"5 ระยะความเสียใจ" วิธีทำใจยอมรับ เมื่อเจอเรื่องเศร้า

"5 ระยะความเสียใจ" วิธีทำใจยอมรับ เมื่อเจอเรื่องเศร้า

ทำความเข้าใจทฤษฎี “5 Stages of Grief” หรือ “5 ระยะของความเสียใจ” กระบวนการรับมือต่อความเสียใจ เมื่อเผชิญหน้ากับความสูญเสียและโศกนาฏกรรม พร้อมคำแนะนำจากนักจิตวิทยา

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการอกหัก การสูญเสียคนที่รักไม่ว่าจะทั้งรูปแบบของการจากเป็น หรือ จากตาย หรือแม้กระทั่งรับข่าวสารที่สะเทือนใจ สร้างความเสียหายและบาดแผลทางใจให้แก่ผู้รับฟัง ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้รับข่าวสารทำนองนี้บ่อย ไล่มาตั้งแต่เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู โศกนาฏกรรมที่อิแทวอนในเกาหลีใต้ สะพานแขวนที่อินเดียขาด หรือ การจลาจลในคอนเสิร์ตที่คองโก 

แน่นอนว่าหลาย ๆ เหตุการณ์เราไม่ได้ประสบพบเจอเอง แต่มนุษย์มีความรู้สึก มีความเห็นอกเห็นใจ ย่อมทำให้เรารู้สึก “เศร้าเสียใจ” เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละคนนั้นสามารถรับมือกับความรู้สึกเสียใจได้แตกต่างกัน

ในทางจิตวิทยามีทฤษฎีที่ใช้อธิบายวิธีและกระบวนการรับมือเมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับความเสียใจในชื่อว่า “5 Stages of Grief” หรือ “5 ระยะของความเสียใจ” ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ “On Death and Dying” เมื่อปี 2512 โดย เอลิซาเบธ คิวเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายสวิสผู้บุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับคนที่กำลังจะตาย

แม้ว่าทฤษฎีนี้จะศึกษามาจากการจัดการความทุกข์ทรมานและความเศร้าโศกเสียใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่หมดทางรักษาและทำได้แต่รอคอยความตายที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แต่ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง จนนำมาปรับใช้กับรูปแบบความเสียใจในเรื่องอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ความเสียใจจากปัญหาความรัก ปัญหาเรื่องงาน รวมถึงการจัดการความเศร้าจากเผชิญหน้าหรือได้รับข่าวโศกนาฏกรรม

อีกทั้งยังเป็นทฤษฎีที่ถูกพูดถึงในสื่อบันเทิงที่เกี่ยวกับวงการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น “Grey's Anatomy” ซีรีส์ทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และ “House MD” ซีรีส์ทางการแพทย์ระดับตำนาน ก็มีพูดถึงทฤษฎีนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ยังเป็นที่ถกเถียงนักจิตวิทยาและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความโศกเศร้า โดยระบุว่า การรับมือกับความเสียใจของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และไม่ได้เรียงลำดับเป็นระยะตายตัว แต่อาจจะมีการสลับระยะ หรือย้อนกลับไปที่ระยะก่อนหน้า หรือข้ามระยะไปเลยก็ได้ แม้ว่าท้ายที่สุดจะไปสู่ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายด้วยกันทุกคนก็ตาม ซึ่งคิวเบลอร์-รอสส์เข้าใจในจุดนี้ดี จึงได้ระบุคำเตือนไว้ในหน้าแรกของหนังสือว่า

 

“แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระยะของความเสียใจ แต่คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจากความเศร้าโศก ทำได้แค่พูดว่า ช่วยฉันด้วย”

 

สำหรับ 5 ระยะของความเสียใจตามคำนิยามของ คิวเบลอร์-รอสส์ ที่ใช้อธิบายว่ามนุษย์มีระยะการรับยอมความจริงและอยู่กับความเสียใจได้อย่างไร มีดังนี้

 

  • ระยะแรก: ปฏิเสธ

เมื่อเราเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด สิ่งแรกที่มนุษย์ทำตามสัญชาตญาณ คือ การปฏิเสธความจริง เพื่อหลีกหนีความเจ็บปวด เพราะเรากำลังอยู่ในอาการช็อก ไม่สามารถรับมือได้ทัน ขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นกลไกปรกติที่แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่พร้อมรับมือ โดยอาจมาพร้อมกับการร้องไห้ฟูมฟาย โทษตัวเอง ไปจนถึงความรู้สึกเคียดแค้น

ดังนั้น การไม่ยอมรับความจริงหลังจากการสูญเสียจริงไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ และไม่จำเป็นฝืนตัวเอง คุณสามารถร้องไห้ได้ตามที่ต้องการ จนกว่าจะปรับตัวให้รับความเป็นจริงได้

  • ระยะที่ 2: โกรธเกรี้ยว

ความโกรธ เป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อเราพบกับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นความโกรธที่มีต่อคนที่จากไป ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เทพเจ้า ฟ้าดิน ความบังเอิญของจักรวาลที่ทำให้คุณต้องเผชิญสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หรือแม้กระทั่งโกรธตัวเองก็ตาม 

“การเกรี้ยวโกรธนั้นเป็นเหมือนบอดี้การ์ดของความเจ็บปวด เป็นอีกวิธีที่เราแสดงออกเมื่อรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งในระยะนี้ เราใช้ความโกรธเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้สูญเสียอะไรไป” เดวิด เคสเลอร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ grief.com และผู้แต่งหนังสือร่วมกับคิวเบลอร์-รอสส์ กล่าวกับสำนักข่าว CNN

นอกจากนี้ ความโกรธถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นฉากหน้าป้องกันความรู้สึกผิดในจิตใจ ทั้ง ๆ ที่บางทีเราเองก็รู้ว่าไม่มีใครผิดเลยก็ตาม เคสเลอร์แนะนำว่า หากต้องการจะเอาจะชนะความรู้สึกผิดและการกล่าวโทษคนอื่นไปเรื่อย ๆ คือ ต้องยอมรับในสัจธรรมของโลกให้ได้ว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนอยู่กับเราไปตลอดกาล” และปลดปล่อยความโกรธให้ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ กรีดร้องในรถ ต่อยกระสอบทราย หรือเปลี่ยนความโกรธให้เป็นพลังงานในการออกกำลังกาย

 

  • ระยะที่ 3: ต่อรอง

เมื่อความโกรธเริ่มจางหายไป ความรู้สึกผิดกลับเข้ามาแทนที่ เรามักจะย้อนหวนไปถึงเหตุการณ์ความสูญเสีย และคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะเลือกทำอย่างนั้น หรือไม่ทำอย่างนี้ รวมไปถึงการสวดมนต์อ้อนวอนตามความเชื่อ ยอมทำทุกอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงความจริงไม่ให้เกิดความเสียใจ และยื้อเวลาไม่ให้ต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดให้นานที่สุด

“เราคิดว่าเราต่อรองกับความเจ็บปวดได้ เราพร้อมทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสียครั้งนี้ หลายคนเข้าใจว่าระยะนี้จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับเรา บางครั้งอาจจะแค่ไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเราก็ผ่านมันไปได้แล้ว” เคสเลอร์กล่าว พร้อมย้ำว่า แม้จะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแล้ว แต่โลกก็ไม่ได้ใจดีกับเราทุกครั้ง สิ่งร้าย ๆ สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอ

 

  • ระยะที่ 4: ซึมเศร้า

ระยะนี้เป็นตอนที่เรารู้แล้วว่าไม่สามารถต่อรองกับความเจ็บปวดได้ เราจะกลับมาเผชิญหน้ากับความจริงอีกครั้ง แม้ว่าจะยังทำใจไม่ได้ก็ตาม เราจึงทำได้แต่เสียใจ เศร้าใจ ตรอมใจ จมอยู่กับความเศร้า มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้ 

ความเศร้า ส่งผลกระทบต่อแต่ละบุคคลในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเข้าสู่ระยะนี้ตั้งแต่ไม่กี่เดือนแรก หรือบางคนอาจจะจมอยู่กับความเศร้าหลังจากเผชิญหน้ากับความเศร้าเป็นปี เพราะบางคนหลอกตัวเองว่าคนที่เขารักนั้นไปเที่ยวพักผ่อนและจะหวนกลับมาหาในสักวันหนึ่ง แทนที่จะยอมรับความจริงว่าคนที่รักได้จากไปแล้ว

“บ่อยครั้งเราไม่ยอมรับความเศร้าเพราะมันเป็นการแสดงว่าคนที่เรารักได้จากไปแล้ว และจะไม่มีวันหวนกลับมาอีก” เชอร์รี คอร์เมียร์  นักจิตวิทยาระบุ

คอร์เมียร์กล่าวอีกว่า การรับมือกับความเศร้าสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งขอความช่วยเหลือจากเพื่อน คนในครอบครัว หรือกลุ่มช่วยเหลือความเศร้าโศก รวมถึงฝึกฝนการดูแลตัวเองเป็นประจำ และเมื่อสงสัยว่ามีอาการของโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาจิตแพทย์ทันที

 

  • ระยะที่ 5: ยอมรับความจริง

วันเวลาผ่านไป ความเศร้าเสียใจเริ่มเบาบางลง ถึงเวลาที่จะต้องยอมรับความจริงว่าเรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับความสูญเสีย คอร์เมียร์กล่าวว่า การยอมรับความจริงไม่ได้หมายความว่า เราโอเคกับความสูญเสียนั้น แต่หมายถึงการยอมรับความจริงในชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสีย

ขณะที่เคสเลอร์กล่าวว่า สำหรับเขาแล้ว เป้าหมายของความเศร้าโศกคือ การจดจำคนที่จากไปด้วยความรักมากกว่าความเจ็บปวด เราไม่จำเป็นต้องลืมเขา เพราะคนที่จากไปแล้วนั้นจะอยู่เพียงแค่ในความทรงจำของเราเท่านั้น ขอให้จดจำเขาให้ได้นานที่สุด นึกถึงแต่เรื่องดี ๆ ของเขา และสุขใจทุกครั้งที่คิดถึงกัน

 

ดังนั้น การมาถึงของระยะนี้จึงหมายถึง เรากำลังเยียวยาความเจ็บปวดที่กำลังเผชิญอยู่ เราจะสามารถค่อย ๆ มูฟออนได้ แน่นอนว่ามันยังอาจจะเจ็บปวดอยู่บ้าง สุดท้ายแล้ว วันเวลาจะช่วยเยียวยาจนกลับมาเป็นปรกติ และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มีความสุขได้มากขึ้น แม้จะไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนจะต้องใช้เวลานานเท่าใด แต่อย่างน้อยที่สุด หากฟันฝ่ามาได้ 4 ระยะ ก็เท่ากับเราเก่งมากแล้ว 


 

ที่มา: CNNGriefHealthline