ส่องเทรนด์ "ปล่อยชีวิตเน่า" เมื่อคนรุ่นใหม่จีนประท้วงสังคมแข่งขันสูง แต่ไร้อนาคต?!
“ขยันไปก็ไร้อนาคต สู้ปล่อยให้ชีวิตเน่าไปเสียดีกว่า!” รู้จักเทรนด์ใหม่ “ป่ายล่าน” (Bailan) สะท้อนวัยรุ่นจีนยอมแพ้โชคชะตาและระบบสังคมเดิมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความคาดหวังสูง
หากใครยังจำได้ ในปี 2564 มีเทรนด์หนึ่งในจีนซึ่งแพร่หลายมากในกลุ่มมิลเลนเนียล เรียกว่า “Lying flat” หรือ “ถังผิง” ซึ่งเป็นการนอนราบเพื่อประท้วงค่านิยมในสังคมจีนที่มีการแข่งขันสูงเกินไปและปกป้องสิทธิในการพักผ่อนและผ่อนคลายจากการทำงาน
- ในปีก่อน คนรุ่นใหม่จีนฮิตเทรนด์ “Lying flat” หรือ “ถังผิง” ซึ่งเป็นการนอนราบเพื่อประท้วงค่านิยมในสังคมจีน (เครดิตรูป: BBC) -
แต่มาในปีนี้ เกิดเทรนด์ใหม่เรียกว่า “ป่ายล่าน” (Bailan) จากคำภาษาจีนกลางที่แปลว่า “ปล่อยให้เน่าไป” ซึ่งเทรนด์นี้ถูกใช้โดยหนุ่มสาวจีนกลุ่มเจน Z และมิลเลนเนียล เพื่อนิยามชุดความคิดของการหันมาปล่อยชีวิตให้เน่าไปตามมีตามเกิด และหลบหนีจากความคาดหวังเรื่องชีวิตที่พยายามมากแค่ไหนก็ไร้ความหมายและไม่มีทางสำเร็จได้
นอกจากนี้ คำว่า ป่ายล่าน ยังอธิบายถึงการยอมแพ้และปล่อยเลยตามเลยในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง และมีที่มาจากกลยุทธ์ในกีฬาบาสเกตบอล ที่ใช้คำนี้เมื่อทีมที่กำลังจะแพ้หยุดพยายามไล่ทำแต้มคืนเพื่อให้เกมจบเร็วขึ้น
- ในปีนี้ คนหนุ่มสาวจีนแห่โพสต์รูปที่สื่อถึงอิริยาบถพักผ่อน ความเหนื่อยล้า และความเศร้า บนแพลตฟอร์ม Xiaohongshu -
ในแง่ของไลฟ์สไตล์ หนุ่มสาวจีนแห่ใช้คำว่า ป่ายล่าน บนแพลตฟอร์มแชร์รูปภาพ “Xiaohongshu” ซึ่งเปรียบเสมือนอินสตาแกรมจีน พร้อมกับโพสต์รูปที่สื่อถึงอิริยาบถพักผ่อน ความเหนื่อยล้า และความเศร้า และติดแฮชแท็ก #เหนื่อย #ช่างแ** และรณรงค์ “ความเน่าเปื่อยในทุกวัน” และ “เน่าไปด้วยกัน” แฮชแท็กนี้ถูกพูดถึงบนแพลตฟอร์มกว่า 2 ล้านครั้งแล้ว
ปัจจุบัน กลุ่มคนหนุ่มสาวในจีนกำลังเผชิญกับแรงต้านอันหนักอึ้งและบั่นทอนจิตใจหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงอัตราการว่างงานในเยาวชนที่สูงแตะ 18.7% ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ราคาบ้านที่คิดเป็น 14 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ย ปัจจัยแวดล้อมการหาคู่ที่ซับซ้อน และแนวโน้มที่อาจต้องดูแลพ่อแม่วัยชราพร้อมกับเลี้ยงลูกของตนไปด้วย
- จากเทรนด์ นอนราบ วิวัฒนาการสู่ ปล่อยชีวิตเน่าไป
ในขณะที่ผู้ร่วมกระแส “นอนราบ” หรือ Lying flat รณรงค์ให้ตั้งเป้าหมายชีวิตแบบเสมอตัว ไม่ต้องขยันเกินตัวหรือทำงานนอกเหนือหน้าที่ หรือคล้าย ๆ กับเทรนด์ “ลาออกเงียบ” (Quiet Quitting) กลุ่มร่วมกระแส “ปล่อยให้เน่าไป” หรือ ป่ายล่าน ใช้ชีวิตแบบไม่อยากดิ้นรนหรือทำอะไรเลย แม้จะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตนก็ตาม เพราะไม่เห็นประโยชน์จากการทำแบบนั้น
ในปี 2564 หยูโป หลี่ ดีไซเนอร์และศิลปินดิจิทัล ซึ่งร่วมกระแสนอนราบ เปิดเผยว่า เขารู้ว่าการทำงานกับบริษัทเอกชน ย่อมหมายถึงการได้เงินมากขึ้น ได้มีบ้านและอาหารที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกมานั้นไม่คุ้มค่าเลย เช่น การได้นอนหลับเพียง 3 ชั่วโมงต่อวันและแทบไม่มีเวลาว่างให้กับชีวิตส่วนตัว
“ตอนนี้ อาหารมื้อธรรมดาของผมก็อร่อยถูกปาก และเตียงของผมก็นุ่มพอแล้ว ผมจึงไม่เห็นเหตุผลที่ต้องพยายามให้หนักกว่านี้”
ขณะที่เทรนด์ป่ายล่านนั้น ตอบสนองปัญหาขั้นพื้นฐานเดียวกันในหลายด้าน ซึ่งถือเป็นการประท้วงการแข่งขันที่สูงเกินไปและการต้องเห็นเพื่อน ๆ ทำงานหนักจนเสียชีวิตในวัฒนธรรมการทำงานแบบ “9-9-6” (การทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มเป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์) ของบริษัทในจีนที่ยิ่งรุนแรงขึ้นจากภาวะตลาดแรงงานหดตัว
- หญิงวัยทำงานชาวจีนนอนราบกับโซฟาพร้อมเล่นมือถือด้วยท่าทางอ่อนล้า (เครดิตรูป: CGTN) -
อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่าง 2 เทรนด์นี้คือ เทรนด์นอนราบมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมในปัจจุบัน ขณะที่เทรนด์ป่ายล่านดูเหมือนจะเป็นความรู้สึกอยากอยู่เฉย ๆ เพราะต่อให้ดิ้นรนไป ก็ยังมองเห็นอนาคตที่มืดมนรออยู่ข้างหน้าและไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่ดี
- เทรนด์ใหม่ส่อซ้ำเติมเศรษฐกิจจีน
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างแสดงความกังวลว่า เทรนด์ป่ายล่าน หรือปล่อยชีวิตให้เน่าไปของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีน อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัวอยู่แล้ว และส่งผลกระทบซ้ำเติมต่ออัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของจีนด้วย
“อาจมีเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ปล่อยชีวิตให้เน่าไปจริง ๆ แต่เมื่อคำที่เป็นกระแสคำหนึ่งถูกขยายความเกินจริงบนสังคมออนไลน์ ย่อมทำให้เกิดบรรยากาศทางสังคมขึ้น และอาจมากพอที่จะสร้างผลกระทบได้” ศาสตราจารย์ ซื่อ เหล่ย จากมหาวิทยาลัยฟูตันในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าว
ขณะที่ศาสตราจารย์ หยู ไห่ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟูตัน อธิบายว่า เทรนด์นอนราบ เป็นการแสดงออกแบบเป็นกลาง ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ไร้พิษภัยในการดิ้นรนเพียงเพื่อสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของตนเท่านั้น ส่วนเทรนด์ปล่อยให้เน่าไป หรือป่ายล่าน เป็นการแสดงออกทางลบ ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่น่าตำหนิในเชิงศีลธรรม แต่จริง ๆ แล้วเป็น “กลไกรับมือ” สำหรับคนรุ่นใหม่ในการปกป้องตัวเอง ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดและแรงกดดันทางสังคมที่เพิ่มขึ้น
“ไม่มีใครชอบถูกคนอื่นเรียกว่าทำตัวเน่า แต่เมื่อพวกเขาจัดวางตัวเองให้อยู่ในจุดที่ต่ำมากและเรียกตัวเองแบบนั้นเสียเอง หมายความว่าพวกเขากำลังปกป้องตัวเองจากคำวิจารณ์ของคนอื่น” หยู ระบุ
อย่างไรก็ดี เทรนด์ป่ายล่านยังคงเป็นเสียงสะท้อนสำหรับคนรุ่นใหม่หลายคนในจีน
หยาน เจี่ย พนักงานบริษัทไอทีแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า ป่ายล่านสามารถใช้สรุปจริยธรรมด้านการทำงานของเขาได้อย่างลงตัว
“เมื่อผมได้รับมอบหมายงานในที่ทำงาน ผมพยายามเลี่ยงที่จะไม่ทำ หากผมถูกบังคับให้ต้องทำงานนั้น ผมก็จะทำแต่ทำแบบไม่สุดความสามารถ”
---------------------------