิ้งก็เช่นกัน แม้ว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ในชั่วขณะหนึ่งไปได้ แต่อะไรที่มากเกินไปย่อมส่งผลที่ไม่ดีได้เสมอ
หากคุณเริ่มมีความต้องการซื้อของตลอดเวลา มีความรู้สึกดีที่ได้เลือกสินค้า รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่รู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว เนื่องจากใช้จ่ายเกินกำลัง รวมถึงหลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ หรือซื้อของเดิมซ้ำไปซ้ำมาเต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณว่าคุณอาจป่วยเป็นโรค “คลั่งช้อปปิ้ง” (Oniomania) หรือ CBD (Compulsive Buying Disorder)
บทความชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontier in Psychology ในปี 2560 ระบุว่า ในการประเมินว่าเข้าข่ายมีภาวะโรคคลั่งช้อปปิ้งหรือไม่นั้น มีเกณฑ์ชี้วัด 4 องค์ประกอบด้วยกัน คือ 1. ช้อปปิ้งออนไลน์มีความสำคัญในชีวิตมากเท่าใด 2. อารมณ์เปลี่ยนแปลงหลังจากการซื้อสินค้าหรือไม่ 3. การซื้อสินค้าทำให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวหรือไม่ 4. มีความต้องการซื้อสินค้าหลังจากพยายามหยุดพฤติกรรมหรือไม่ ซึ่งหากสำรวจตนเองแล้วว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้ คลาพาวแนะนำว่า “ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคคลั่งช้อปปิ้งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการรักษาที่ถูกต้อง มีการรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ รู้ถึงเหตุผลของการจับจ่าย นำไปสู่การจัดการภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้น อาการก็จะดีขึ้นตามลำดับ และสามารถหายขาดได้ในที่สุด ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา นอกจากมีโรคอื่นร่วมด้วยจึงจะมีการใช้ยา เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล เป็นต้น
นอกจากนี้ การเสพติดช้อปปิ้งออนไลน์ในช่วงเวลานี้ สามารถสร้างหายนะทางการเงินได้เช่นกัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสหรัฐที่เป็นมีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ หากช้อปปิ้งเพลินจนลืมคิดถึงยอดเงินในบัตรเครดิตอาจทำให้เกิดภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังได้
ดังนั้น ก่อนที่จะกดชำระเงิน ย้อนกลับไปดูสินค้าในตะกร้าสักนิด และคิดให้ถี่ถ้วนว่าสินค้านั้นจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ อย่าซื้อด้วยอารมณ์เพียงชั่วครู่ เพราะสิ่งที่อยากได้ (want) สิ่งที่จำเป็น (need) สิ่งที่ต้องใช้ (must) ให้คุณค่าและมีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน
ที่มา: Drip, Frontiersin, Science Direct, Shopify, Time