“ชาเขียว” ไทยคว้ารางวัล Grand Gold ระดับโลก แต่อย่าสับสน ไม่ใช่ “ชามัทฉะ”
“ชาเขียว” จ.เชียงราย คว้ารางวัล Grand Gold จากเวทีประกวดชาเขียวโลก World Green Tea Contest 2022 เมื่อปลายเดือน ต.ค. 65 ท่ามกลางความปลื้มใจของคนวงการผลิตชา แต่คนไทยบางคนอาจยังสับสนระหว่าง “ชาเขียว” กับ “ชามัทฉะ”
สร้างความปลื้มปิติให้แก่คนวงการผลิต “ชาเขียว” ในประเทศไทยไม่น้อย เมื่อ “Tian Hwa Tea Factory” หนึ่งในแบรนด์ชาเขียว/ชาขาว จาก จ.เชียงราย ประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Grand Gold จากเวทีประกวดชาเขียวโลก World Green Tea Contest 2022 มาครองได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล “World O-Cha (Tea) Festival 2022” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-23 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ณ เมืองชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับรางวัลนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 12 รางวัล โดยประเทศไทยสามารถคว้ามาได้ 1 รางวัล (ตัวชาที่ได้รางวัล คือ forest elegance white tea ซึ่งเป็นชาขาวหรือยอดตูมใบชาของต้นชาเขียว) อีกทั้งมีประเทศอื่นๆ ที่ได้รางวัลนี้เช่นกัน ได้แก่ ญี่ปุ่นได้ 1 รางวัล, จีนได้ 3 รางวัล, ไต้หวัน 7 รางวัล
หลังจากการประกาศรางวัลถูกรายงานผ่านสื่อต่างๆ ออกไปไม่นาน ก็มีกลุ่มคนชอบดื่มชาในโลกออนไลน์แห่แชร์ความเห็นและถกเถียงกันในประเด็น “ชาเขียว” กับ “ชามัทฉะ” เพราะบางคนยังสับสนและอาจเข้าใจผิด
จริงๆ แล้ว ชาทั้งสองชนิดนี้ แม้จะมาจากต้นชาเขียวสายพันธุ์เดียวกัน (หรืออาจจะเป็นต้นชาต้นเดียวกันด้วยซ้ำ) แต่มีกรรมวิธีการปลูก การผลิต ลักษณะ สี รสชาติ ปริมาณคาเฟอีน และวิธีการชง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลเชิงเปรียบเทียบมาให้เช็กลิสต์ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. วิธีปลูก/กรรมวิธีการผลิต
ชาเขียว : ต้นชาเขียวที่ปลูกกลางแดดปกติ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวจะเก็บเอายอดอ่อนใบชา 3 ใบบนสุด จากนั้นนำไปคั่วแห้ง หรือ นำนึ่งก่อนแล้วนำไปตากแห้งก็ได้ (ซึ่งวิธีที่ต่างกันก็จะได้ชารสชาติแตกต่างกันไป) แต่สุดท้ายจะผลิตเป็นใบชาแห้งพร้อมจำหน่าย
ชามัทฉะ : ต้องดูแลเอาใจใส่ต้นชาเขียวเป็นอย่างดี โดยจะคลุมต้นชาด้วยตาข่ายเป็นเวลา 30 วัน ไม่ให้โดนแดด ก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งกระตุ้นให้ใบชาสร้างคลอโรฟิลล์มากขึ้น ส่งผลให้ใบชามีสีเขียวเข้ม หลังเก็บเกี่ยวแล้วจะนำใบชาไปคั่วจนแห้ง แล้วบดละเอียดทั้งใบจนเป็นผงเหมือนแป้งโดยไม่แยกกากออก
2. ลักษณะชาแห้งก่อนชง
ชาเขียว : ใบชาแห้ง ความละเอียดของใบแตกต่างกันไป
ชามัทฉะ : เป็นผงชาสีเขียวเข้ม ได้จากใบชาบดละเอียดจนเหมือนแป้ง
3. อุปกรณ์/วิธีชงชา
ชาเขียว : ใบชาแห้ง, กาน้ำร้อน, ที่กรองใบชา, ถ้วยชา
ชามัทฉะ : ผงมัทฉะ, ที่ตักมัทฉะ, แปรงตีชา(Chasen), กาน้ำร้อน, ที่กรองผงมัทฉะ, ถ้วยชา
4. สีน้ำชาหลังชงเสร็จ
ชาเขียว : มีสีเขียว ใส เมื่อชงและวางทิ้งไว้จะไม่ค่อยตกตะกอน
ชามัทฉะ : มีสีเขียวขุ่น เข้มข้น เมื่อชงและวางทิ้งไว้จะตกตะกอนก้นถ้วย
5. รสชาติ/สารสำคัญ
ชาเขียว : หอมกลิ่นใบชาอ่อนๆ สดชื่น ไม่ขม รสเบาๆ ดื่มง่าย คาเฟอีนต่ำ สารแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) ต่ำ เหมาะกับการชงกับน้ำร้อนเพื่อเป็นเครื่องดื่ม ไม่เหมาะกับการนำไปเป็นส่วนผสมของขนม/ไอศกรีม
ชามัทฉะ : นวลเนียน เข้มข้น ขมเล็กน้อย-ไม่ขม หอมโดดเด่น รสอูมามิชัดเจน มีคาเฟอีนสูง สารต้านอนุมูลอิสระสูง สารแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) สูง ซึ่งช่วยลดความเครียด ทำให้ผ่อนคลาย เพิ่มสมาธิ ช่วยลดความดันโลหิต สามารถนำไปชงเป็นเครื่องดื่มชามัทฉะ/ชานมมัทฉะ และใช้เป็นส่วนผสมในขนม/ไอศกรีม
6. ราคาใบชาเขียวแห้ง vs ผงชามัทฉะ
ชาเขียว : ประมาณ 60-200 บาทต่อ 100 กรัม
ชามัทฉะ : ประมาณ 350-650 บาทต่อ 100 กรัม
ทั้งนี้ นอกจากชาเขียวในรูปแบบใบชาแห้ง ที่ผู้บริโภคซื้อหามาชงกับน้ำร้อนด้วยเองเพื่อดื่มเป็นเครื่องดื่มประจำวันได้แล้ว ปัจจุบันยังมีเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปบรรจุขวดที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคอย่างมาก โดยมีมูลค่าการตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2563 2564 และ 2565
โดยมีข้อมูลทางการตลาดจาก AC Nielsen (ณ ส.ค. 65) รายงานว่า ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในปี 2565 มูลค่าค่าตลาดเติบโตที่ 20.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 6,685 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปี 2565 ตลาดชาเขียวอาจมีมูลค่าสูงถึง 13,000 ล้านบาท
--------------------------------------
อ้างอิง : o-cha/association, gjtea.org, brandbuffet, sciplanet.org, food.trueid